Lifestyle

หนุนลดแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธ์ฯประเภท2เปิดทางวงการแพทย์ใช้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนุนปรับลดแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธ์ฯประเภท2 เปิดทางวงการแพทย์ใช้ ระบุทั่วโลกรักษาโรคสมาธิสั้น-สารทดแทนบำบัดกลุ่มติดยาบ้างอมแงม สธ.เร่งเคลียร์ข้อมูลให้ชัด

 

            เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่โรงแรมเมอร์เคียว ฟอร์จูน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวภายในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การควบคุม(เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์ และนวตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ว่า ประเทศไทยจัดให้เมทแอมเฟตามีน  และกลุ่มแอมเฟตามีน จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ซึ่งไม่มีการนำมาใช้ทางการแพทย์ หากจะนำมาใช้ได้โดยแพทย์จะต้องย้ายกลับมาเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2  ซึ่งก็ต้องมาดูว่าจะใช้ในการรักษาหรือไม่ เบื้องต้นทางกระทรวงสาธารณสุขมีการคุยกันแล้วว่า ตัวเมทแอมเฟตามีนอาจไม่ได้ใช้ แต่จะใช้ในตัวแอมเฟตามีนมากกว่า เพราะเมทแอมเฟตามีนเป็นอนุพันธุ์ ซึ่งตัวไหนใช้ทางการแพทย์ก็คงต้องมีการลดระดับมาเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2  อย่างไรก็ตาม สำหรับประโยชน์ทางการแพทย์มีการศึกษาอยู่ในเชิงระบบบำบัดรักษาด้านประสาท การกระตุ้นทางจิตประสาท 

อย่างไรก็ตาม  จากนี้จะหารือทางการแพทย์เพื่อทำข้อมูลประโยชน์ทางการแพทย์ของแอมเฟตามีนให้ชัดว่ามีการใช้อย่างไรบ้าง 

         นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับความพร้อมนั้น มีการประชุมหลายครั้ง แม้สธ.จะเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ต้องอาศัยกระทรวงอื่นๆมาร่วมกันทำงาน ไม่ใช่ว่าเราจะทำหมดคงไม่ได้ กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหารก็ต้องช่วยกันหมด  เบื้องต้นสธ.มีแบบคัดกรองผู้ป่วย โดยจะมีการอบรมบุคลากรของเราทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลระดับอำเภอก็เป็นศูนย์คัดกรองอยู่แล้ว โดยเราจะแบ่งการบำบัดออกเป็นทั้งกลุ่มใช้ กลุ่มเสพ กลุ่มติด โดยจะมีแนวทางการดำเนินการแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน ซึ่งการบำบัดรักษาผู้ป่วยจะมีทั้งรักษาแบบผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ก็ต้องประเมินอีกครั้ง  ซึ่งในการคัดกรองให้ผู้เสพเข้าระบบการบำบัดรักษานั้น อาจต้องร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และทางตำรวจช่วยด้วย

           ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการลดระดับตัวยาดังกล่าวจริง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการรักษา ทางสธ.พร้อมแล้วหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า หากเป็นนโยบายเพื่อประโยชน์ต่อสังคมก็ควรจะหันมาช่วยกัน และหากมีการแก้ไขในเรื่องผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย แทนจะรับโทษเลย ก็จะดึงเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาได้เลย 

 

       นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ตามปกติการจะใช้ยาอะไรต้องหาที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย ต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างพิษและประโยชน์  ในส่วนของแอมเฟตามีนมีประโยชน์ในทางการแพทย์โดยใช้สำหรับการรักษาโรคสมาธิสั้น ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีใช้กว่า 10 ยี่ห้อ นอกจากนี้ มีการศึกษาทั้งในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียว่าสามารถนำมาใช้รักษาผู้ที่ติดยาบ้าในระดับรุนแรงหรือติดงอมแงมได้โดยใช้เป็นสารทดแทนในช่วงรักษาบำบัด 2-3 เดือนแรก แต่ประเทศไทยยังไม่มีการใช้ยานี้ในการรักษาผู้ป่วยสมาธิสั้นและใช้เป็นสารทดแทนในการบำบัดผู้ติดยาบ้าระดับหนักซึ่งมีประมาณ 5-10 %  เนื่องจากแอมเฟตามีนยังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่  1 ซึ่งทางการแพทย์ก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนเมทแอมเฟตามีนไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพราะมีเป็นพิษต่อสมองและระบบประสาท

            “ที่ผ่านมามีการจัดแอมเฟตามีนทั้งกลุ่มให้อยู่ในยาเสพติดให้โทษประเทภ 1ทำให้เมืองไทยไม่ได้มีการใช้ประโยชน์แอมเฟตามีนในทางการแพทย์ จึงเห็นด้วยที่จะมีการปรับลดกลุ่มแอมเฟตามีนให้อยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ซึ่งจะส่งผลให้แพทย์สามารถนำมาใช้ประโยน์ทางการแพทย์ได้ เพราะแอมเฟตามีนจะมีฤทธิ์ในการติดต่ำ แต่เมทแอมเฟตามีนจะมีฤทธิ์ในการติดสูง”นพ.วิโรจน์กล่าว

      อนึ่ง ข้อมูลปัจจุบันพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ต้องขังมาจากปัญหาเมทแอมเฟตามีน และร้อยละ 11 ที่เป็นผู้เสพ ส่วนบุคคลที่เข้ามาบำบัดในกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 2 แสนราย มีร้อยละ 35 ที่สมัครใจรับการบำบัด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ