Lifestyle

100 ปีจุฬาฯเปิดตัว“ตะขาบน้ำตก”ชนิดใหม่ของโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จุฬาฯฉลอง 100 ปี โชว์ 100 การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย เปิดตัว "ตะขาบน้ำตก" ชนิดใหม่ของโลก กิ้งกือ ไส้เดือน หอยทากบก ขยายความร่วมมือสู่เออีซี

เมื่อวันที่ 29 ก.ย.59 ที่โรงแรมสุโกศล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) แถลงข่าว “100 ปี จุฬาฯ 100 การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย และความร่วมมืออาเซียนเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขุมทรัพย์ชีวภาพแห่งภูมิภาค” โดยมีศ. ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า ตามที่จุฬาฯ ได้ประกาศเป็นเสาหลักของแผ่นดินและมีนโยบายยุทธศาสตร์การสร้างทรัพย์สินทางปัญญาจากงานวิจัยสู่ spin-off เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาสังคม ทั้งนี้ ที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้พยายามการส่งเสริมให้งานวิจัยสามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ภายใต้แนวคิดหลัก 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1. อาจารย์ นิสิต ต้องสร้างงานวิจัยบนพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่เดิม 2. งานวิจัยเชิงวิชาการต้องเป็นหัวข้อวิจัยที่สามารถผลิตเป็นผลจริง ตอบโจทย์ในอนาคต และ3.ต้องเป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นในเมืองไทยและขยายผลไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆทั่วโลก เพื่อเป็นการเสริมประเทศให้มีความแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยของ ศ ดร. สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ได้แสดงให้เห็นเด่นชัดแล้วว่าสามารถนำไปสู่เป้าประสงค์ดังกล่าวได้ ดังนั้น โอกาสแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยครบ 100 ปี จุฬาฯ จะมุ่งมั่งสร้างความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย ในกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ สปป.ลาว เมียนมาร์ หรือประเทศอื่นๆ มากขึ้น เพราะเราถือคติว่าอยากจะไปเร็วต้องไปคนเดียว แต่ถ้าจะไปไกลต้องไปด้วยกัน

100 ปีจุฬาฯเปิดตัว“ตะขาบน้ำตก”ชนิดใหม่ของโลก

ศ. ดร. สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทแมติกส์ของสัตว์ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะงานทางอนุกรมวิธานที่เป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็น “ขุมทรัพย์แห่งชาติ” ที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในเชิงการอนุรักษ์ และฐานสำคัญของ “ธุรกิจชีวภาพ Bio-economy” ที่ผ่านมาตนได้ค้นพบสายพันธุ์หอยทากมากมายหลายร้อยสายพันธุ์ในประเทศ และต่างประเทศ และมากกว่า 70 สายพันธุ์ที่พบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก และเมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้ขยายงานวิจัยด้วยโครงการวิจัย ความหลากหลายทางชีวภาพของกิ้งกือ ไส้เดือน และตะขาบ” ได้ค้นพบสายพันธุ์ใหม่และสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ จนมีผลงานตีพิมพ์และได้รับรางวัลต่างๆ จำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ

100 ปีจุฬาฯเปิดตัว“ตะขาบน้ำตก”ชนิดใหม่ของโลก

นอกจากนั้นยังเกิดความร่วมมือกับนักวิจัยในอาเซียน เพื่อการศึกษาสายพันธุ์ของทรัพยากรชีวภาพของภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์ทางการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกถึง 245 ชนิด แบ่งเป็นหอยทากบก 121 ชนิด กิ้งกือ 76 ชนิด ไส้เดือน 45ชนิด และตะขาบ 3 ชนิด ทำให้ภาพของความหลากหลายทางชีวภาพชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับการวิจัยและพัฒนาในเวลาต่อมา ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง SNAIL 8 ภายใต้บริษัท SIAM SNAIL และการผลิตสายพันธุ์ไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ยืนยันถึงมูลค่ามหาศาลของความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ที่จะสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างสูงให้แก่ประเทศได้หลุดพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และยิ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้ร่วมมือกันกับประเทศในอาเซียน

100 ปีจุฬาฯเปิดตัว“ตะขาบน้ำตก”ชนิดใหม่ของโลก

“ขณะนี้ได้มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่เคยได้รายงานมาก่อน ซึ่งถือเป็น highlight ของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน อาทิ ตะขาบชนิดใหม่ของโลก คือ ตะขาบน้ำตก พบได้ที่ ลาว เวียดนาม และไทยพบที่เขาสก จ.สุราษฏร์ธานี ,กิ้งกือมังกร ,กิ้งกือกระสุน ,กิ้งกือตะเข็บ, และไส้เดือน อีก 7 ชนิด นอกจากนั้น คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้รวบรวมบัญชีราบการสปีชี่ส์ของหอยทางบก กิ้งกือ ไส้เดือน และตะขาบที่ค้นพบใหม่ในประเทศไทยดังนี้ หอยทากบก พบแล้วมากกว่า 574 ชนิด เป็นชนิดใหม่ 121 ชนิด 5 สกุลใหม่ และ 1 วงศ์ใหม่ แบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือหอยพื้นดิน หอยต้นไม้ หอยถ้ำ และหอยทากป่าชายเลน , ไส้เดือน พบแล้วมากกว่า 80 ชนิด เป็นไส้เดือนชนิดใหม่ของโลกถึง 45 ชนิด จากการศึกษาของทางหน่วยวิจัยพบว่า สามารถแบ่งไส้เดือนในประเทศไทยออกเป็น 4 ประเภทคือ ไส้เดือนดิน ไส้เดือนสะเทิน ไส้เดือนชายหาด และไส้เดือนจิ๋ว ,กิ้งกือ พบแล้วทั้งสิ้น 193 ชนิด เป็นชนิดใหม่ของโลกถึง 76 ชนิด และตั้งสกุลใหม่ 5 สกุล แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ กิ้งกือกระบอก กิ้งกือหลังแบน และกิ้งกือกระสุน และตะขาบ พบแล้วทั้งสิ้น 47 ชนิด เป็นชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด อยู่ระหว่างการเสนอเป็นชนิดใหม่อีก 2 ชนิด แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ ตะขาบบ้าน ตะขาบดิน ตะขาบหิน และตะขาบขายาว”ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าว

100 ปีจุฬาฯเปิดตัว“ตะขาบน้ำตก”ชนิดใหม่ของโลก

 ศ.ดร. ธีรยุทธ์ วิไลวัลย์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนได้ ซึ่งต่างได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีทั้งจากจุฬาฯ ภาครัฐหลายหน่วยงาน รวมถึงภาคเอกชนหลายแห่งที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้นเพื่อให้ผลงานวิจัยไทยลงจากหิ้งไปสู่ห้าง อย่างไรก็ตาม การนำเสนองานวิจัยครั้งนี้ จะเป็นการจุดประกายให้คนหันมาสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์ และใช้นวัตกรรมและวิทยาศาสตร์สร้างชาติต่อไป

  รศ.ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. กล่าวว่า สกว. เป็นหน่วยงานสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยพื้นฐาน และนำผลงานวิจัยไปสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมและสู่ภาคการผลิตที่มีคุณภาพ สร้างผลกระทบสูงต่อภาคธุรกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการปฎิรูประบบการวิจัยของประเทศเพื่อให้เกิดการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นงานวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ดังนั้น ผลงานวิจัยต้องนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาการ และเชิงพาณิชย์ เพื่อต่อยออดและเพิ่มมูลค่าการผลิตได้

100 ปีจุฬาฯเปิดตัว“ตะขาบน้ำตก”ชนิดใหม่ของโลก

 ด้าน นายบุญไช จันทร์สีนา ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย กล่าวว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งอีกครั้งสำหรับประเทศ สปป. ลาว ที่ได้มีโอกาสสร้างความร่วมมือทางด้านการวิจัย โดยเฉพาะศ. ดร. สมศักดิ์ ปัญหาที่ได้สร้างสะพานแห่งมิตรภาพเชื่อมโยงประเทศทั้งสอง ด้วยการรับนายคำหล้า อินคะวิไล เข้าศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต และได้ทำวิจัยเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับนักวิจัยจากประเทศไทย ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ของลาวเช่นกัน ทั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการเชื่อมต่อทางด้านการศึกษาวิจัย ไปยังด้านเศรษฐกิจ และกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น กระผมได้รับรายงานการวิจัยที่โดดเด่นจากนายคำหล้า อินคะวิไลที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจะกลับไปเป็นอาจารย์นักวิจัยต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ได้เริ่มสร้างแผนงานวิจัยในอนาคตกับศ.ดร. สมศักดิ์ ปัญหาแล้ว จึงเห็นได้ว่าทั้งสองประเทศจะได้สร้างความเป็นปึกแผ่นทางด้านเศรษฐกิจร่วมกันภายใต้การศึกษาวิจัยดังกล่าว

100 ปีจุฬาฯเปิดตัว“ตะขาบน้ำตก”ชนิดใหม่ของโลก

100 ปีจุฬาฯเปิดตัว“ตะขาบน้ำตก”ชนิดใหม่ของโลก

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ