Lifestyle

กรมวิทย์ตามรอยพระบาทยกร่างแผนควบคุมฯโรคขาดสารไอโอดีนปี60-64

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  กรมวิทย์ตามรอยพระบาทแก้ปัญหาเด็กไทยขาดสารไอโอดีน ยกร่างแผนควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนปี60-64 หลังยังพบเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ อาจทำเด็กไอคิวที่ต่ำ

    นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินงานตามรอยพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงสนพระราชหฤทัยปัญหาการขาดไอโอดีนในเด็กไทย ปัจจุบันมีกิจกรรมที่อยู่ในร่างแผนการดำเนินงานโครงการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน พ.ศ. 2560-2564 ได้แก่ ความร่วมมือการศึกษาวิจัยและการเฝ้าระวังต่างๆ โดยตรวจระดับไอโอดีนในเกลือเสริมไอโอดีน และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จำหน่ายในประเทศ และมีความร่วมมือในการจัดทำแผนทดสอบความชำนาญการตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะ

       นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรมมีกิจกรรมที่สนับสนุนการแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ จัดทำโครงการเฝ้าระวังระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดไอโอดีนในทุกจังหวัดของประเทศไทย การประยุกต์ใช้ระดับ ไทรอยด์ สติมูเลติงฮอร์โมน (Thyroid Stimulating Hormone:TSH)จากการตรวจคัดกรองภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่องแต่กําเนิด (Congenital Hypothyroidism)ในกลุ่มทารกแรกเกิด อายุตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไปทั่วประเทศมาประเมินภาวะการ ขาดสารไอโอดีน ทั้งนี้ไอโอดีนมีผลต่อพัฒนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์สมอง ใยสมอง หากขาดไอโอดีน อาจทำให้การเจริญของสมอง และระบบประสาทไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้สติปัญญาด้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นได้

         กรมได้มีการนำผลการตรวจคัดกรองระดับไทรอยด์ สติมูเลติง ฮอร์โมน ของทารกแรกเกิดทั่วประเทศมาประเมินระดับความรุนแรงของภาวการณ์ขาดสารไอโอดีนในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2546 -2552 พบว่า ภาวการณ์ขาดสารไอโอดีน ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยมีระดับไอคิวที่ต่ำกว่าปกติจึงเป็นที่มาของโครงการนวัตกรรมแก้ปัญหาโรคเอ๋อและภาวะขาดสารไอโอดีนในพื้นที่อย่างยั่งยืนในเขตพื้นที่อุดรธานี และหนองคาย ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมมือกับเครือข่ายสาธารณสุขและชุมชนในภาคอีสาน เป็นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชน ทำการเพิ่มสารไอโอดีนในระบบห่วงโซ่อาหารและผลผลิตทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีน

        “มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักและเลี้ยงไก่ไข่เสริมไอโอดีน โดยใช้วิธีการฉีดพ่นสารละลายโปรแตสเซียมไอโอเดทในผักท้องถิ่น เช่น ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม คะน้า ต้นหอม กระเพรา สะระแหน่ โหระพา และเลี้ยงไก่ไข่ด้วยอาหารที่ผสมสารโปแตสเซียมไอโอเดทที่มีความเข้มข้นสูง จะทำให้ได้ไข่ไก่ที่มีไอโอดีนเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการแปรรูปปลาเป็นปลาร้าที่มีการเสริมไอโอดีน เพื่อนำมาบริโภคกันมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ตามมาก็คือ พฤติกรรมการบริโภคของคนในชุมชนเปลี่ยนไป หันมาบริโภคอาหารที่ปลูกเอง เลี้ยงเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” นพ.สุขุมกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ