Lifestyle

กพร.ขานรับนโยบายรบ.ผู้ประกอบการกู้เงินพัฒนาฝีมือแรงงาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานขานรับนโยบายรัฐบาล ตีปี๊บชวนผู้ประกอบการกู้เงินไปใช้พัฒนาฝีมือแรงงานใน 7 สาขา ขยายวงเงินกู้จาก 3 แสน เป็น 1 ล้าน แถมปลอดดอกเบี้ย 1 ปี

            นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่าเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะของลูกจ้าง ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน  คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน จึงเห็นชอบขยายเพดานวงเงินกู้ยืมจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการกู้ไปฝึกอบรมฝีมือแรงงาน หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานม จากเดิมไม่เกิน 3 แสนบาทต่อครั้ง เพิ่มเป็นไม่เกิน 1 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เหลือร้อยละศูนย์  จากเดิมร้อยละ 3 ต่อปี  แต่มีข้อแม้ว่า ผู้ประกอบการต้องทำสัญญาไม่เกินวันที่ 12 มกราคม 2560 โดยมี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน

            ทั้งนี้ สาขาอาชีพที่จะดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานต้องเป็นสาขาอาชีพ ที่จะส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา 7 (1) ดังนี้ 1.สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง 2.สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ 3.สาขาอาชีพช่างเครื่องกล 4.สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 5.สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ 6.สาขาอาชีพเกษตรอุตสาหกรรม และ 7.สาขาอาชีพภาคบริการ โดยภาคบริการนี้ครอบคลุม ทั้งกิจการโรงแรม ร้านอาหาร และโลจิสติกส์ด้วย

            นายกรีฑา กล่าวว่า การฝึกอบรมทักษะและพัฒนาฝีมือแรงงานในสถานประกอบกิจการต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต ลดต้นทุน ลดการสูญเสียทรัพยากร รวมทั้งทำให้แรงงานมีศักยภาพเพิ่มขึ้น  ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 กพร. ได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และ ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ไปจำนวน  243,372 คน  สามารถส่งเสริมสถานประกอบกิจการในการพัฒนาทักษะลูกจ้างและนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีมากกว่า 8,000 แห่ง  สามารถพัฒนากำลังแรงงานได้กว่า 3.3 ล้านคน

            อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นบทบาทของ กพร. ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ซึ่งมีภารกิจสำคัญ 2 ส่วน คือ 1.เก็บเงินสมทบจากสถานประกอบกิจการที่จัดฝึกอบรมพนักงาน/ลูกจ้าง ไม่ถึงร้อยละ 50 ของจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่ในแต่ละปีเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน และ 2.ให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานภายในสถานประกอบกิจการนั้น ๆ หรือส่งพนักงาน/ลูกจ้างไปฝึกอบรมกับหน่วยงานภายนอก หรือทดสอบกับศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติที่ได้รับการรับรองจาก กพร.
 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ