Lifestyle

ครูของแผ่นดิน ราชันแห่งการศึกษา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกล ทรงเล็งเห็นว่าการศึกษานั้นเป็นรากฐานสำคัญของ “การพัฒนามนุษย์” อย่างแท้จริง การจะพัฒนาประเทศชาติ ก็จำเป็นต้องอาศัยคนเก่ง มีความรู้ 

 

      “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยรับสั่งว่าการศึกษาสำคัญกับประเทศของเรา ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชน ต้องมีความรู้ ไม่เช่นนั้นเขาจะตัดสินใจเลือกได้อย่างไร คนไม่มีความรู้ก็มีแต่จะโดยเขาหลอก ดังนั้น เราต้องหาวิธีอย่างไร ให้คนไทยทุกคนมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น หรือเท่าเทียมกัน” นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ถ่ายทอดพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งจากหนังสือ 20 ปีการศึกษาพระราชทานทางไกลผ่านดาวเทียม

ครูของแผ่นดิน ราชันแห่งการศึกษา

..      การขาดแคลนครู ในท้องที่ชนบทห่างไกลเป็นปัญหาของการศึกษาไทย ขาดแคลนทั้งอัตรากำลังครู ขาดครูที่สอนประจำวิชาเฉพาะ เช่น ครูสอนภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มาตรฐานคุณภาพ ของแต่ละโรงเรียนในชนบท, โรงเรียนประจำจังหวัด,โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร มีคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันมาก การศึกษาไทยมีความเหลื่อมล้ำ บั่นทอนต่อความมั่นคงของชาติ

 

      “ครูตู้”หรือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หนึ่งในโครงการพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนทั้งในเมืองหรือชนบทให้ใกล้เคียงกัน เริ่มต้นในปี 2538 "นายขวัญแก้ว วัชโรทัย" รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เสนอให้ กรมสามัญศึกษา (ในขณะนั้น) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัด“โครงการการศึกษาสายสามัญด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม” เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยใช้ “โรงเรียนวังไกลกังวล” อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแม่ข่าย

ครูของแผ่นดิน ราชันแห่งการศึกษา

     ปีเดียวกัน “นายขวัญแก้ว” ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจัดตั้ง "มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม" เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (กาญจนาภิเษก)พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน 50 ล้านบาทที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทูลเกล้าฯถวายเป็นทุนประเดิมก่อตั้ง"มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม"ขึ้น

 

      คราวนั้น องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลอย่างพร้อมเพรียง และ“นายขวัญแก้ว”เป็นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มีการจัดตั้ง"สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV "ขึ้นที่โรงเรียนวังไกลกังวล ถ่ายทอดการเรียนการสอนออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ไปยังโรงเรียนปลายทางทั่วประเทศ 7 ช่องสถานี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปีพ.ศ. 2538

      นอกจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะได้พระราชทานความรู้แก่โรงเรียนทั่วประเทศผ่านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมแล้ว ยังได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานความรู้แก่นักเรียนผ่านรายการ“ศึกษาทัศน์”เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปีพ.ศ. 2544 ณ โรงเรียนเทศบาลบ้านเขาเต่า ต.หนองแก อ.หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์

ครูของแผ่นดิน ราชันแห่งการศึกษา

      “ตอนไปอเมริกา ผมเปิดรายการศึกษาทัศน์ให้โปรเฟสเซอร์มหาวิทยาลัยโอเรกอนดู ต่างรู้สึกตกใจพระเจ้าอยู่หัวเมืองไทยสอนนักเรียน ได้ยินพระสุรเสียงด้วย หรือแม้แต่กงสุลในแอลเอ ชิคาโกเห็นเข้า ก็บอกว่า พระเจ้าอยู่หัวเป็นอาจารย์ของโลก ไม่ใช่สอนอย่างเดียว ทรงสอนเหมือนกับพระพุทธเจ้าสอนธรรมะ ธรรมะก็คือธรรมชาติ พระองค์ให้เด็กเรียนรู้โดยสัมผัสธรรมชาติ ” นายขวัญแก้ว เล่าถึงพระอัจฉริยภาพด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

      จวบจนบัดนี้“การศึกษาพระราชทานด้วยเทคโนโลยี” ได้ถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และครบรอบ 20 ปีในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 โดยยึดหลักสำคัญคือ“สอนง่าย ฟังง่าย เขียนง่าย เข้าใจง่าย” 

ครูของแผ่นดิน ราชันแห่งการศึกษา

      กว่า20ปีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มีพัฒนาการจัดการเรียนการสอนต่อเนื่อง มีการจัดทำคู่มือครูพระราชทาน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มอบให้โรงเรียนต้นทางและปลายทาง สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตรงตามหลักสูตรของศธ.มีการอบรมครูผู้สอนออกอากาศผ่านดาวเทียม อบรมการผลิตสื่อ การนำบทเรียนอี-เลิร์นนิ่ง (e-Learning)ออกมาใช้ในการสอนเพื่อให้แต่ละกลุ่มวิชามีคุณภาพมากขึ้น นักเรียนและผู้สนใจได้รับประโยชน์สูงสุดในการเรียนตั้งแต่พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน

          ข้อมูล จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ปี 2558 ระบุว่า โรงเรียนที่ได้รับพระราชทานการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนวังไกลกังวล คือโรงเรียนที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม โดยไม่คิดมูลค่าเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาทิ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนพระปริยัติธรรม รวมถึงการศึกษาระดับสายอาชีพ และระดับอุดมศึกษา รวมกว่า 300,000 แห่ง ไม่รวมโรงเรียนประเทศเพื่อนบ้านที่สัญญาณดาวเทียมไปถึง อาทิ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม จีน และมาเลเซีย ทั้งยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐอเมริกาจัดอบรมทางไกลครูภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์และสนับสนุนสื่อการสอนภาษาไทยในวันอาทิตย์ ให้แก่วัดป่าธรรมชาติ ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ ด้วย

ครูของแผ่นดิน ราชันแห่งการศึกษา

     เหนืออื่นใด  การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมีลักษณะพิเศษ เพราะมีการถ่ายทอดสดการเรียนการสอน ครูผู้สอนและนักเรียน สามารถโต้ตอบ ซักถาม ข้อสงสัยผ่านโทรศัพท์ โทรสาร หรือผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิทัศน์ผ่านดาวเทียม สามารถรับชมถ่ายทอดสดการเรียนการสอนผ่านทางอินเทอร์เน็ตด้วยระบบอี-เลิร์นนิ่ง (e-Learning) ผ่านทาง www.dlf.ac.th ปัจจุบันยังรับชมผ่านโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์แบบพกพา เพียงดาว์นโหลดแอปพลิเคชั่นส์ ชื่อ “DLTV on mobile” ทั้งในระบบปฏิบัติการไอโอเอส (IOS) และแอนดรอยด์ (Android) ซึ่งรับชมการอากาศสด (Live) ใน 15 ช่องและรับชมย้อนหลัง (Video on Demand) และที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ขยายผลนำการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมลงไปสู่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และทุรกันดาร ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นตามมา

       ไม่เพียงเท่านั้น"มูลนิธิราชประชานุเคราะห์"ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ เป็นองค์กรการกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2506 ภายหลังจากที่เกิดมหาวาตภัยภาคใต้แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบความเดือดร้อนจากสาธารณภัย และจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มาตั้งแต่ปี 2506 ถึงปัจจุบันมีจำนวน 58 โรงเรียน ซึ่งนักเรียนจะได้รับการสนับสนุนเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และอุปกรณ์การกีฬา โดยมูลนิธิฯจะต้องดูแล นักเรียนทุนพระราชทานการศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนที่ประสบสาธารณภัยเป็นประจำทุกปี ส่งเสริมการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ส่งเสริมการจัดการศึกษาวิชาการทหารด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม

      ..พระบรมราโชบายที่ทรงพระราชทานแก่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทุกแห่ง คือ นักเรียนต้องได้รับการอบรมบ่มนิสัย ให้ได้รู้จักหลัก 12 ประการ คือ รู้จักรักษาความสะอาดทั้งกายและใจ ,รู้จักช่วยเหลือตนเอง,เป็นเด็กดี มีความเมตตา กรุณา,มีความซื่อสัตย์สุจริต,ตรงต่อเวลา,มีความกตัญญูกตเวที,มีความขยันหมั่นเพียร,มีความประเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน,มีความโอบอ้อมอารี,รู้รักสามัคคี อยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข,รู้จักการทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์แล้วนำไปจำหน่าย,รู้จักมัธยัสถ์อดออม ฝากเงินไว้ในบัญชีธนาคารเพื่ออนาคตของตนเอง

ครูของแผ่นดิน ราชันแห่งการศึกษา

      "โครงการพระดาบส" ในพระราชดำริฯ เริ่มดำเนินการในพ.ศ.2519  เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่มีอาชีพและไม่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอที่จะศึกษาต่อในสถาบันวิชาชีพ แต่สนใจใฝ่ศึกษา ให้ได้รับโอกาสฝึกวิชาชีพและฝึกอบรมคุณธรรมศีลธรรม เพื่อให้สามารถประกอบสัมมาอาชีวะ สร้างตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว สังคมและประเทศชาติ ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมรับศิษย์รุ่นแรก โดยไม่กำหนดพื้นฐานความรู้ จำนวน 6 คน เข้าเรียนวิชาช่างไฟฟ้า และ ช่างวิทยุโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ การฝึกอบรมได้ผลดี จึงเปิดการสอนเพิ่มเติมในวิชาเครื่องยนต์และเตรียมช่างในช่วง 5 ปีแรก( 2519 -2524) มีผู้เรียนสำเร็จ 60 คน

        จดทะเบียนเป็นโรงเรียนพระดาบส เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2532 และจัดตั้งมูลนิธิพระดาบสเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2533 ทรงพระราชทานทุนประเดิมจัดตั้งกองทุนโรงเรียนพระดาบสจำนวน 5 ล้านบาท โรงเรียนพระดาบส มีพัฒนาการด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง เปิดสอนเพิ่มเติมในสาขาอาชีพที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ปัจจุบันเปิดการสอนใน 8 สาขาอาชีพ ได้แก่ วิชาชีพช่างยนต์,ช่างไฟฟ้า,ช่างอิเล็กทรอนิกส์,ช่างซ่อมบำรุง,การเกษตรพอเพียง,ช่างไม้เครื่องเรือน,ช่างเชื่อม,และวิชาเคหบริบาล สืบเนื่องถึงปัจจุบัน

      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงมีพระราชดำรัสให้จัดทำ “สารานุกรมไทย” ด้วยทรงห่วงว่าหากเด็กและเยาวชนได้พบ หรือสนใจอยากรู้เรื่องราวใด จะได้มีแหล่งข้อมูลที่สามารถอ้างอิง และหาความรู้เพิ่มเติมได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้ ความคิดและความฉลาด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ในพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ขึ้น แบ่งวิทยาการออกเป็น 4 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ นับเป็นการพัฒนาวิชาการที่สำคัญยิ่งในวงการศึกษา ซึ่งสารานุกรมฯเล่มแรกพิมพ์ขึ้นในพ.ศ.2516 ปัจจุบันยังมีการจัดพิมพ์่และจัดทำในรูปแบบซีดีรอมด้วย

         ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกล ทรงเล็งเห็นว่าการศึกษานั้นเป็นรากฐานสำคัญของ “การพัฒนามนุษย์” อย่างแท้จริง การจะพัฒนาประเทศชาติ ก็จำเป็นต้องอาศัยคนเก่ง มีความรู้ ความสามารถเชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้วย จึงได้จัดตั้ง “ทุนการศึกษาพระราชทาน” เพื่อส่งเสริมนิสิต นักศึกษาที่เรียนดี อย่างยอดเยี่ยม แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีโอกาสศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหวังให้เป็นกำลังสำคัญพัฒนาประเทศชาติต่อไป 

ครูของแผ่นดิน ราชันแห่งการศึกษา

     อันประกอบด้วย ทุนมูลนิธิ“ภูมิพล” เป็นทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยในพ.ศ.2495 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 100,000 ให้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นทุนประเดิม ส่วน"ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล"เริ่มในพ.ศ.2549ให้ทุนแก่นักศึกษาแพทย์ไปเรียนต่อในต่างประเทศสาขาวิชาเทคนิคชั้นสูง ่ปัจจุบันทุนขยายขอบเขตการพระราชทานทุนแก่นักศึกษาสาขาต่าง ๆ คือ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเกษตรศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วารสารศาสตร์ และอักษรศาสตร์ โดยผู้ได้รับทุนสามารถเรียนถึงขึ้นสูงสุดตามความสามารถ และไม่มีสัญญาผูกมัด เพราะมีพระราชประสงค์ให้ผู้รับทุนได้เกิดความสำนึกรับผิดชอบเอง

        ต่อมาทรงมีพระราชประสงค์ให้ฟื้นฟู “ทุนเล่าเรียนหลวง” (King's Scholarship) ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงริเริ่มพระราชทานทุนให้นักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศ ก่อนจะยุติในเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้เป็นไปตามการประกาศใช้ “ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยทุนเล่าเรียนหลวง พ.ศ.2508” ซึ่งเป็นทุนพระราชทานแก่นักเรียนที่สอบชั้นม.ปลาย มีผลการเรียนดีปีละ 9 ทุน แบ่งเป็น สาขาทางศิลปะ 3 ทุน สาขาทางวิทยาศาสตร์ 3 ทุน และสาขาวิชาทั่วไป 3 ทุน ให้ไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ และไม่มีข้อผูกมัด

ครูของแผ่นดิน ราชันแห่งการศึกษา

    พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีคุณอนันต์ต่อการศึกษาไทย ทรงวางรากฐานการศึกษาไทยตลอดรัชสมัย 70 ปี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิอย่างหาที่สุดมิได้ เนื่องในโอกาสวันครู 16 มกราคม 2554 และโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ใน พ.ศ. 2554 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ถวายพระราชสมัญญานาม “พระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน”แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ