Lifestyle

พรบ.สถานพยาบลใหม่คุมเข้มรพ.รัฐ-เอกชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กฎหมายสถานพยาบาลใหม่บังคับใช้ ควบคุมทั้งของรัฐ-เอกชน ห้ามโฆษณาเกินจริง ต้องแสดงราคายาเวชภัณฑ์-ค่ารักษา ระบุมุ่งรองรับรพ.รัฐรูปแบบใหม่ร่วมทุนกับเอกชนในอนาคต

      

          นพ.ธงชัย  กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ.2559 ฉบับที่มีการปรับปรุงใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 โดยเนื้อหาสาระสำคัญที่แตกต่างจากพรบ.สถานพยาบาลฉบับเดิม ได้แก่ 1.สถานพยาบาลทุกแห่งจะต้องประกาศอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆ ขณะที่ฉบับเดิมแสดงเพียงแค่ค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น 2. สถานพยาบาลของรัฐไม่ว่าจะอยู่ในสังกัดใดต้องมีการประกาศมาตรฐาน ซึ่งเดิมกำหนดให้ดำเนินการเฉพาะรพ.เอกชนเท่านั้น โดยจะต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น มีเครื่องมือชนิดไหนบ้าง เป็นต้น

            รองอธิบดีกรมสบส. กล่าวอีกว่า และ3.สถานพยาบาลต้องไม่มีการโฆษณาเกินจริง และหากต้องโฆษณาหรือประกาศใดๆเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล ต้องได้รับอนุมัติข้อความ เสียง หรือภาพที่ใช้ในการโฆษณาหรือประกาศจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  ซึ่งเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ในการโฆษณาของสถานพยาบาลจะต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะโฆษณาได้ เป็นการควบคุมและป้องกันการโฆษณาตั้งแต่เริ่ม จะไม่เป็นการมาจับกุมการกระทำผิดในเรื่องโฆษณาภายหลังจากมีการโฆษณาออกไปแล้วเหมือนอย่างปัจจุบัน  เพราะเป็นการควบคุมการโฆษณาตั้งแต่ก่อนที่จะทำการโฆษณา 

            นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า  การที่ต้องปรับปรุงและออกกฎหมายสถานพยาบาลฉบับใหม่ให้ครอบคลุมการบังคับใช้กับสถานพยาบาลของรัฐด้วยไม่เฉพาะเอกชนเท่านั้น เพราะปัจจุบันสถานพยาบาลของรัฐไม่ได้มีเฉพาะที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่มีสถานพยาบาลของรัฐบาลรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้น  อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ก็มีการสร้างสถานพยาบาลในสังกัดเช่นกันแต่เป็นการจ้างให้ภาคเอกชนเป็นผู้บริหาร เหมือนที่จ.ภูเก็ต เมื่อเป็นเช่นนี้การดำเนินการก็จะมุ่งผลกำไรขาดทุนแบบเอกชน อาจมีการลดต้นทุนลงมากจนกระทบกับมาตรฐานสถานพยาบาล

        “เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐาน ซึ่งการออกกฎหมายใหม่ก็มุ่งที่จะควบคุมดูแลสถานพยาบาลภาคเอกชนและภาครัฐที่เป็นรูปแบบสถานพยาบาลใหม่ๆที่เป็นการ่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนและเป็นแนวโน้มที่จะเป็นไปในอนาคตที่จะมีการร่วมทุนสภชถานพยาบาลกันเช่นนี้ด้วย ส่วนรพ.รัฐเดิมที่ดำเนินการโดยรัฐเป็นหลักไม่ได้มองเรื่องกำไรขาดทุน ก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากพรบ.ใหม่นี้  แต่จะมีการควบคุมเรื่องมาตรฐานขั้นต่ำ เพื่อที่หากพบว่าที่ไหนขาดเครื่องมือพื้นฐานชนิดไหนจะได้จัดสรรงบฯลงไปให้ก่อน” นพ.ธงชัยกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ