Lifestyle

มาตรการให้รางวัลกระตุ้นมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น แต่ไม่ยั่งยืน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชี้มาตรการให้รางวัล ช่วยกระตุ้นคนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น แต่ไม่ยั่งยืน งานวิจัยพบเด็ก 2 ใน 3 เดินเป็นวงกลมในบ้านแล้วก็นอน ขณะที่ผู้ใหญ่เลิกเดินเมื่อไร้รางวัล

      จากกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  กำหนดให้ช่วงเวลา 15:00 น. ถึง 16:30 น. ทุกๆวันพุธของทำเนียบรัฐบาลและส่วนราชการต่างๆเป็นช่วงเวลาการออกกำลังกายของข้าราชการ ทั้งนี้ ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) หรือ ISPAH 2016 Congressที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ  มีการนำเสนองานวิจัยเพื่อเสนอแนวทางในการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น

           ดร.อิริค ฟินเกลสตีน นักวิชาการโรงเรียนแพทย์ดุ๊ค-เอ็นยูเอส ประเทศสิงคโปร์ กล่าวถึงเรื่อง   หลักฐานทางเศรษฐศาสตร์ และพฤติกรรมการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ภายในการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) หรือ ISPAH 2016 Congressว่า  นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมมนุษย์ จะมองเรื่องการให้รางวัลและการลงโทษในการส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรม ซึ่งจากการศึกษาในประเทศสิงคโปร์  เรื่อง การให้เด็กมีกิจกรรมทางกายมากขึ้นทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน ด้วยการให้รางวัลเป็นเช็คของขวัญมูลค่า 30 เหรียญต่อเดือนทุกเดือน เพื่อใช้เลือกซื้อของเล่นหากเด็กมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอทั้งในบ้านและนอกบ้าน คือ เดินได้อย่างน้อย 8,000 ก้าวต่อวัน  

            ผลปรากฏว่า สามารถกระตุ้นให้เด็กมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น และใช้เวลาในช่วงหยุดเสาร์-อาทิตย์กับการทำกิจกรรมทางกายนอกบ้าน แต่พบว่า เด็ก 22 % จะได้รับเงินส่วนนี้แบบง่ายดาย เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่พวกเขาทำเป็นประจำอยู่แล้ว เด็ก 2 ใน 3 จะทำกิจกรรมเพียงส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้รางวัล  โดยการเดินเป็นวงกลมในบ้านแล้วก็นอน และ เด็ก 15 % จะสนใจทำกิจกรรมทางกายอยู่ระยะเวลาหนึ่งจากนั้นก็จะเลิกสนใจที่จะทำ งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นว่าการให้รางวัลเพื่อให้เด็กมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นได้ผลสำเร็จแต่ไม่ใช่ในเด็กทุกคน  โดยหากเด็กจะทำกิจกรรมทางกายพวกเขาก็จะทำอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นเด็กที่ทำเพื่อหวังรางวัลก็จะไม่ได้ผลตลอด  จึงไม่ควรให้คุณค่ากับระบบการให้รางวัลมากเกินไป

            ดร.อิริค กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ การศึกษาเพื่อทดสอบเรื่องการให้รางวัลกับการมีกิจกรรม โดยแบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 3 กลุ่มทดลองหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มที่ได้รับเครื่องนับก้าวเพื่อใส่วัดจำนวนก้าวเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรางวัลให้จากการวัดจำนวนก้าว 2.กลุ่มที่ใส่เครื่องนับจำนวนก้าวแต่จะให้รางวัลเป็นเงินสดจากจำนวนก้าวที่เดิน และ3.กลุ่มที่ใส่เครื่องนับจำนวนก้าวแล้วจะได้รางวัลเป็นเงินมอบให้กับองค์กรสาธารณกุศลจากจำนวนก้าวที่เดินได้

          “การศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าหากจะใช้วิธีการให้รางวัลมาเป็นมาตรการในการกระตุ้น ส่งเสริมให้คนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้นนั้น จะได้ผลในระดับหนึ่ง แต่จะไม่มีความยั่งยืน เพราะไม่ได้ทำให้คนเห็นความคุ้มค่าในการลงทุนจากการมีกิจกรรรมทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะปราศจากโรคต่างๆ แต่คนจะทำกิจกรรมทางกายเพื่อหวังรางวัลเท่านั้น การจะส่งเสริมกิจกรรมทางกายจึงควรดำเนินการในหลากหลายวิธีร่วมกัน”ดร.อิริคกล่าว  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ