Lifestyle

วิกฤตหนี้ครู! ...เปิดทางรอดด้วย “วิถีพอเพียง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิกฤตหนี้ครู! เปิดทางรอดด้วย “วิถีพอเพียง” 0 เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ รายงาน 0

      “หนี้สินของครู” ปัญหาที่สะสมเป็นดินพอกหางหมู ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของ “ครูไทย” สะดุด! บางรายมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ รายได้จากเงินเดือนถูกหักไปใช้ชำระหนี้ เหลือไม่พอที่จะเลี้ยงปากท้อง เมื่อท้องไม่อิ่ม..เงินไม่พอ แถมยังต้องพะวงกับการหาเงินเพื่อให้รอดพ้นบ่วงหนี้ที่ก่อขึ้น ทำให้ครูไม่มีกะจิตกะใจปฏิบัติหน้าที่ในการสอนหนังสือได้เต็มที่ สุดท้ายผลกระทบก็ไปตกที่เด็ก..
    งานวันครูแทบทุกปีที่ผ่านมา ข้อเสนอหนึ่งจากผู้แทนครู คือ ขอให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งแทบทุกรัฐบาลก็ใช้เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตครู โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เป็นนโยบายต้นๆ แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลใดที่จะแก้ไขได้อย่างแท้จริง..

วิกฤตหนี้ครู! ...เปิดทางรอดด้วย “วิถีพอเพียง”
    รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้คลอดโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ช่วยลดภาระหนี้สินครูในระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยนำเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ที่ทายาทจะได้รับเมื่อครูเสียชีวิตมาค้ำประกันกับธนาคารออมสิน หรือ รีไฟแนนซ์หนี้ ซึ่งธนาคารออมสินคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 4.00% ต่อปี ต่ำกว่าเงินกู้เดิมที่คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 5.85-6.70% ต่อปี แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขหนี้สินครูทั้งหมดได้
     ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) คิกออฟ โครงการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มที่มีหนี้สินวิกฤต โดยคัดเลือกครูที่เป็นหนี้วิกฤตสูง ถูกยื่นฟ้อง กำลังจะล้มละลายจังหวัดละ 10 คนรวม 770 คนมาเข้าโครงการนำร่องรวมหนี้สินที่ครูมีอยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งหมดเป็นก้อนเดียวกัน แล้วโอนหนี้มาไว้กับ สกสค. ซึ่ง สกสค.จะส่งเงินชำระหนี้ผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยครูต้องมาทำสัญญากู้เงินและผ่อนชำระที่สหกรณ์ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน ร้อยละ 3.5 ต่อปี บนเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมโครงการต้องไม่ก่อหนี้เพิ่ม ถูกขึ้นเครดิตบูโรกับ สกสค. ผู้บังคับบัญชาต้องเซ็นอนุมัติการกู้และต้องไม่ให้ครูที่ร่วมโครงการไปกู้ที่ไหนได้อีก

วิกฤตหนี้ครู! ...เปิดทางรอดด้วย “วิถีพอเพียง”

       ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.แจงที่มาที่ไปของโครงการว่า จากข้อมูลพบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นหนี้อยู่ประมาณ 1.4 ล้านคน เป็นหนี้เฉลี่ยรายละ 1.5-2 ล้านบาท มูลหนี้รวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท เฉพาะครูประจำการ ประมาณ 5 แสนคน มูลหนี้ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท แต่ในจำนวนนี้มีผู้กู้ที่มีหนี้สินขั้นวิกฤตปัญหาประมาณ 35,000 คน มูลหนี้ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มนำร่องกับครูประจำการและออกจากราชการ ซึ่งมีหนี้สินขั้นวิกฤต ประมาณ 30,000 คน มีหนี้เฉลี่ยรายละ 2-3 ล้านบาท โดยตั้งทุนประเดิมก้อนแรกไว้ 1,000 ล้านบาท และเมื่อมีเงินที่ครูผ่อนชำระหนี้หมุนเวียนกลับเข้ามาก็จะทยอยปล่อยกู้เพิ่มให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ
      “การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สกสค.ได้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ คือ ค่อยๆทำ เรียนรู้ และค่อยๆขยายผลเพื่อความยั่งยืน ซึ่งนอกจากนี้จะให้ครูปลดหนี้เดิมแล้ว จะมีการอบรมเศรษฐกิจพอเพียง แปลงปัญญาเป็นสินทรัพย์ เพื่อเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้โดยพัฒนาต่อยอดความรู้ ความสามารถที่มี เช่น ครูมีที่ดินก็ทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือ การติดตั้งแผงโซลาเซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ ” ดร.พิษณุ ระบุ

วิกฤตหนี้ครู! ...เปิดทางรอดด้วย “วิถีพอเพียง”
      จุดเด่นของการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูขั้นวิกฤตหนนี้ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดทำงบกระแสเงินรายบุคคลให้ครูได้มองเห็นภาพรวมทั้งหมดของตนเองผ่านหน้าจอว่า เป็นหนี้กับใครบ้าง ยอดหนี้เท่าไร มีภาระค่าใช้ในชีวิตประจำวัน ค่าใช้ของครอบครัวเท่าไร เมื่อรวมหนี้ทั้งหมดเข้าด้วยกันและผ่อนชำระอย่างมีวินัย ไม่ก่อหนี้ใหม่จะใช้เวลาปลดหนี้ได้ในระยะเวลากี่ปี โดยสกสค.ได้ตั้งทีมที่ปรึกษาทางการเงิน ประจำในสกสค.จังหวัดแล้วใน 70 จังหวัด คอยให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงิน ตลอดจนสร้างรายได้เพิ่ม เรียกว่าเป็นแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยหลักการ “ระเบิดจากข้างใน-เข้าถึง-เข้าใจ-ร่วมพัฒนา”
     ดร.พิษณุ ยังบอกด้วยว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในภาพใหญ่ เร็วๆ นี้ จะมีการเสนอแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู อย่างเป็นระบบให้ ศธ.พิจารณา โดยเบื้องต้นมี 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์แรก แก้ปัญหาหนี้สินกลุ่มวิกฤต ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างภูมิคุ้มกันหนี้สินครูทั้งระบบอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 3 ปรับปัจจัยและโครงสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งหัวใจสำคัญภายใต้กรอบยุทธศาสตร์นี้ คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของครู ด้วยการคืนโอกาส สร้างคุณภาพชีวิตครู สู่วิถีพอเพียง

วิกฤตหนี้ครู! ...เปิดทางรอดด้วย “วิถีพอเพียง”

 คุณครูสุนันท์  ล่ำทรัพย์

       ฟากอดีตข้าราชการครู สุนันท์ ล่ำทรัพย์ อายุ 59 ปี จ.ตรัง สะท้อนความรู้สึกว่า ตนยื่นเออร์ลี่รีไทม์มาได้ประมาณ 4-5 ปีแล้ว ที่ตัดสินใจยื่นเพราะตอนนั้นมีภาระหนี้สินมาก ลำพังเงินเดือนที่ได้รับเมื่อหักชำระหนี้ก็เหลือไม่เพียงพอใช้จ่ายในครอบครัว เกิดความเครียด สอนหนังสือได้ไม่เต็มที่ ซึ่งได้เงินจากเออร์ลี่ฯมาประมาณ 1 ล้านกว่าบาท แต่ก็ใช้หนี้ได้เพียงบางส่วน ขณะที่ปัจจุบันก็ยังเหลือหนี้ที่ต้องชำระอีกประมาณ 2.5 ล้านบาท สาเหตุที่มีหนี้มากขนาดนี้ส่วนหนึ่งเพราะการบริหารหนี้ไม่เป็นระบบ กู้เงินจากอีกแหล่งหนึ่งเพื่อโปะอีกแหล่งหนึ่ง ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแต่ละเดือนค่อนข้างมาก แม้จะชำระหนี้ทุกเดือนแต่ก็เหมือนแค่จ่ายดอกเบี้ยไม่ได้ตัดต้น เพราะฉะนั้น ส่วนตัวพอใจกับแนวทางที่ สกสค.วางแผนดำเนินการ เชื่อว่าครูหลายคนที่ประสบปัญหาแบบนี้ยินดีเข้าร่วม เพราะเป็นวิธีการปลดหนี้ที่มองเห็นผลชัดเจน
     “ทุกวันนี้รู้ซึ้งกับตัวเองว่าการมีหนี้จำนวนมาก และไม่สามารถชดใช้ได้หมดเสียทีหนักหนากับชีวิตแค่ไหน จึงปรับเปลี่ยนตนเองดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมให้ทุกคนต้องตระหนักและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตด้วย” นายสุนันท์ ระบุ
       ความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ คงทำได้แค่เพียงภาระหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ระดับหนึ่ง แต่ระยะยาวคนที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ได้ก็ไม่พ้นครูเองต้องมีวินัยและใช้ชีวิตบนวิถีความพอเพียง

0 เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ รายงาน 0

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ