Lifestyle

รายงานด่วนจากแอนตาร์กติกา!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทยร่วมสำรวจแอนตาร์กติกา หาความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่นี้กับศรีลังกาและออสเตรเลีย"ดร.ประหยัด"เผยเก็บตัวอย่างหินที่มีแร่ ชี้บอกเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาในอดีตได้ดี

          รายงานด่วนจากแอนตาร์กติกา ความคืบหน้าของการร่วมสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของ " ดร. ประหยัด นันทศีล"นักธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสาตร์ ม.เกษตร กับทีมสำรวจ  นักธรณีวิทยา ของ"ประเทศญี่ปุ่น-มองโกเลีย-ไทย-อินโดนีเซีย"  สำรวจแอนตาร์กติกาหาความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่นี้กับศรีลังกาและออสเตรเลีย จำนวนเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์เหล่านั้น

รายงานด่วนจากแอนตาร์กติกา!!  

ดร.ประหยัด  นันทศีล

     หลังจากออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ดร.ประหยัด นันทศีล นักธรณีวิทยาซึ่งเป็นอาจารย์ประจำที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สมทบกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของประเทศญี่ปุ่นรุ่นที่ 58 (58th Japanese Antarctic Research Expedition) หรือ JARE 58 ที่เมืองฟรีแมนเทิล ประเทศออสเตรเลีย และเรือชิราเสะได้ออกเดินทางจากท่าเรือฟรีแมนเทิลเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ในที่สุดก็เดินทางมาถึงสถานีวิจัยโชวะของประเทศญี่ปุ่น 

      จากนั้น ดร.ประหยัด นันทศีล และทีมวิจัยด้านธรณีวิทยาที่ประกอบด้วยนักธรณีวิทยาจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย มองโกเลีย และอินโดนิเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมความร่วมมือทางการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของเอเชีย (Asian Forum for Polar Sciences, AFOPS) ได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ถึง วันที่ 12 มกราคม 2560 โดยการเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์จากเรือชิราเสะไปยังพื้นที่เป้าหมายได้แก่ Akebono Rock ต่อด้วย Akarui Point และสิ้นสุดช่วงแรกที่ Tenmondai Rock ซึ่งพื้นที่ทั้งสามอยู่ใน Prince Olave Coast ทางด้านตะวันออกของสถานี โชวะ

      ล่าสุดเมิื่อวันที่ 16 มกราคม 2560  ดร.ประหยัด นันทศีล ส่งข้อความกลับมารายงานความคืบหน้าว่า การสำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามแผนที่วางไว้ทุกอย่าง  เพราะสภาพอากาศโดยทั่วไปดีมาก อากาศโดยส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วงประมาณ -4 ถึง 3 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเดียวในรอบปีของแอนตาร์กติกา ที่สภาพอากาศเหมาะสำหรับการสำรวจภาคสนามมากที่สุด ทั้งนี้ทวีปแอนตาร์กติกมีฤดูร้อนเพียงช่วงสั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 1-10 มกราคม ของทุกปีเท่านั้น ในการปฏิบัติงานภาคสนามครั้งนี้ ดร.ประหยัด นันทศีลและเพื่อนๆ นักธรณีจากประเทศต่างๆ พักค้างแรมในเต็นท์ตลอดช่วงของการสำรวจ และได้กลับมาพักผ่อนที่เรือชิราเสะ ซึ่งจอดห่างจากสถานีโชวะประมาณ 1 กิโลเมตร พร้อมกับเตรียมสัมภาระสำหรับการสำรวจในช่วงที่สอง ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของสถานีโชวะ ที่เรียกว่า Lützow-Holm Bay โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 12 วัน 

รายงานด่วนจากแอนตาร์กติกา!!

นักธรณีวิทยาสำรวจแอนตาร์กติกา

      ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศของแอนตาร์กติกาที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากนั้นจึงจะได้กลับมาพักผ่อนที่เรือชิราเสะอีกครั้งในวันที่ 27 มกราคม 2560 ซึ่ง ดร. ประหยัด นันทศีล จะรายงานมาให้ทราบในลำดับต่อไป

     สำหรับผลการสำรวจในช่วงแรกนั้น ดร.ประหยัด นันทศีล เปิดเผยว่า การสำรวจครั้งนี้ผมพบตัวอย่างหินแปร ที่ตรงตามความสนใจทุกประการครับ ซึ่งตัวอย่างหินที่แต่ละคนเก็บมานั้นอาจไม่เหมือนกันเลย หรือเหมือนกันบางส่วน เพราะแต่ละคนมีโจทย์วิจัยที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร

          อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลักของการศึกษาครั้งนี้ คือการคลี่คลายโจทย์ทางธรณีประวัติที่ยังคลุมเครือและเป็นประเด็นถกกันทางวิชาการอยู่ในขณะนี้ของพื้นที่ด้านตะวันออกของทวีปแอนตาร์กติก เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่นี้กับศรีลังกาและออสเตรเลีย จำนวนเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นต้น 

      "สำหรับผมแล้ว ผมเน้นเก็บตัวอย่างหินที่มีแร่ที่สามารถบอกเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาในอดีตได้ดี เพราะแร่บางชนิดทำหน้าที่เหมือนเครื่องบันทึกสภาวะอุณหภูมิและความดันได้ดี แร่บางชนิดเป็นเครื่องบันทึกเวลาที่จะบอกอายุได้ดี ขณะที่แร่บางชนิดก็ไม่ได้ทำหน้าที่เหล่านั้นครับ”ดร.ประหยัด กล่าว

       อนึ่ง สำหรับค่าใช้จ่ายในการสำรวจครั้งนี้  ทางสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งประเทศญี่ปุ่น (National Institute of Polar Research, Japan) หรือ NIPR เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดทั้งเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ภาคสนามค่าเดินทางและค่าขนส่งตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นไปยังประเทศไทย หรือมองโกเลียหรืออินโดนิเซียในลำดับต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ