Lifestyle

กรมอนามัยแนะวิธีกำจัดสิ่งปฏิกูลพื้นที่น้ำท่วม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมอนามัย แนะประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ จัดการสิ่งปฏิกูลด้วยวิธีง่ายๆ ลดปัญหาโรคระบบทางเดินอาหารและโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ

 

           นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการจัดการสิ่งปฏิกูลในบ้านช่วงน้ำท่วม เพื่อลดปัญหาโรคระบบทางเดินอาหารในช่วงน้ำท่วม ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ในภาคใต้กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม และได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ประชาชนต้องอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และเครื่องยังชีพต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขับถ่ายอุจจาระและการทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลเหล่านี้มีเชื้อโรค     ปะปนอยู่ ถ้าทิ้งมากับน้ำจะทำให้เสี่ยงเกิดโรคติดต่อ ขณะเดียวกันหากประชาชนนำน้ำที่ท่วมขังมาล้างอาหาร จานชามหรืออุปกรณ์ ประกอบอาหาร เชื้อโรค  จะเข้าสู่ร่างกาย ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร อาทิ โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ เป็นต้น

           นพ.ดนัย กล่าวต่อไปว่า วิธีป้องกันตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากโรคระบบทางเดินอาหารในช่วงน้ำท่วม คือลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากอุจจาระและขยะด้วยการขับถ่ายในห้องส้วมที่ยังสามารถใช้การได้ ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ห้องส้วมได้ขอให้ประชาชนขับถ่ายอุจจาระในถุง ถ้ามีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อให้ใส่ลงในถุงอุจจาระก่อนแล้วปิดปากถุงให้แน่น หรือถ้าไม่มีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อหลังถ่ายอุจจาระเสร็จให้รัดปากถุงให้แน่นแล้วรวบรวมส่งให้ทางการนำไปกำจัดต่อไป สำหรับขยะภายในบ้านก็ให้เก็บรวบรวมใส่ถุงแล้วผูกปากถุงให้แน่น แล้วรวบรวมส่งให้ทางการนำไปกำจัดต่อไปเช่นกัน ซึ่งประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือไม่ถ่ายอุจจาระและทิ้งขยะลงไปในน้ำ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคอุจจาระร่วง

           “สำหรับประชาชนที่มีความจำเป็นต้องนำน้ำที่ท่วมขังมาอุปโภคบริโภคนั้น ก่อนนำน้ำมาใช้ควรตักใส่ภาชนะ ถ้าน้ำขุ่นให้ช้สารส้มชนิดก้อน กวนในน้ำ สังเกตตะกอนในน้ำเริ่มจับตัวนำสารส้มออก ใช้มือกวนน้ำต่อ  1-2 นาทีทิ้งไว้จนตกตะกอนที่ได้มาใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ใส่คลอรีนชนิดผง ½ ช้อนชาในน้ำ 1 แก้ว คนให้    เข้ากันรินเฉพาะส่วนที่ใสผสมในอัตราส่วน ต่อน้ำ 10 ลิตร ทิ้งไว้ 30 นาทีเพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำและส่วนที่หลงเหลืออยู่สลายตัวไป ในกรณีที่จะนำน้ำมาดื่มต้องต้มให้เดือดก่อน หรือหากต้องการฆ่าเชื้อโรคในภาชนะอุปกรณ์ประกอบอาหาร เช่น จาน ชาม หม้อ กระทะให้ใช้คลอรีน 1 ช้อนชา (ผสมกับน้ำ 1 แก้ว รินเฉพาะส่วนที่ใส) ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่นาน 2 นาที ก่อนที่จะนำภาชนะเหล่านั้นมาใช้อย่างปลอดภัยเพื่อความสะดวกกรมอนามัยได้ผลิตคลอรีนชนิดน้ำ 2 เปอร์เซ็นต์ (หยดทิพย์) ใช้หยดลงในน้ำ สำหรับดื่ม 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตรทิ้งไว้ 30 นาที” นพ.ดนัย กล่าว

           รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า สิ่งของบริจาคที่มีผู้บริจาคไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง ก่อนจะบริโภคควรสังเกตวันหมดอายุ หรือดูสภาพ สี กลิ่น    และภาชนะบรรจุของน้ำดื่มและอาหารนั้นๆ ก่อนบริโภค โดยในพื้นที่ที่สามารถปรุงประกอบอาหารได้ ก็ควรนำมาอุ่นให้ร้อนหรือผ่านการปรุงสุกเสียก่อน  เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อบริโภคเข้าไปจะไม่ทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือเกิดโรคที่ เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหาร และหากยังสามารถใช้น้ำประปาได้ ควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังการใช้ส้วม

 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ