Lifestyle

8 ทักษะ‘ความฉลาดทางดิจิตอล’รับมือภัย"โลกไซเบอร์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เผย8ทักษะ‘ความฉลาดทางดิจิตอล’ เยาวชนในศตวรรษที่21เลี่ยงภาวะ“เด็กเสมือน”

          ต้อนรับวัน‘ประถมศึกษาแห่งชาติ’เวิร์ลดอิโคโนมิคฟอรั่มเผย8ทักษะ‘ความฉลาดทางดิจิตอล’ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนในศตวรรษที่21นักวิชาการแนะพาเด็กออกสู่โลกความเป็นจริง เลี่ยงภาวะ “เด็กเสมือน”

          ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ทุกคนต่างใจจดจ่ออยู่กับอุปกรณ์สื่อสารในมือมากกว่าจะพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ภาพชินตาเมื่อเห็นเด็กยุคนี้มีเพื่อนเป็น‘ไอแพด’หรือ‘โทรศัพท์มือถือ’แทนที่จะเป็นหนังสือเล่มโปรด หุ่นยนต์ หรือตุ๊กตา ทว่า เยาวชนจะเรียนรู้‘ความพอดี’ในการใช้สื่อยุคติจิตอลอย่างไร และทักษะใดบ้างที่จำเป็นเพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ และอยู่รอดได้ในฐานะพลเมืองในยุคติจิตอล

          ในวาระ‘วันประถมศึกษาแห่งชาติ’ ทุก "วันที่ 25พฤศจิกายน" ของทุกปีสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)ขอประมวลข้อมูลจากเวิลด์อิโคโนมิคฟอรั่มที่ระบุถึงคุณลักษณะและทักษะชีวิตในโลกยุคดิจิตอลหรือ ‘ความฉลาดทางดิจิตอล’ (Digital Intelligence: DQ) ที่จำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษที่21แบ่งเป็น3ระดับ ได้แก่

         ระดับที่1 การเป็นพลเมืองในยุคดิจิตอล (Digital Citizenship): ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและสื่อในโลกยุคดิจิตอลได้อย่างเกิดประโยชน์ มีความรับผิดชอบและปลอดภัย ระดับที่2ความคิดสร้างสรรค์ในยุคดิจิตอล (Digital Creativity):ความสามารถในการผนวกทักษะในการสร้างสรรค์ข้อมูลและเปลี่ยนความคิดใหม่ๆให้เป็นความจริงด้วยการใช้เครื่องมือดิจิตอล ระดับที่3ผู้ประกอบการยุคดิจิตอล (Digital Entrepreneurship)ความสามารถในการใช้สื่อดิจิตอลและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทายใหม่ๆในโลก หรือเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ

          ข้อมูลยังระบุด้วยว่า เด็กเยาวชนล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อภัยในโลกไซเบอร์ เช่น ภาวะการเสพติดเทคโนโลยี การถูกกลั่นแกลงในโลกไซเบอร์ เป็นต้น พวกเขาสามารถซึมซับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์จากโลกไซเบอร์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ฉะนั้นในขณะที่เด็กคนอื่นๆอาจจะสามารถต่อสู้กับความท้าทายในการแก้ปัญหาต่างๆได้

           แต่เด็กกลุ่มเสี่ยง อาทิ กลุ่มที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เด็กชนกลุ่มน้อย หรือเด็กที่ประสบปัญหาความยากจนเหล่านี้ พวกเขาจะมีความเสี่ยงที่มากกว่า และยังเผชิญกับผลลัพธ์ที่รุนแรงยิ่งกว่าด้วย และแม้ว่า นักการศึกษาจะมีแนวโน้มที่คิดว่าเยาวชนเหล่านี้สามารถเลือกเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ด้วยตนเอง หรือเรียนรู้ร่วมกับครอบครัว

          เมื่อพิจารณาถึงช่องว่างระหว่างวัย จะพบว่าเด็กเยาวชนในปัจจุบันที่เรียกว่า‘ยุคZ’นั้นเป็นรุ่นแรกที่เติบโตขึ้นท่ามกลางยุคของมือถือ และโซเซียลมีเดียอย่างแท้จริง แล้วจะคาดหวังให้ผู้ปกครอง หรือกระทั่งครูผู้สอนเรียนรู้วิธีการที่จะสอนให้เด็กเยาวชนในยุคปัจจุบันมีทักษะและเท่าทันการใช้สื่อในยุคติจิตอลเหล่านี้ได้อย่างไร

 

8 ทักษะ‘ความฉลาดทางดิจิตอล’รับมือภัย\"โลกไซเบอร์\"

ไปรยา  จันทร์สมบูรณ์

          ไปรยา จันทร์สมบูรณ์ คุณแม่ของน้องมิกิ ลูกสาววัย 7 ขวบ คือหนึ่งในหลายๆครอบครัวที่ประสบกับปัญหา “ไอแพดเป็นใหญ่” เพราะไม่ว่าจะทำอะไรน้องมิกิจะมีไอแพดอยู่ในสายตาเสมอ “จริงๆแล้วตอนเด็กแทบไม่ให้ลูกดูโทรทัศน์เลยนะ แต่พอขึ้นชั้นอนุบาลก็เริ่มให้ดูวิดิโอในยูทูปที่มีสอนร้องเพลงของเด็กๆ ช่วงแรกๆก็เชื่อฟังดี แต่เหมือนพอไปโรงเรียนเจอเพื่อน คนนั้นพูดถึงคลิปนี้ คนนี้พูดถึงเกมนั้น ก็เริ่มอยากได้นู่นนี่นั่น ให้แม่ช่วยดาวน์โหลดให้ คือจากที่แค่ดูคลิปสอนร้องเพลง ก็เริ่มเลยเถิดไปไกล”

          ไปรยา เล่าว่าน้องมิกิติดไอแพดหนักมาก ชนิดที่ว่าตื่นปุ๊บก็หยิบมาดูปั๊บ ตอนกินข้าวก็จ้องแต่ไอแพด พอเริ่มเข้มงวดจำกัดเวลาดู หรือขู่จะเอาไปขายน้องก็ร้องไห้โวยวายไม่ยอม

          “จากเมื่อก่อนที่ร่าเริง ว่านอนสอนง่าย เดี๋ยวนี้มิกิขี้หงุดหงิด ไม่ชอบการรอคอย เวลาจะเอาอะไรก็ต้องเอาให้ได้เดี๋ยวนั้น แถมบางทียังชอบต่อรอง อย่างตอนกลับจากโรงเรียนเราจะให้เค้าทำการบ้าน ก็จะมีอิดออด ขอเล่นต่ออีกแป๊บ หรือบางครั้งก็ทำการบ้านแบบรีบให้มันเสร็จๆไป จะได้ไปเล่นไอแพดต่อ แต่ที่พีคสุดที่ทำให้เราคิดว่ามันไม่ไหวแล้วจริงๆคือน้องมิกิเคยตกบันไดเพราะมัวแต่จ้องไอแพดนี่ล่ะค่ะ โชคดีที่ไม่เป็นอะไร แต่จากที่เคยพยายามจำกัดเวลาเล่นอย่างเดียว คราวนี้ก็เริ่มมีบทลงโทษเพิ่ม เช่นไม่ซื้อของเล่นให้ หรือไม่พาไปเที่ยวตอนวันหยุด”

8 ทักษะ‘ความฉลาดทางดิจิตอล’รับมือภัย\"โลกไซเบอร์\"

         สำหรับข้อมูลจากเวิล์ดอิโคโนมิคฟอรั่มยังระบุถึงทักษะที่เด็กเยาวชนยุคใหม่ควรเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นพลเมืองในยุคดิจิตอลว่าต้องประกอบด้วย 8 ทักษะ ดังนี้ 1) ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity): ความสามารถในการสร้างและบริหารจัดการอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองไว้ได้อย่างดีทั้งในโลกออนไลน์และโลกความจริง 2) ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management): ความสามารถในการบริหารเวลาที่ใช้อุปกรณ์ยุคดิจิตอล และสามารถการทำงานที่หลากหลายในเวลาเดียวกันได้

       3) ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ (Cyberbullying Management):ความสามารถในการรับรู้ และรับมือการคุกคามข่มขู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างชาญฉลาด 4) ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ (Cybersecurity Management): ความสามารถในการป้องกันข้อมูลด้วยการสร้างระบบความปลอดภัยที่เข้มแข็ง และป้องกันการโจรกรรมข้อมูลหรือการโจมตีออนไลน์ได้

          5) ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management): มีดุลพินิจในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลออนไลน์เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวทั้งของตนเองและผู้อื่น 6) ทักษะการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking): ความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ผิด ข้อมูลที่มีเนื้อหาดีและข้อมูลที่เข้าข่ายอันตราย ข้อมูลติดต่อออนไลน์ที่น่าตั้งข้อสงสัยและน่าเชื่อถือได้

         และ7) ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานมีการทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints):ความสามารถในการเข้าใจธรรมชาติของการใช้ชีวิตในโลกดิจิตอลว่าจะหลงเหลือร่อยรอยข้อมูลทิ้งไว้เสมอ รวมไปถึงเข้าใจผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการดูแลสิ่งเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบ และ8) ทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy):ความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นบนโลกออนไลน์

8 ทักษะ‘ความฉลาดทางดิจิตอล’รับมือภัย\"โลกไซเบอร์\"

ศ.ดร.สมพงษ์  จิตระดับ

          ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาประถมศึกษา กล่าวว่า ทักษะในยุคดิจิตอลถือเป็นทักษะร่วมของทุกคนในสังคม ในวันประถมศึกษาแห่งชาติ คุณครูต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการเรียนรู้ร่วมกับเด็ก ดังนี้1)หลักสูตรต้องลดเนื้อหา และต้องผสมผสานทักษะในยุคดิจิตอลเข้ากับทักษะอื่นๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เท่าทันยุคสมัย2)พ่อแม่และครูต้องปรับตัวเองจาก “ผู้สอน” เป็น “กระบวนกร”เชื่อมโยงโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือน

        "และควรพาเด็กเรียนรู้โลกทั้งสองแบบควบคู่กันไป มิฉะนั้นเด็กจะกลายเป็น“เด็กเสมือน” ไม่ใช่ “เด็กในโลกแห่งความจริง” และ3)ปรับมายาคติในเรื่องการสอน:เปลี่ยนเด็กให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยเฉพาะครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาที่มักถูกมองว่า ต้องอัดข้อมูลให้ผู้เรียนมากที่สุด เพราะฉะนั้นครูประถมต้องก้าวให้พ้นมายาคติเก่า รู้เท่าทันสื่อให้มาก เพื่อออกแบบกิจกรรม โครงงานวิจัยต่างๆ ที่สนับสนุนให้เด็กประถมรู้จักและเข้าใจตัวเอง สามารถก้าวสู่การเป็นพลเมืองในศตวรษที่21ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

         แม้การใช้สื่อดิจิตอลจะยังมีความเสี่ยง แต่เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเรียนรู้ที่จะใช้อย่างเกิดประโยชน์จึงเป็นเรื่องสำคัญ คุณแม่หลายๆคนก็เห็นพ้องกันว่าข้อดีของเทคโนโลยีใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะเทคโนโลยีถ้ารู้จักใช้ให้เป็น ใช้ให้ดี และมีผู้ปกครองคอยชี้แนะ ก็มีประโยชน์มหาศาลต่อการเรียนรู้ของเด็กเช่นกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ