Lifestyle

เมื่อการศึกษาไทยเป็นได้แค่2.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตอนนี้ทิศทางการศึกษาทั่วโลก เป็นการเรียนการสอนที่จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนทำงานเป็น มีรายได้  เน้น ใครเก่งอะไร ก็ให้เรียน ทำอย่างนั้น ไม่ได้เน้นสอนให้คนเหมือนกัน

          การปฏิรูปการศึกษาไทย คงจะหยุดไม่ได้ ด้วยเหตุที่หากปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ เรื่องอื่นๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ สังคม จะดีขึ้นตามลำดับ   ตามนโยบาย Thailand 4.0 โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี” การศึกษาไทยต้องพัฒนาสู่ Thailand 4.0  กระทรวงศึกษาธิการ 4.0 และมหาวิทยาลัย 4.0 แต่ในทางปฏิบัติก้าวถึง 4.0 จริงหรือ?

       ดร.สุพจน์ หารหนองบัว  ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์การศึกษาไทยไว้ว่า  การเรียนการสอนของประเทศไทยยังเป็น 1.0 ขณะที่การศึกษาของประเทศไทยปัจจุบันส่วนใหญ่ทำได้เพียง 2.0 เท่านั้น

       เมื่อการศึกษาไทยเป็นได้แค่2.0

    ดร.สุพจน์ หารหนองบัว 

  “การศึกษาไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ในกลุ่มประเทศอาเซี่ยน” เป็นหนึ่งในข้อมูลที่ชี้ชัดว่า การศึกษาของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งหมายถึงคุณภาพของคนวิกฤติ และหมายถึงประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ซึ่งที่ผลออกมาเช่นนี้เพราะ ในการทดสอบวัดคุณภาพการศึกษา เขาวัดกันด้วยการศึกษา 4.0 แต่การเรียนการสอนของประเทศไทยยังเป็นการศึกษา 1.0 ในขณะที่การศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ทำได้แค่เพียง 2.0 เท่านั้น"ดร.สุพจน์ กล่าว 

เมื่อการศึกษาไทยเป็นได้แค่2.0

          พร้อมกับอธิบายการศึกษาจาก 1.0 ถึง 4.0 เป็นลำดับคือ 1.0-ครูเป็นผู้ป้อนความรู้ 2.0-ผู้เรียนหาความรู้เองจากสื่อออนไลน์ได้ 3.0-ผู้เรียนสร้างความรู้ได้ 4.0–ผู้เรียนสร้างนวัตกรรมได้ โดยคำว่าสร้างนวัตกรรมครอบคลุมตั้งแต่การนำความรู้จากชั้นเรียนไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ไปช่วยชุมชน ช่วยสังคม รวมไปถึงการนำความรู้ไปสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้      

 

เมื่อการศึกษาไทยเป็นได้แค่2.0

        ทั้งนี้ ปิรามิดการเรียนรู้ (Learning Pyramid) ที่นักการศึกษาทั่วโลกยอมรับและเป็นสิ่งหลายประเทศนำไปปรับใช้ โดยการวัดผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาจากความรู้ที่เหลืออยู่กับผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้ว ซึ่งพบว่า การเรียนที่ให้ครูเป็นผู้ป้อนความรู้นั้น มีความรู้เหลือติดตัวผู้เรียนไปเพียง 5% ถ้าผู้เรียนอ่านเพิ่มเติมจะได้ความรู้ติดตัวไป 10% ถ้าป้อนแล้วมีภาพประกอบก็จะเพิ่มช่องทางการเข้าใจ ความรู้ที่ติดตัวไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% และถ้าครูจัดให้มีการสาธิตประกอบจะทำไห้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเป็น 30%

เมื่อการศึกษาไทยเป็นได้แค่2.0

      แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังถือว่าผู้เรียนเป็นเพียงผู้เสพความรู้ โดยดร.สุพจน์ ได้อ้างที่มา: ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช ) หรืออีกนัยหนึ่งอาจเรียกการเรียนรู้แบบนี้ซึ่งก็ยังเป็นการป้อนความรู้ว่า เป็นแบบจากข้างนอกสู่ข้างใน (Outside in) ซึ่งผลที่ได้ก็คือนกแก้ว-นกขุนทอง

     ทั้งนี้เขาได้อธิบายรูปแบบการศึกษา 3.0  โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 3/1-จัดให้มีการถกเถียง 3/2-ให้ลงมือปฏิบัติ 3/3-ให้สอนผู้อื่น ซึ่งมีผลการวิจัยยืนยันว่า นอกจากจะทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้เองได้แล้ว ยังเหลือความรู้ติดตัวไปกับผู้เรียนถึง 50% 70% และ 90% ตามลำดับเลยที่เดียว 

      โดยในระดับที่ 1 ซึ่งได้แก่การจัดให้มีการถกเถียง (Debate หรือ Discussion) กันด้วยข้อมูลนั้น ผู้สอนมีหน้าที่ตั้งคำถามที่มีมุมมองในหลายมิติ จัดแบ่งผู้เรียนให้เป็นกลุ่ม ๆ ให้มีการถกเถียงกันด้วยข้อมูลภายในกลุ่ม แล้วนำผลสรุปในแต่ละกลุ่มมานำเสนอและให้ถกเถียงหรือโต้แย้งกันข้ามกลุ่ม หรือแม้แต่ให้เกิดการถกกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน

     โดยในการหาข้อมูลสามารถเปิดกว้างให้ค้นหาผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนตัวหรือแม้กระทั่งผ่านมือถือ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทักษะด้านสารสนเทศเพื่อให้สามารถค้นหาความรู้ด้วยตนเองซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของเยาวชนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21

เมื่อการศึกษาไทยเป็นได้แค่2.0

        การศึกษา 3.0 ในระดับที่ 2 ที่อยู่ที่ฐานปิรามิด ได้แก่ การให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ (Practice) หรือทำการทดลองด้วยตนเอง ซึ่งผลการวิจัยระบุว่า ความรู้จะเหลืออยู่ที่ผู้เรียนถึง 70% และสุดยอดของการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ตามแนวทางของการศึกษา 3.0 คือ การให้ผู้เรียนสอนผู้อื่น (Teach other) หรือติวให้กับเพื่อนหรือการนำเสนอหน้าชั้นเรียน เพราะก่อนที่จะนำเสนอหรือสอนผู้อื่นได้ ผู้เรียนต้องศึกษาให้เข้าใจ ต้องตกผลึกความรู้ ต้องสรุปประเด็น จัดหมวดหมู่ข้อมูลและนำเสนออย่างเป็นระบบ ซึ่งการสอนผู้อื่นโดยการนำความรู้ไปใช้ทันที (Immediate use) นี้ ผลการวิจัยระบุว่า ผู้เรียนจะเก็บความรู้ติดตัวไปได้ถึง 90%

เมื่อการศึกษาไทยเป็นได้แค่2.0

      "จะเห็นว่าทั้งใน 3 ระดับของการศึกษา 3.0 นั้น ตลอดระยะเวลาในชั้นเรียน ผู้เรียนจะทำหน้าที่สร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิด การค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาถกเถียง การแก้ปัญหาในการลงมือปฏิบัติ รวมไปถึงการสรุปข้อมูลเพื่อนำไปเสนอหรือนำไปสอนผู้อื่น วิธีการเรียนรู้รูปแบบนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ชนิดจากข้างในสู่ข้างนอก (Inside out) ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ จะทำให้ผู้เรียนอยากรู้อยากเห็น ทำให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง และในที่สุดก็จะออกมาเป็นแรงบันดาลใจ (inspiration) นำไปสู่การค้นพบตัวเอง" ดร.สุพจน์ กล่าว

        ทั้งนี้การที่ผู้เรียนต้องคิด ต้องแก้ปํญหาตลอดกระบวนการที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนนั้น ถือเป็นกระบวนการฝึกฝนเพื่อให้คิดหลุดกรอบหรือคิดนอกกรอบ ซึ่งเป็นต้นทางของการคิดสร้างสรรค์ และต้นทางของคำว่า นวัตกรรม ซึ่งหมายถึง สิ่งที่แตกต่างและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ การแก้ปัญหาชุมชนหรือการสร้างมูลค่าในทางธุรกิจต่อไป

        ดร.สุพจน์ กล่าวต่อว่ามาถึงการศึกษา 4.0 ซึ่งเป็นรูปแบบที่นักการศึกษาทั้งโลกต่างให้ความสำคัญ โดยหวังว่าผู้เรียนต้องสามารถ “สร้างนวัตกรรมได้” โดยแนวทางของการศึกษา 4.0 คือ ไม่แยกการศึกษาออกจากชุมชน นั่นคือ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน โดย การเรียนในชั้นเรียนยังคงเน้นที่การศึกษา 3.0 คือ จัดให้มีการ “แบ่งกลุ่มถกเถียง ลงมือปฏิบัติ และให้สอนผู้อื่นหรือนำเสนอหน้าชั้นเรียน” ซึ่งเป็นกลไกที่จะนำไปสู่การคิดนอกกรอบและการคิดสร้างสรรค์ดังที่กล่าวมาแล้ว 

เมื่อการศึกษาไทยเป็นได้แค่2.0

        ส่วนการเรียนรู้นอกชั้นเรียนนั้น หมายถึง ให้ผู้เรียนได้ออกปฏิบัติงานจริงในชุมชน ในภาคอุตสาหกรรมและในสถานประกอบการ เพื่อนำความรู้ในชั้นเรียนไปผูกโยงเข้ากับชีวิตจริง และนำสิ่งที่เห็นในชีวิตจริงกลับไปคุยกันในชั้นเรียน เพื่อย้อนกับไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน นำไปช่วยชุมชน ช่วยสังคม รวมไปถึงการนำความรู้ไปสร้างมูลค่าทางธุรกิจต่อไป

      แนวทางการปฏิรูปการศึกษา “ให้เด็กที่เรียนเก่ง สอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า” ซึ่งเป็นส่วนของการศึกษาในชั้นเรียน ซึ่งเป็นการศึกษาที่ยิ่งกว่าการศึกษา 4.0 เพราะนอกจากจะเป็นวิธีที่จะทำให้ความรู้เหลือติดตัวผู้เรียนไปมากกว่า 90% ตามปิรามิดการเรียนรู้และไม่แยกโรงเรียนออกจากชุมชนแล้ว ยังจะก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งถือได้ว่าเป็นทฤษฎีหรือปรัชญาที่มีความยิ่งใหญ่และสำคัญต่อประชาชนชาวไทยและต่อประชาคมโลก

        “ทว่าในความเป็นจริงของสังคมไทย จะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ในขณะการเรียนการสอนส่วนใหญ่ เราจะเป็นเพียง 2.0 เสียสวนใหญ่ ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องมาช่วยกันอย่างจริงจังแท้จริงเพื่อช่วยให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมแห่ง 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ยากเกินความเป็นจริง” ดร.สุพจน์ กล่าวทิ้งท้าย 

         0 หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ [email protected] 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ