Lifestyle

“ครูเชาว์ ครูข้างถนนพลิกชีวิตเด็กเร่ร่อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ครูเชาว์-เชาวลิต สาดสมัย” ครูอาสาศูนย์สร้างโอกาสสะพานพระราม 8 พ่อ หรือฮีโร่ ของเด็กเร่ร่อน โดยชุลีพร อร่ามเนตร

               ไม่มีใครเห็นคุณค่าของตัวเรา หากเราไม่เริ่มมองเห็นคุณค่าของตัวเอง

         หลายครั้งที่เราได้ยินประโยคเหล่านี้ เรามักจะตอบตัวเองว่า เราก็เห็นคุณค่าของตัวเองอยู่แล้ว จึงได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คุณภาพชีวิตของตัวเองดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น แต่ความพอเพียง และพอใจในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้นแตกต่างกันออกไป  

      “ครูเชาว์ นายเชาวลิต สาดสมัย พ่อ หรือฮีโร่ ของเด็กเร่ร่อนบริเวณชุมชนใต้สะพานพระราม 8 คุณค่าในตัวเองที่เขาค้นพบ ไม่ใช่เป็นการทำให้คุณภาพชีวิตของตัวเองดีขึ้นเท่านั้น แต่เขายังแบ่งปัน หยิบยื่นให้เด็กน้อย ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้พิการ และคนด้อยโอกาสในชุมชนอีกด้วย

“ครูเชาว์ ครูข้างถนนพลิกชีวิตเด็กเร่ร่อน

          ครูเชาว์ หรือพ่อเชาว์ ของเด็กเร่ร่อน ศูนย์สร้างโอกาสสะพานพระราม 8  อดีตเด็กบ้านราชาวดี (ชาย) ที่พยายามศึกษาเล่าเรียนจนจบปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความเชื่อว่า การศึกษาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนได้

          ครูเชาว์ ย้อนเล่าไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเลือกที่จะมาเป็นครูอาสาประจำศูนย์สร้างโอกาสสะพานพระราม 8 มายาวนานกว่า 10 ปี ว่า พิการแต่กำเนิด ไม่เคยบอกว่าตัวเองถูกทอดทิ้งแต่บอกตัวเองเสมอว่า พ่อแม่เขาไม่พร้อมที่จะมีเรา เมื่อเราไม่มีพ่อแม่ทางโรงพยาบาลก็ส่งเราเข้าสถานสงเคราะห์ ตอนเราอยู่ในบ้านราชาวดี ได้เห็นคนมาบริจาคสิ่งของมากมาย

       ซึ่งเห็นคนที่มาบริจาคของมากมาย ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่มีบางคนที่มาบริจาคและพูดว่า เด็กที่อยู่ในบ้านราชาวดี ไม่สามารถสร้างอนาคต มีอนาคตที่ดีได้ ต้องรอการช่วยเหลือจากผู้อื่น เมื่อได้ฟังก็เกิดความมุมานะ พยายาม และตั้งใจเรียนหนังสือ เพราะเราเชื่อว่าการเรียนจะช่วยยกระดับชีวิต มีโอกาสและสามารถทำสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้อื่นได้

“ครูเชาว์ ครูข้างถนนพลิกชีวิตเด็กเร่ร่อน

         “ครูเคยเป็นผู้รับ เป็นเด็กด้อยโอกาส  เป็นคนพิการ ซึ่งครูรู้ว่าคนกลุ่มนี้ต้องการอะไร เมื่อครูมีโอกาสก็อยากจะแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้อื่น พอทางกทม.เปิดรับครูอาสาศูนย์สร้างโอกาสสะพานพระราม 8  เห็นว่าเป็นงานที่ท้าทาย และช่วยเหลือ เป็นผู้ให้แก่คนอื่นได้ พอได้ลงมือทำตอนแรกที่ศูนย์ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีอะไรเลย แต่ครูยังมีสองมือ มีแรง ครูมองว่าถ้าเราลงมือทำจะเกิดประโยชน์อย่างแน่นอน”

         ตอนนี้ผ่านมา 10 ปี “ครูเชาว์ หรือพ่อเชาว์” ที่เด็กๆ คนในชุมชนเรียกนั้น เขาไม่เคยคาดหวังว่าจะได้รับการยกย่อง หรือค่าตอบแทนที่มากมาย สิ่งที่เขาอยากได้ คือ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และช่วยให้เด็กเร่ร่อน เด็กด้อยโอกาส คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ครูเชาว์ ครูข้างถนนพลิกชีวิตเด็กเร่ร่อน

         “หลายครั้งที่ครูถูกมองว่าไม่ใช่ครู มองว่าเป็นคนเก็บขยะ หรือลูกจ้างที่ทางศูนย์มาให้ทำงาน ซึ่งตอนแรกๆ ที่เข้าคนในชุมชน หรือแม้แต่เด็กเองก็ไม่ยอมรับ เขาไม่รู้ว่าครูเข้ามาทำไม ดังนั้น กว่าจะได้รับการยอมรับจากเด็กและคนในชุมชนต้องใช้เวลา แต่ครูไม่ย่อท้อ พยายามทำให้เขาเห็นว่าครูอยากเข้าไปช่วยเหลือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กจริงๆ โดยเริ่มจากพัฒนาศูนย์ให้กลายเป็นแหล่งพักพิงของชุมชน ซึ่งตอนนี้นอกจากมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการเสริมทักษะความรู้ พื้นฐานการใช้ชีวิต และมีการ้ลงพื้นที่ดูว่าครอบครัวไหน คนไหนต้องการความช่วยเหลืออะไร มีปัญหาอะไร ถ้าครูช่วยเหลือได้ ครูจะนำความช่วยเหลือไปให้ จนหลายครอบครัวได้รับการดูแลที่ดีขึ้น”

           หน้าที่ของศูนย์ ไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งเรียนรู้ มาทำการบ้าน ทำกิจกรรมของเด็กเร่ร่อน ประมาณ 80 คน เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งพังพิง กาย ใจ และช่วยเหลือด้านการเงิน แก้ปัญหาทุกเรื่องแก่ครอบครัว ทุกคนในชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ

      ครูเชาว์ เล่าต่อไปว่าโดย เด็กเร่ร่อนจริงๆ เขาไม่ได้ต้องการอะไรมาก นอกจากความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่มและคอยมีผู้ดูแล แนะนำสิ่งดีๆ ให้แก่เขา เพราะด้วยสภาพครอบครัวของพวกเขาไม่พร้อมในหลายเรื่อง

       ทั้งฐานะความเป็นอยู่ ความอบอุ่นในครอบครัว และมีปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด การลักขโมย ท้องไม่พร้อม  เป็นต้น  ปัจจุบันมีเด็กเร่ร่อนมากขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลา เด็กตามเพื่อน อยากได้อยากมีโดยไม่ได้ดูฐานะของตนเอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถ้าทุกคนเข้าใจความรู้สึกของเด็ก รับฟังปัญหา และรู้จักตนเอง ครอบครัวตัวเอง ที่สำคัญเห็นคุณค่าของการศึกษาจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้

“ครูเชาว์ ครูข้างถนนพลิกชีวิตเด็กเร่ร่อน

         เด็กเร่ร่อน ไม่มีการนอกข้างถนนเหมือนในอดีต เพราะพวกเขาสามารถเช่าบ้านอยู่วันละ 50-60 บาทได้ และเด็กเร่ร่อนในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะอายุ  9-12 ปี  พวกเขาไม่อยากอยู่บ้าน และไม่อยากไปโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนก็ไม่เข้าใจเด็ก การที่เด็กออกมาเร่ร่อนมากขึ้นและรู้จักการเช่าบ้านอยู่ เมื่อเขาหารายได้ไม่ได้ เขาก็ต้องลักขโมย หรือเข้าสู่วงจรยาเสพติดเป็นผู้เสพ ผู้ขาย และผู้ซื้อ

          “ทุกคนแม้จะเกิดมาไม่พร้อมกัน แต่สามารถทำชีวิตของตัวเองให้ดีได้ เพียงแต่เรารู้จักประมาณตน พอเพียง ครูใช้หลักพอเพียง และการเป็นผู้ปิดทองหลังพระ ตามที่พ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ทรงตรัสไว้ว่า การที่เราจะทำอะไรเพื่อเกิดประโยชน์แก่คนอื่น อย่าไปคิดว่าตัวเองจะได้อะไร และอย่ามองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ต้องมองว่าตัวเองมีคุณค่าใครจะว่าอะไรไม่ต้องไปสนใจ เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำดีกว่าคนอื่นอย่างไร สังคมไทยมองภาพลักษณ์ รูปลักษณ์ภายนอกเป็นหลัก เวลาทุกคนเห็นครูก็มักจะมองอย่างดูถูก แต่ครูกลับมองตัวเองและบอกว่า ครูหล่อ ครูพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ตัวเองเป็น และตัวเองทำอะไรเพื่อผู้อื่น ซึ่งทุกคนที่มาเป็นจิตอาสา ถือเป็นการทำดี และทำทานที่ยิ่งใหญ่”

“ครูเชาว์ ครูข้างถนนพลิกชีวิตเด็กเร่ร่อน

         ครูเชาว์ เชื่อเสมอว่า ทุกคนมีความดีติดตัว แม้จะเกิดในฐานะอย่างไรก็ตาม เพียงแต่สภาพแวดล้อม ทำให้ทุกคนแตกต่างกัน จึงฝากว่าอยากให้ทุกคนเรียนรู้การให้ ให้โดยไม่ต้องหวังอะไรตอบแทน อย่านึกถึงตัวเองมากเกินไป เพราะผลสุดท้ายถ้านึกถึงตนเอง จะทำให้ตัวเองไม่รู้จักความสุข  แต่การให้ก็ต้องดูด้วยว่าให้แล้วตัวเองรอดหรือไม่ ถ้ามีแล้วก็ควรจะแบ่งปัน หยิบยื่นให้ผู้อื่น

        “ครูรู้ว่าครูมาจากจุดไหน ฐานะอะไร ครูเกิดมาไม่มีอะไรพร้อม ติดลบตั้งแต่เล็ก แต่ครูโชคดีที่มีโอกาส และไม่ได้มีความอยากได้ อยากมี เพราะครูรู้ว่ามีไปมากๆ เวลาเสียชีวิตครูก็ไม่สามารถเอาไปได้ และครูถูกปลูกฝังมาให้ตัวเองรู้จักประมาณตน ไม่อยากได้อยากมี สิ่งของที่ครูมีจะเพื่อประโยชน์ มากกว่าเป็นการตอบสนองความอยากได้อย่างเดียว ครูอยากช่วยคนอื่นให้ได้มากที่สุด อยากแบ่งเบาปัญหาความทุกข์ให้ผู้อื่น เพราะครูได้ทำงาน รับฟังปัญหา และช่วยแก้ไข แม้เพียงได้คำว่าขอบคุณ รอยยิ้มทำให้ครูอิ่มใจ  มีความสุข”

“ครูเชาว์ ครูข้างถนนพลิกชีวิตเด็กเร่ร่อน

      ความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทว่าทุกคนสร้างสุขให้ตัวเองและผู้อื่นได้ “ครูเชาว์” ไม่ได้เพียงพยายามเข้าไปเติมเต็มชีวิตให้แก่ผู้อื่น ยังแบ่งปันทัศนคติ แรงบันดาลใจในการให้ผู้อื่นทำดีต่อกันอีกด้วย ครูปัท นางธัญณิชา ตุลธรธาดา ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน วัดดาวดึงษาราม เล่าว่าเธอเป็นครูเหมือนกัน แต่ก่อนหน้านี้ด้วยความที่เรามาจากครอบครัวที่พร้อม ฐานะไม่ได้ขัดสนอะไร เราใช้ของหรู

       โดยที่ไม่เคยสัมผัสว่ายังมีเด็กอีกมากที่ขาดโอกาส และพอเราได้มาเจอครูเชาว์ ครูช่วยเปลี่ยนความคิดเรามาก ทำให้เรารู้ว่าความสุขไม่ได้เกิดจากวัตถุ กระเป๋าราคาแพงๆที่เราใช้ แต่มันคือการแบ่งปัน การให้โดยที่ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน นอกจากความสุขใจ ดังนั้น ครูอยากฝากให้ทุกคน มีจิตอาสา รู้จักการให้ผู้อื่น โดยที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน 

       เด็กติดหรู ลืมดูฐานะของตัวเอง เห็นเพื่อนมีก็อยากมี ซึ่งเป็นปัญหาพบเจอเยอะมาก เพราะเด็กรุ่นใหม่อยากนอนห้องแอร์ ไม่อยากทำงานหนัก ส่วนเด็กผู้ชาย เข้าสู่วงจรธุรกิจมืด ยาเสพติด สังคมยังไม่ได้เปิดแสงสว่างให้แก่เด็กได้ ทั้งหมด  แต่พลังเล็กของครูทุกคนในชุมชนบริเวณใต้สะพานพระราม 8 ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะช่วยหล่อหลอมเด็กกลุ่มนี้ให้กลายเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป

“ครูเชาว์ ครูข้างถนนพลิกชีวิตเด็กเร่ร่อน   

        ภาพลักษณ์ภายนอกเป็นจุดแรกที่ทุกคนมองเห็น แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งการันตีว่า เขาหรือเธอคนนั้นจะเป็นคนดี เป็นผู้ให้ ครูเชาว์ อีกหนึ่งบุคคลต้นแบบที่ภายนอกครูอาจถูกมองว่าพิการ  แต่หัวใจของ “ครู”กลับหล่อมาก  

 

“ครูเชาว์ ครูข้างถนนพลิกชีวิตเด็กเร่ร่อน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ