Lifestyle

เล็งดึงเด็ก ปวช.เรียนรด.ฝึกระเบียบวินัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สอศ.ประชุมปรับแผนและมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาเด็กอาชีวะทะเลาะวิวาท สั่งทุกวิทยาลัยทำความเข้าใจผู้ปกครองคำสั่งม.44 เล็งดึงเด็กปวช.เรียน รด.

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.59 ดร.สุเทพ  ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมรวมกับสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐและเอกชน จำนวน 51 แห่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษากลุ่มเสี่ยงในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา  ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร  และในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ประชุมได้ทบทวนมาตรการแก้ไขปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ซึ่งที่ประชุมได้รายงานสภาพปัญหาในปฏิบัติงานที่ผ่านมา รวมทั้งได้เพิ่มมาตรการเร่งด่วน เพื่อปรับระบบการดูแลนักเรียน นักศึกษา ระบบการแนะแนว รวมถึงระบบครูที่ปรึกษาให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเพิ่มการติดต่อสื่อสารระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครองให้มากขึ้น และเพิ่มมาตรการในการกวดขันวินัยของนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งให้ปรับการเรียนการสอนในเชิงให้เด็กคิดวิเคราะห์ เพราะว่าเด็กไม่คิด ถึงทำผิด จึงต้องเพิ่มระบบการคิดมากขึ้น

 ดร.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า  ส่วนระบบการบริหารในวิทยาลัยให้ดำเนินการเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน 2.ให้ทุกวิทยาลัยรักษาความต่อเนื่อง ในกิจกรรมทุกกิจกรรมโดยเคร่งครัด และ 3.ให้วิทยาลัยสร้างเครือข่าย เกี่ยวกับการป้องปราม เช่น สร้างเครือข่ายไปยังทหาร ตำรวจ ประกันสังคม  ศาลภายในพื้นที่ ในส่วนผู้ปกครองให้ประชาสัมพันธ์ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง ต้องยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กและเยาวชนให้ได้ เพราะหากเด็กทำความผิด ผู้ปกครองก็ต้องมีความผิดตามกฎหมายด้วย

“ขณะนี้ยังมีผู้ปกครองบางส่วนไม่เข้าใจคำสั่ง คสช.และไม่รู้ด้วยว่าคำสั่งนี้มีผลทางกฎหมายถึงพ่อแม่ด้วย ซึ่งหลังจากมีคำสั่ง คสช.ออกมามีเด็ก 6 รายที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทและถูกดำเนินคดีทางกฎหมายแล้ว ขณะเดียวกัน ทุกวิทยาลัยจะมีตัวชี้วัดในการประเมินและกำกับการแก้ไขปัญหา และหากพบว่าพบว่าสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนแห่งใด ปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุซ้ำซากจนเกิดความเสียหายสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะใช้มาตรการการทางการบริหารเข้ามาดูแล รวมทั้งขอให้แต่ละวิทยาลัยไปคิดโครงการที่สื่อถึงการแก้ปัญหาทะเลาะวิวาท และทำปรับปรุงแผนแก้ไขข้อบกพร่องให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์เสนอมายัง สอศ.พิจารณาต่อไป”ดร.สุเทพ กล่าวและว่า ทั้งนี้ จะมีการคัดกรองนักศึกษาเพื่อจัดกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ ปรับหลักสูตร โดยเน้นสร้างทักษะชีวิต การควบคุมตนเอง สร้างคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองดี เคารพสิทธิผู้อื่น แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และจัดให้มีการเรียนรักษาดินแดน(รด.) ให้แก่นักเรียนอาชีวะตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)1 โดยรวมถึงนักศึกษาระบบทวิภาคีด้วย 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ