Lifestyle

ศธ.ขู่ใช้วุฒิปลอมมีโทษอาญาไม่มียอมความ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศธ.ประสาน ดีอี หาต้นตอเพจทำวุฒิปลอม ล่าสุดปิดเพจแล้ว “ชัยพฤกษ์” เตือนนักเรียน นักศึกษาอย่าหลง ขู่ใช้วุฒิปลอมมีโทษอาญา คุก 6 ด.-5 ปี ปรับ 1 พัน-1 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ปรากฎเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ “วุฒิการศึกษาทุกระดับชั้นราคาถูก” รับจ้างทำวุฒิการศึกษาปลอม มีผู้กดติดตามกว่า 6,000 คน โดยเปิดรับทำวุฒิปลอมตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 3 ไปจนถึงระดับปริญญาโท ราคาเริ่มต้นที่ 2,500-7,000 บาทนั้น โดยรับประกันความปลอดภัยว่าวุฒิการศึกษาดังกล่าวสามารถใช้ได้จริง เนียนจริงเหมือนหน่วยงานในองค์กรนั้นๆเป็นผู้ออกเอง และระบุจุดประสงค์ที่ทำเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ขาดวุฒิการศึกษาในการสมัครงาน แก้เกรดติด 0,ร,มส. เท่านั้น มีบริการส่งฟรี อีเอ็มเอส ผ่านทางไปรษณีย์ไทย ซึ่งการสมัครต้องส่งเอกสารประกอบ คือ สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชน นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่น กดแชร์ ลุ้นรับวุฒิป.ตรีมูลค่า 5,000 บาท โดยในสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลของเพจดังกล่าวและมีการวิพากษ์ วิจารณ์อย่างมาก ซึ่งล่าสุดเพจทำวุฒิฯ ดังกล่าวได้ปิดตัวไปแล้ว

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ศธ.ได้ประสานไปยัง น.ส.วิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ขอให้ช่วยตรวจสอบหาตัวผู้จัดทำเพจรับจัดทำวุฒิการศึกษาปลอม ซึ่งขณะนี้เพจดังกล่าวได้ปิดตัวไปแล้ว เบื้องต้นทางดีอี รับจะไปดำเนินการตรวจสอบหาผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ศธ.ได้ติดตามและตรวจสอบเรื่องนี้มาโดยตลอด และได้ดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำวุฒิการศึกษาปลอมมีออกมาอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อจัดการไปก็จะมีการเปิดขึ้นมาใหม่อีก

“ที่ผ่านมาจะพบกรณีเพจรับจ้างทำวุฒิฯปลอมลักษณะนี้ เปิดตัวและปิดตัวสลับกันไปเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยืนยันได้ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายหลอกลวง เอาเงิน เอาผลประโยชน์ จึงขอฝากไปยังนักเรียน นักศึกษาอย่าหลงเชื่อ เพราะจะเสียเงินฟรี ได้มาแค่แผ่นกระดาษ ซึ่งคนที่นำวุฒิการศึกษาปลอมนี้ไปใช้สมัครเรียน หรือสมัครงาน นั้นมีความผิดทางอาญาฐานใช้เอกสารปลอม ไม่ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ไปจนถึง 5 ปี หรือมีโทษปรับตั้งแต่  1,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ศธ.ได้ทำโครงการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบ โดยมีการทำข้อมูลสารสนเทศของนักเรียนทุกคน ซึ่งจะทำให้ทุกสังกัดมีข้อมูลเชื่อมโยงกัน หากใครนำวุฒิการศึกษาปลอมมาใช้สามารถตรวจสอบได้ทันที

ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่น่าเป็นกังวล คือ สถานศึกษาที่เปิดหลักสูตรเทียบโอนประสบการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษายอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แต่ก็พบว่ามีบางแห่งจัดกาเรียนการสอนน้อยกว่าโครงสร้างเวลาเรียนปกติ เพราะฉะนั้น ฝากเตือนนักเรียน นักศึกษาให้ตรวจสอบระบบการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาเหล่านั้นให้รอบคอบ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ