Lifestyle

ผลตรวจอาหารเจช่วง4ปีพบดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ปนเปื้อน66%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมวิทย์สุ่มตรวจอาหารเจช่วง 4 ปี พบดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ปนเปื้อน คิดเป็น 66 % ส่วนผักดองไม่พบสารกันรา-ลูกชิ้นเจไม่พบผงกรอบ  อัตราสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลดลง

        นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า  จากการเฝ้าระวังคุณภาพและปลอดภัยอาหารช่วงเทศกาลกินเจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยการสุ่มตรวจอาหารเจในย่านเยาวราชแล้วนำมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในรอบ  4 ปี ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2556-2559 พบว่า  1.ผักดอง เช่น กาน่าฉ่าย เกี๊ยมฉ่าย ผักกาดดอง หัวไชโป้ว เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 102 ตัวอย่าง ตรวจผงกรอบหรือสารบอร์แรกซ์ และสารกันรา ไม่พบแม้แต่ตัวอย่างเดียวว่ามีการผสมสารดังกล่าวตลอดทั้ง 4 ปี ส่วนวัตถุกันเสียหรือกรดเบนโซอิค/กรดซอบิค พบ เกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนดคิดเป็น 65 % ปริมาณที่พบ 1,026-10,608 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  จากที่กฎกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยพบใน ผักกาดดอง/เกี๊ยมฉ่ายยำ 100 %  ไชโป้วฝอย 90 % แต่ตัวอย่างที่พบว่ามีการใช้ปริมาณสูงสุด ได้แก่ กาน่าฉ่าย  เฉพาะปี 2559 พบ 46.7 % ลดลงจากปี 2558 ที่พบ 62 % 

ผลตรวจอาหารเจช่วง4ปีพบดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ปนเปื้อน66%

          2.อาหารเจทำมาจากแป้งสาลีหรือบุก อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ลูกชิ้นเจ เก็บ 51 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบสารบอร์แรกซ์ตลอด 4 ปี  3.อาหารเจเลียนแบบเนื้อสัตว์ ได้แก่ หมูแดงเจ ทอดมันเจ เต้าปู้ปลาเจ ไส้กรอกเจ สามชั้นเจ เป็นต้น ตรวจหาดีเอ็นเอเนื้อสัตว์จำเพาะ จำนวน 35 ตัวอย่าง พบดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ปนเปื้อน คิดเป็น 66 % ส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างไม่มีฉลาก เฉพาะปี 2559 สุ่มตรวจ 8 ตัวอย่าง พบ 37.5 % ลดลงจากปี 2558 ที่สุ่มตรวจ 9 ตัวอย่างตรวจพบ 100 % อย่างไรก็ตาม ตรวจเจอในปริมาณน้อย คาดว่าอาจปนเปื้อนจากการใช้เขียงหรืออุปกรณ์บางอย่างร่วมกัน ทำให้มีอีเอ็นเอของเนื้อสัตว์ปนในปริมาณน้อย และ4.ผักที่นิยมบริโภคช่วงเทศกาลกินเจ ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาว แครอท ผักโขม กะหล่ำปลี หัวไชเท้า มะเขือเทศ เห็ดสด มะเขือยาว แตงกวา และผักบุ้ง เป็นต้น ตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 133 ตัวอย่าง พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เกินค่ากำหนด 12  % เฉพาะปี 2559 พบ 6.9 % ลดลงจากปี 2558 ที่พบ 8.33 % 

            “กรดเบนโซอิคเป็นวัตถุกันเสียที่มีความเป็นพิษต่ำ ละลายได้ในน้ำและถูกทำลายได้ด้วยความร้อน แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอันตรายได้  สำหรับผู้ที่แพ้สารนี้แม้ได้รับปริมาณน้อยอาจจะแสดงอาการได้ เช่น เกิดผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ดังนั้นไม่ควรบริโภคครั้งละมากๆ ส่วนการรับประทานอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคหรือผู้ปรุงอาหารควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจและอาหารต้องมีฉลากระบุ สถานที่ผลิต วันเดือนปี และเลขสาระบบอาหารที่ชัดเจน  เพราะถ้าแหล่งผลิตไม่ได้มาตรฐานบางครั้ง อาจมีส่วนประกอบ เช่น  ไข่ นมหรือเนื้อสัตว์ปนเปื้อน และหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือซื้ออาหารที่มีการแปรรูปและรสชาติที่เหมือนเนื้อสัตว์มากจนเกินไป    ผัก ผลไม้สดควรล้างน้ำให้สะอาดกินรับประทานหรือนำมาปรุงอาหาร”นพ.พิเชฐกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ