Lifestyle

ตั้งกระทรวงใหม่ฯ ต้องรื้อทั้งระบบ!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“กระทรวงใหม่แก้ปัญหาคุณภาพบัณฑิต และธรรมาภิบาลอุดมศึกษาไม่ได้ ถ้าไม่ทำทั้งระบบ” แนะรื้อทั้งระบบ ทำให้เสร็จในรัฐบาลยุค"บิ๊กตู่"

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) กล่าวถึง กรณี ที่พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ยังติดใจประเด็นหากแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ไปตั้งกระทรวงใหม่จะช่วยแก้ไขปัญหาคุณภาพบัณฑิต และปัญหาธรรมาภิบาลได้ดีขึ้นกว่าตอนอยู่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)หรือไม่นั้น ตนมีเห็นว่า หากเพียงแค่ปรับโครงสร้างโดยการแยกสกอ. ออกมาตั้งเป็นกระทรวงใหม่ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหา 2 ประเด็นดังกล่าวและปัญหาอื่น ๆ ได้ เพราะแต่ละปัญหาและสาเหตุมีล้วนความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งโครงสร้าง และการดำเนินงานของสกอ. ที่ผ่านก็มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งสองประการ

ตั้งกระทรวงใหม่ฯ ต้องรื้อทั้งระบบ!!

ผศ.ดร.รัฐกรณ์  คิดการ

          นับตั้งแต่มีการปฏิรูปการศึกษาในปี 2542 และยุบทบวงมหาวิทยาลัยไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2546 อุดมศึกษาไทยกลับตกต่ำลงอย่างมากทั้งอันดับโลก และคุณภาพโดยรวม ปรากฎแต่ข่าวการบริหารที่ไม่โปร่งใส ปัญหาความขัดแย้งในการสรรหาผู้บริหาร การทุจริตคอรัปชั่น การเปิดหลักสูตรที่มุ่งแต่เชิงธุรกิจเป็นหลัก ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ประเทศชาติ การบริหารงานที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง จนก่อให้เกิดวิกฤตกระจายไปทั่ว

          ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการ และมหาวิทยาลัยในกำกับ(ม.นอกระบบ) รวมถึงมหาวิทยาลัยเอกชน แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะพยายามดำเนินการแก้ไขแต่ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายต้องใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 เข้ามาแก้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เพราะการให้อำนาจคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ซึ่งกรรมการหลายคนมีส่วนพัวพันกับปัญหา เป็นทั้งผู้ก่อและผู้แก้ จากการที่หลายคนไปนั่งเป็นนายกสภาและกรรมการสภาสถาบัน

          ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของสกอ.เอง ก็มีปัญหาในการปฏิบัติงานที่ล่าช้า ไม่กล้าตัดสินใจตามอำนาจหน้าที่มี่มีอยู่ ซ้ำผู้บริหารในสกอ. ก็ไปนั่งเป็นกรรมการชุดต่าง ๆ ในสถาบันต่าง ๆ เมื่อมีปัญหาข้อร้องเรียนเกิดขึ้นในสถาบันที่ตัวเองไปนั่งอยู่ก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างเที่ยงธรรม เพราะตัวเองมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ หลายปัญหาจึงไม่สามารถแก้ไขและแยกออกจากกันได้ระหว่างผู้ก่อให้เกิดปัญหากับผู้ทำหน้าที่แก้ปัญหา เพราะกลับกลายเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

          ดังนั้น ลำพังแค่การแยกตัวออกไปตั้งกระทรวงใหม่โดยไม่ปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ภายในของหน่วยงานต้นสังกัดสถาบันอุดมศึกษา และออกกฎหมายมาใช้กำกำกับควบคุมการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษา และแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคลไปพร้อมกัน คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องคุณภาพบัณฑิต และธรรมาภิบาลอุดมศึกษาได้ ดังนั้น ควรดำเนินการพร้อมกันใน 3 ประเด็นดังนี้

          1. จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา พร้อมปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ของหน่วยงานต้นสังกัด ของสถาบันอุดมศึกษาใหม่ทั้งระบบ

          2. ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยมาตรฐานและธรรมาภิบาลการอุดมศึกษา เพื่อใช้แก้ปัญหาและควบคุมคุณภาพการเปิดหลักสูตร ที่เป็นธุรกิจการศึกษา การบริหารแบบไร้ธรรมาภิบาล การทุจริต คอรัปชั่น การสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษา ที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในสถาบัน

          3. แก้ปัญหาการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจาก “คุณภาพของอุดมศึกษาขึ้นอยู่กับคุณภาพของอาจารย์ คุณภาพอาจารย์ขึ้นอยู่กับความมั่นคงในอาชีพและเสรีภาพทางวิชาการ”

          ปัจจุบันบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษามี 2 กลุ่มที่แตกต่างกัน คือข้าราชการและพนักงาน ดังนั้นโจทก์ใหญ่คือ จะทำอย่างไรถึงแก้ไขปัญหาคนสองกลุ่มนี้ไปพร้อม ๆ กันได้ซึ่งแนวทางที่สภาคณาจารย์และพนักงานส่วนใหญ่ต้องการคือ การแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ 2547 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2559 เป็นฉบับที่ 4 ซึ่งทำได้ง่ายกว่า เร็วกว่า ไม่กระทบกับข้าราชการ เป็นผลดีกับพนักงาน และการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา

  ตั้งกระทรวงใหม่ฯ ต้องรื้อทั้งระบบ!!

อาจารย์ มรภ.เทพสตรี ร้องศธ.ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

          โดยมุ่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างและบัญชีเงินเดือนข้าราชการ ลดความเหลื่อมล้ำกับข้าราชการครู กำหนดให้มีมาตรการให้สถาบันจ่ายเงินเดือนพนักงาน 1.5 และ 1.7 เท่าของข้าราชการ ให้เป็นไปตาม มติคณะรัฐมนตรี(ครม.( กำหนดระบบสัญญาจ้างและระบบประเมินพนักงานให้เป็นธรรม จัดสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และให้สามารถสมัครเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ได้เหมือนข้าราชการ

          อนึ่งร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคล ซึ่งอนุกรรมการฯ ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.) กำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้ ผลการสอบถามความคิดเห็นของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ และการประชุมร่วมของที่ประชุมสภาคณาจารย์และพนักงานทั่วประเทศ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากในภาพรวมเป็นการบั่นทอนสิทธิและความมั่นคงของข้าราชการ แต่ก็ไม่ได้สร้างความมั่นคงและสวัสดิการให้กับพนักงานแต่อย่างใด แต่จะก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการ ดังนี้

          1. การยกเลิก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด จะเกิดผลกระทบกับการเบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่งผู้บริหารจากงบแผ่นดิน(รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีและรอง ผอ.และรอง) รวมทั้งทำให้สถาบันต้องออกประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับใหม่อีกเป็นจำนวนมาก

          2. ข้าราชการและพนักงานสายสนับสนุน รวมถึงลูกจ้างประจำ จะขาดความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพราะร่างฉบับนี้ กำหนดไว้เพียงให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาสถาบัน ซึ่งหลายสถาบันมีปัญหาการดำเนินการเรื่องเส้นทางความก้าวหน้าอยู่ในขณะนี้

          3. การให้นายกสภาเป็นผู้บังคับบัญชาอธิการบดีจะก่อให้เกิดปัญหาธรรมาภิบาล เพราะไม่มีใครคานอำนาจนายกสภา เนื่องจากเป็นคนนอก ไม่สามารถเอาผิดทางวินัยได้ 4. การให้มีการจ้างพนักงานแบบไม่เต็มเวลา ไม่น่าจะมีผลดีกับสถาบันอุดมศึกษา ในเมื่อมาตรฐานหลักสูตรกำหนดไว้ว่า ถ้าจะจ้างอาจารย์เป็นศักยภาพของหลักสูตรบุคคลผู้นั้นต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มเวลาเท่านั้น

          5. การไม่กำหนดการออกจากงานของพนักงานด้วยการเกษียณอายุ 60 ปี นั่นคือไม่จำกัดอายุพนักงาน ก็จะก่อให้เกิดปัญหาการตีความกฎหมายเหมือนกรณีผู้บริหารที่เกษียณอายุ ซึ่งกำลังมีปัญาการตีความในเรื่องสถานะอยู่ในตอนนี้ 6. การให้สภาสถาบันยกเลิกสัญญาจ้างพนักงานได้ตลอดเวลาโดยไม่ระบุเงื่อนไขไว้ เป็นเปิดทางให้สถาบันอุดมศึกษาเอาพนักออกได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปิดช่องทางการต่อสู้ของพนักงาน

          7. การให้อาจารย์ รวมถึงครูสาธิต ต้องได้ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ภายในเวลาที่กำหนด อันนี้ก็เป็นอีกช่องทางที่ฝ่ายบริหารจะเอาทั้งข้าราชการและพนักงานออก โดยการกลั่นแกล้งได้ด้วยการเจตนาถ่วงเวลาไม่ให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการ ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

          เหนืออื่นใด สิ่งที่ทั้งข้าราชการและพนักงานเรียกร้อง ทั้งเรื่องความมั่นคงในอาชีพ เสรีภาพทางวิชาการ เงินเดือน สัญญาจ้าง สิทธิการรักษาพยาบาล ความมั่นคงหลังเกษียณ ฯลฯ ยังไม่ได้มีกำหนดไว้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมภายใต้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

          ดังนัน จึงอยากเรียกร้องให้ "พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ"พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี  เร่งดำเนินการพร้อมกันใน 3 ประเด็นดังกล่าว ให้เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลนี้

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ