Lifestyle

ธ ผู้ทรงบริบาล ประชาราษฎร์พ้นโรคา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ทรงมีพระราชกรณียกิจ พระราชกุศล และพระราชดำริเกี่ยวกับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขนานับประการ นำมาซึ่งการพ้นทุกข์จากโรคภัยของปวงประชา

 

  ...การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดีและ สังคมที่มั่นคงเพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดี พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรเศรษฐกิจ และสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย คือเป็นผู้แต่งสร้างมิใช่ผู้ถ่วงความ เจริญ... ตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดลพ.ศ.2522

000000

ธ ผู้ทรงบริบาล  ประชาราษฎร์พ้นโรคา

   ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงมิเคยทรงมองผ่านความทุกข์ของประชาราษฎร์อันเกิดจากโรคภัยต่างๆ ทรงให้การบริบาล โดยมีพระราชกรณียกิจ พระราชกุศล และพระราชดำริเกี่ยวกับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขนานับประการ ล้วนนำมาซึ่งการพ้นทุกข์จากโรคภัยของปวงประชา

  วัณโรค

      “คุณหลวง วัณโรคสมัยนี้มียารักษาดันได้เด็ดขาดหรือยัง ยาอะไรขาด ถ้าต้องการ ฉันจะหาให้อีก ฉันอยากเห็นการแพทย์เมืองไทยเจริญมากมาก”พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ทรงมีพระราชปรารภกับหลวงพยุงเวชศาสตร์ อธิบดีกรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2493 เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวัณโรคทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมากและป้องกันการติดต่อได้ยาก

       จากนั้นในอีก 3 ปีต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 5 แสนบาท ให้สภากาชาดไทยนำไปสร้างอาคารมหิดลวงศานุสรณ์ เพื่อเป็นศูนย์ผลิตวัคซีน บี.ซี.จี.เพื่อผลิตใช้ภายในประเทศ จากที่ก่อนนั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงและไม่เพียงพอ ส่งผลให้สามารถลดอัตราการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กจากเชื้อวัณโรคได้เป็นจำนวนมาก และศูนย์ผลิตวัคซีนแห่งนี้ ยังได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติด้วย โดยองค์การส่งเคราะห์แม่และเด็ก(UNICEF)ได้สั่งซื้อเพื่อจัดส่งไปให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วย

ธ ผู้ทรงบริบาล  ประชาราษฎร์พ้นโรคา

โปลิโอ

       ปีพ.ศ.2494 โรคไข้ไขสันหลังอักเสบ หรือโปลิโอ แพร่ระบาดในประเทศไทย มีผู้ป่วยอัมพาตและเสียชีวิตจำนวนมาก และเด็กที่ป่วยต้องพิการตลอดชีวิต ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมกับเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลที่ได้จากการจัดเปียโนคอนเสิร์ตให้แก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลศิริราช จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ และปีพ.ศ.2495 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน 2.5 แสนบาท ตั้งเป็นทุน โปลิโอสงเคราะห์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดซื้อเครื่องช่วยหายใจพระราชทานแก่โรงพยาบาลต่างๆเพื่อช่วยเหลือคนไข้ด้วย

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน

       หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน ก่อกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่ระยะแรกของการเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เริ่มจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แพทย์ประจำพระองค์ที่ตามเสด็จตรวจรักษาประชาชน แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งสถานที่และอุปกรณ์ต่างทำให้ช่วยเหลือประชาชนได้ไม่มาก นับตั้งแต่ พ.ศ.2497 จึงมีการขยายหน่วยแพทย์หลวงดังกล่าวเป็น หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานที่เดินทางไปให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่างๆ โดยอาศัยทุนพระราชทานจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

      ในบางคราระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎร หากแพทย์ตามเสด็จตรวจเจอผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบริการรักษาด่วน ก็จะทรงรับสั่งให้ทำการส่งต่อผู้ป่วยด้วยเฮลิคอปเตอร์ ดังเช่น เมื่อพ.ศ.2513 ที่เสด็จจ.ประจวบคีรีขันธ์ แพทย์ในขบวนเสด็จฯตรวจพบชาวบ้านคนหนึ่งอาการกำลังทรุดหนักด้วยไส้ติ่งแตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เฮลิคอปเตอร์ของตำรวจตระเวนชายแดนนำผู้ป่วยไปส่งที่รพ.จ.เพชรบุรีโดยด่วน ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการหนักเช่นนี้จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯให้ส่งต่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลและทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์

ธ ผู้ทรงบริบาล  ประชาราษฎร์พ้นโรคา

โรคเรื้อน

       ในปี พ.ศ.2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการควบคุมโรคเรื้อนของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ และพระราชทานทุนอานันทมหิดลเป็นประเดิม เพื่อจัดตั้งสถาบันศึกษาวิจัยและฝึกอบรมพนักงานและพระราชทานเงินที่เหลือจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าว จำนวน 175,064.75 บาท สร้างอาคารสำหรับศึกษา วิจัย ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคเรื้อน เมื่อแล้วเสร็จทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า สถาบันราชประชาสมาสัย ที่มีความหมายว่า “พระราชา และประชาชนย่อมอาศัยซึ่งกันและกัน”

       เมื่อปีพ.ศ.2503 พระราชทานเงินที่เหลือจากการก่อสร้างสถาบันราชประชาสมาสัยตั้งเป็นทุนราชประชาสมาสัย ในปีพ.ศ.2504 ได้มีพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนจากทุนเป็นมูลนิธิและทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมูลนิธิราชประชาสมาสัยมีภารกิจสนับสนุนการศึกษา วิจัย พัฒนาการรักษาบำบัดโรคเรื้อน จัดหาที่อยู่ ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย ให้การดูแลพยาบาลเป็นพิเศษ ให้ทุนส่งเสริมอาชีพและจัดหางานให้ทำและให้ทุนการศึกษาบุตร

       การดำเนินงานสนองพระราชดำริในการควบคุมโรคเรื้อน ส่งผลให้ระหว่างปี พ.ศ.2499-2537 ระยะเวลา 39 ปี ส่งผลให้สามารถค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนได้เกือบ 1.7 แสนราย ส่วนหนึ่งได้รับการติดตามรักษาจนหาย และอัตราความชุกลดลงจาก 50 รายต่อประชากรหนึ่งหมื่นคนในช่วงเริ่มโครงการ เหลือต่ำกว่า 1 รายต่อประชากรหมื่นคน ซึ่งตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกถือว่าโรคเรื้อนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศอีก

ธ ผู้ทรงบริบาล  ประชาราษฎร์พ้นโรคา

    อหิวาตกโรค

  คราที่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของอหิวาตกโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 35 จังหวัดเมื่อปี พ.ศ.2501 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้ง “ทุนปราบอหิวาตกโรค”และพระราชทานเครื่องฉีดยาป้องกันที่ทันสมัยและฉีดได้รวดเร็ว พร้อมอุปกรณ์ผลิตวัคซีนให้แก่สภากาชาดไทย อุปกรณ์ผลิตน้ำกลั่นแก่สถาบันพยาธิวิทยา กรมแพทย์ทหารบกและเครื่องมือ เวชภัณฑ์ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ

      จวบจนโรคสงบ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่สถาบันพยาธิวิทยา กรมแพทย์ทหารบก จัดซื้ออุปกรณ์ศึกษาและวิจัยเชื้ออหิวาตกโรคเพื่อความรู้และความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีน ด้วยทรงมีพระราชดำริในการจัดหาวิธีป้องกันโรคด้วย มิเพียงเท่านี้ เหตุโรคระบาดนี้ ทำให้รัฐต้องสั่งซื้อน้ำเกลือจากต่างประเทศจำนวนมาก จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อการวิจัยและสร้างเครื่องมือผลิตน้ำเกลือที่มีคุณภาพ ซึ่งในการผลิตต้องใช้น้ำกลั่นเป็นปริมาณมาก ในปีพ.ศ.2504 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเครื่องจักรที่กลั่นน้ำได้ชั่วโมงละ 100 แกลลอน 1 เครื่อง ราคา 79,622.42 บาท แก่โรงงานเภสัชกรรม

  คนปัญญาอ่อน

       ปีพ.ศ.2506 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินรายได้จากการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ชุดเสด็จเยือนประเทศมาเลเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ผ่านมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อเป็นทุนก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนสอนบุคคลปัญญาอ่อนในบริเวณโรงพยาบาลราชานุกูล โดยพระราชทานนามว่า โรงเรียนราชานุกูล เพื่อช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ให้สามารุดำรงชีวิตในสังคมได้

  ระบบประสาท

        ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยการศึกษาวิจัยประสาท เนื่องจากมีผู้ป่วยโรคระบบประสาทเพิ่มขึ้นเร็ว แต่การบำบัดรักษาโรคยังขาดแคลนทั้งแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินรายได้จากการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ 702.808.70 บาทเป็นทุนสร้างอาคารเพื่อการวิจัยและพัฒนาการบำบัดรักษาโรคทางระบบประสาท รวมกับเงินสมทบที่มีผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล และงบประมาณทางราชการ ก่อสร้างอาคาร 4 ชั้นในสถาบันประสารทวิทยา ใช้เป็นทำทำการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาการบำบัดโรคทางระบบประสาท เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถประกอบพิธิวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2504 และเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดตึกวิจัยประสาท เมื่อวันที่ 37 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2506 เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิวิจัยประสาท ทรงโปรดเกล้าฯให้รับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานทุนเริ่มแรก จำนวน 1 แสนบาท นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้ป่วยทางประสาทวิทยาและสมองพิการ

  โรคขาดไอโอดีน

       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ทรงพบปัญหาการขาดสารไอโอดีนจนเกิดเป็นโรคคอพอกในประชาชนจำนวนมากในหลายพื้นที่ที่เสด็จเยี่ยมราษฎร พระองค์และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระเมตตาและมีพระราชประสงค์ให้มีการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน โดยเคยทรงน้ำเกลือผสมไอโอดีนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปทรงแจกประชาชนในถิ่นทุรกันดารหลายครั้ง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเกลือเสริมไอโอดีนจำนวน 2,419 ตันให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและสภากาชาดไทย นำไปแจกจ่ายพสกนิกรทุกครัวเรือน นำมาสู่การกระตุ้นให้คนไทยบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคคอหอยพอก และสมองเสื่อม

     เมื่อปีพ.ศ.2534 ทรงริเริ่มโครงการนำร่องเกลือเสริมไอโอดีนที่อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ นำมาสู่โครงการควบคุมการขาดสารไอโอดีนของกระทรวงสาธารณสุข และได้ทรงสนับสนุนวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ให้พัฒนาเครื่องจักรขนาดกลางขึ้นเป็นต้นแบบในการสร้างเครื่องผลิตเกลือผสมไอโอดีนทั่วประเทศ

      อีกทั้ง ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ 50 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเกลือเสริมไอโอดีนแก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปแจกจ่ายประชาชนทั่วประเทศ โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ประทับสัญลักษณ์ปีกาญจนาภิเษกลงบนถุงเกลือพระราชทาน

  ไข้เลือดออก

     “โครงการปราบยุงลายคั่งค้างมานานแล้ว และอันตรายยังมีอยู่มาก อยากให้ปราบปรามอย่างจริงจัง อันตรายจากโรคไข้เลือดอกจะได้ทุเลาลง” พระราชดำรัส ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2542

      กระทรวงสาธารณสุขสนองแนวพระราชดำริ จึงได้จัดทำโครงการประชาร่วมใจป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ตลอดระยะเวลา 1 ปี จากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย อัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี จากเดิม 50 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน เหลือเพียง 29.89 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน อัตราป่วยตายลดลงจากเดิมร้อยละ 0.2 เหลือร้อยละ 0.17

ธ ผู้ทรงบริบาล  ประชาราษฎร์พ้นโรคา

  ฟันเทียมพระราชทาน

     “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" เมื่อเดือนเมษายน พ.ส.2547 และพระราชทานพระราชดำริในการแก้ปัญหา กระทรวงสาธารณสุขได้สนองพระราชดำริ ด้วยการจัดโครงการ ฟันเทียมพระราชทาน เพื่อรณรงค์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรต์เนื่องในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และวาระมหามงคล 80 พรรษา และมีการดำเนินการจนถึงปัจจุบัน ู

       มิเพียงแต่ให้ทรงให้การบริบาทให้พ้นทุกข์จากโรคเท่านั้น หากแต่น้ำพระราชหฤทัยยังแผ่ปกคลุมถึงญาติผู้ป่วยด้วย เกิดเป็นโรงเรียนราชประชาสมาสัย และทุนพระราชทานแก่บุตรผู้ป่วยโรคเอดส์

         เมื่อดำเนินการควบคุมโรคเรื้อน เด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคเรื้อนแต่เด็กๆมีสุขภาพร่างกายปกติและทางการได้แยกไปดุแลในศูนย์เลี้ยงเด็กของกรมอนามัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"ทรงมีพระราชปรารภว่า “เด็กเหล่านี้ ควรมีที่เรียน” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 1 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมก่อสร้าง โรงเรียนราชประชาสมาสัย เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2506 ปีแรกมีนักเรียน 40 คน ได้พัมนาเรื่อยมาจนเปิดรับนักเรียนทั่วไปและเข้าสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2528

ธ ผู้ทรงบริบาล  ประชาราษฎร์พ้นโรคา

       “ทุนการศึกษาพระราชทานแก่บุตรผู้ป่วยโรคเอดส์“ เกิดขึ้นในช่วงปี 2534-2539 ที่ถือว่าเกิดการระบาดของโรคเอดส์รุนแรงที่สุดในประเทศไทย คาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว1 -1.5 แสนคน และเสียชีวิตปีละกว่า 6 หมื่นคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือส่งผลให้จำนวนเด็กที่ต้องสูญเสียพ่อ แม่จากการติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย 

โดยหลังจากที่มูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการควบคุมโรคเรื้อนจนประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"จึงทรงรับสั่งให้มูลนิธิฯช่วยเหลือบุตรผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วย

       เมื่อปี2540 ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คณะกรรมการมูลนิธิฯและองค์กรโรคเรื้อนจากต่างประเทศเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์เพื่อถวายรายงานความก้าวหน้าการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนทรงรับสั่งให้มูลนิธิฯเข้าช่วยเหลือบุตรผู้ป่วยโรคเอดส์ ด้วยทรงเล็งเห็นว่า บุตรที่พ่อแม่ป่วยด้วยโรคเอดส์จะติดโรคนี้ 1ใน 3 แต่อีกถึง 2ใน 3 ที่ไม่ได้ติดเชื้อและไม่ได้ป่วยซึ่งมีจำนวนหลายหมื่นคน ต้องกำพร้า อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดกับปู่ ยา ตา ยาย

         นับตั้งแต่ ปี2541 มูลนิธิฯได้เริ่มต้นจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์เป็นประจำทุกปี ปีละ 999 ทุนเป็นทุนให้เปล่าแบบต่อเนื่องตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา โดยระดับประถมฯจะได้รับการจัดสรรทุน 4 พันบาทต่อปี มัธยมฯ 6 พันบาทต่อปี และอุดมศึกษา 8พันบาทต่อปีปัจจุบันมีเด็กที่ได้รับทุนนี้แล้ว มีเด็กที่ได้รับทุนจนจบม.6แล้วประมาณ600คน และปริญญาตรีประมาณ200คน มีทั้งในสาขาทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น สามารถมีอาชีพเลี้ยงตัวเองและปู่ย่าตายายได้

ธ ผู้ทรงบริบาล  ประชาราษฎร์พ้นโรคา

      จวบจนปี2546 คณะกรรมการมูลนิธิฯได้เข้าเฝ้าถวายรายงานความก้าวหน้าทุนพระราชทานนี้ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเสด็จแทนพระองค์ทรงพระราชทานคำแนะนำว่านอกเหนือจากการช่วยเหลือผู้กำพร้าที่ต้องสูญเสียพ่อ แม่จากโรคเอดส์แล้วควรติดตามว่าบุตรผู้ป่วยมีอาชีพพึ่งตนเองได้หรือไม่ด้วยมูลนิธิฯจึงประสานความร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อช่วยเหลือในการฝึกอาชีพให้เป็นการเฉพาะสำหรับบุตรผู้ป่วยโรคเอดส์

       นอกเหนือจากนี้ มูลนิธิฯดำเนินการจัดค่ายการเรียนรู้ปีละ2ครั้งด้วยการเชิญผู้ปกครองและเด็กมาเข้าค่ายร่วมกันเพื่อปรึกษาหารือถึงปัญหาที่ประสบพบเจอและแนวทางการแก้ปัญหาซึ่งส่วนใหญ่จะเสนอแนะให้เด็กแก้ปัญหาโดยยึดหลักธรรมะและการทำจิตใจให้ว่างอีกทั้ง ค่ายนี้ยังเป็นค่ายที่ช่วยในการพัฒนาให้เด็กมีความเป็นผู้นำหากเด็กคนใดมีภาวะผู้นำ จะเข้าสู่เครือข่ายแกนนำผู้รับทุนพระราชทานฯ คัดสรรจังหวัดละ5คน สำหรับทำหน้าที่เป็นแกนนำช่วยเหลือเพื่อนในแต่ละจังหวัดมูลนิธิฯจะสนับสนุนเงินทุนดำเนินการปีละ2พันบาท

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ