Lifestyle

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศยึดคติความเชื่อความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ โดยจะจำลองโลกและจักรวาลบวงสรวงการยกเสาเอกปลายมีนาคม  แล้วเสร็จภายกันยายน60

     เผยความคืบหน้าพระเมรุมาศ จัดวางผังอาคารพระเมรุมาศในมณฑลพิธีท้องสนามหลวงรายงานต่อคณะกรรมการฯ แล้ว จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศยึดคติความเชื่อความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ โดยจะจำลองโลกและจักรวาล พร้อมแจงการปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน คาด 9 ก.พ.รองนายกฯ ลงพื้นที่ตรวจการดำเนินงานบริเวณท้องสนามหลวง บวงสรวงการยกเสาเอก ปลายมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 เปิดรับสมัครอาสาสมัครร่วมปฏิบัติงานจัดสร้างพระโกศจันทน์ และงานศิลปกรรมเครื่องประกอบพระเมรุมาศ ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 ล่าสุดมียอดสมัครแล้ว 228 คน 

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

   

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ         เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายอนันต์ ชูโชติอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า กรมศิลปากรได้ดำเนินการตามแผนที่คณะกรรมการเฝ้าจัดสร้างพระเมรุมาศ และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

    โดยมีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งกรมศิลปากรได้มีการจัดวางผังอาคาร พระเมรุมาศในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง การวางผังอาคารเชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาสนสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ ในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

      โดยการจัดดังกล่าวจะใช้พื้นที่ครึ่งหนึ่งของสนามหลวง แต่ไม่มีการรื้อสิ่งก่อสร้าง โดยแกนแนวทิศเหนือและทิศใต้เป็นแนวแกนเดียวกับรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แนวแกนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นแนวแกนเดียวกับพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร พระเมรุมาศมีการวางผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 50.49 เมตร พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด บนฐานชาลา 3 ชั้น ตรงกลางบุษบกประธานประดิษฐานพระจิตกาธาน พระเมรุมาศประดับด้วยเทวดาและสัตว์หิมพานต์ มีแนวความคิดในการตีความเชิงสัญลักษณ์ตามผังภูมิจักรวาล ตามปรัชญาและคติความเชื่อของไทย ซึ่งพระเมรุมาศครั้งนี้จะมีความสูงประมาณ 50 เมตร หรือเทียบเท่าตึก 30 กว่าชั้น โดยสมัยรัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 4 มีความสูงประมาณ 80เมตร และรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสให้มีความสูงลดลง

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

     ทั้งนี้ ภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีแนวคิดในการจัดภูมิทัศน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยการนำเสนอการจัดการพื้นที่ พืชพันธุ์ และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เนื่องมาจากพระราชดำริ พรรณไม้ภายนอกรั้วราชวัตรนำมาจากพรรณไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริต่างๆ เช่น พันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก ภายในรั้วราชวัตรวางแนวคิดในการเลือกพรรณไม้ที่สะท้อนถึงสรวงสวรรค์ตามคติโบราณและพรรณไม้สีเหลือง ขาว เพื่อสื่อถึงวันพระราชสมภพ ส่วนการปรับพื้นที่ อยู่ขั้นตอนการปรับหน้าดินให้อยู่ระดับเดียวกัน และความกังวลในเรื่องของบริเวณการเคลื่อนย้ายต้นมะขามนั้น เท่าที่ประเมินจะมีการเคลื่อนย้ายต้นมะขามประมาณ 50 ต้น โดยจะมีการทำพันธุกรรมต้นมะขามไว้หากการเคลื่อนย้ายส่งผลต่อต้นมะขาม

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

    อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า การจัดสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามคติความเชื่อ เรื่องความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ โดยจะจำลองโลกและจักรวาล ซึ่งเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ส่วนมากมักกล่าวตรงกันว่าถูกล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์และนทีสีทันดร ถ่ายทอดเป็นประติมากรรม โดยการจัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ โดยกลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ 1.เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ จำนวน 12 องค์ เชิญพุ่มโลหะ 4 องค์ เชิญฉัตร 8 องค์ 2.เทวดานั่งรอบพระเมรุมาศ จำนวน 56 องค์ เชิญฉัตร/บังแทรก 3.พระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม อย่างละ 1 องค์ รวมจำนวน 4 องค์ 4.ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ (ชั้นที่ 3) จำนวน 4 คู่ (8 ตัว) 4 ทิศ 5.ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ (ท้าวเวสสุวัณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก) 6. สัตว์มงคลประจำทิศ (ช้าง ม้า วัว สิงห์) ประดับทางขึ้นบันได (ชั้นที่ 1) ประจำทิศ ทิศละ 1 คู่ จำนวน 8 ตัว

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

    โดยดำเนินการตามขั้นตอน ได้แก่ ออกแบบลายเส้น ปั้นต้นแบบ ขยายแบบเท่าจริง ขึ้นโครงสร้างและผูกไม้ครอส ขึ้นดินโกลนหุ่น ปั้นกายวิภาค ใส่เครื่องประกอบ เก็บรายละเอียด ทำพิมพ์ หล่อชิ้นงาน ตกแต่ง ชิ้นงาน ลงพื้นและเขียนสี ลงสีทอง/ปิดทองคำเปลว ประดับแวว และติดตั้งประกอบพระเมรุมาศ

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

      สำหรับการดำเนินการประติมากรรมต่างๆ นั้น ได้มีการจัดทำลายเส้น และหุ่นแบบจำลองต่างๆ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต่างๆ ได้มีการรายงานให้คณะกรรมการรับทราบแล้ว นอกจากนั้นได้ให้ฝ่ายสิ่งปลูกสร้างในพระราชพิธีนำเสนอรูปแบบด้วยเทคโนโลยี พัฒนาในรูปแบบ 360 องศา และวันที่ 9 ก.พ.2560 ทางคณะกรรมการจะมีการประชุม และพล.อ.ธนะศักดิ์ลงพื้นที่บริเวณท้องสนามหลวงเพื่อดูความคืบหน้า และคาดว่าจะพิธีบวงสรวงการยกเสาเอก ประมาณปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน และจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

      อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 โดยเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ได้ดำเนินการกะเทาะกระจกบริเวณหน้ากระดานฐานล่าง พระมหาพิชัยราชรถ และถอดส่วนประกอบพระที่นั่งราเชนทรยาน เพื่อนำไปบูรณะฯ ยังสำนักช่างสิบหมู่ เจ้าหน้าที่กรมสรรพาวุธทหารบกดำเนินการถอดช่วงล่างราชรถน้อย 9784 และเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ถอดชิ้นส่วนบริเวณเกรินราชรถ ขนย้ายไปทำการบูรณะฯ ยังหน่วยงาน 

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

       ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ดังนี้ 1.เจ้าหน้าที่กลุ่มช่างแกะสลักและช่างไม้ประณีต ดำเนินการถอดเทพพนมชั้นเกริน พระมหาพิชัยราชรถ และดำเนินการปรับพื้นส่วนชั้นวางกระจังเจิม และชั้นเทพพนม ราชรถน้อย 9784 2.เจ้าหน้าที่กลุ่มช่างบุ ดำเนินการถอดเฟื่อง และยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตรราชรถ ราชรถน้อย 9782 และ 9783 3.เจ้าหน้าที่กลุ่มช่างปิดทองและประดับกระจก ดำเนินการกะเทาะกระจกที่ชำรุดโดยรอบและตัดกระจกเตรียมไว้สำหรับการประดับกระจกส่วนหน้ากระดานฐานล่าง พระมหาพิชัยราชรถ 4.เจ้าหน้าที่กลุ่มช่างแกะสลักและช่างไม้ประณีต ดำเนินการปรับพื้นและซ่อมแซมส่วนชั้นวางกระจังเจิม และชั้นเทพพนม ซ่อมแซมส่วนเกรินรถและท้ายเกริน แกะซ่อมลวดลายส่วนที่เลือนหายให้คมชัด และถอดพระวิสูตรทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนใหม่ ราชรถน้อย 9784 

จัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ

      สำหรับการรับสมัครอาสาสมัครร่วมปฏิบัติงานจัดสร้างพระโกศจันทน์ และงานศิลปกรรมเครื่องประกอบพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม จนถึงวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา มีผู้สมัครรวม 228 คน และยังเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 จากนั้นจะทำการคัดเลือกโดยทดสอบทักษะความสามารถด้านช่างฝีมือและสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกเข้าปฏิบัติงานร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ