Lifestyle

3 ปัญหาทางสุขภาพจิตใกล้ตัวที่ต้องใส่ใจ!!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คมชัดลึก"รวบรวมปัญหาสุขภาพจิตทึ่เคยนำเสนอเป็น 3 ปัญหาสุขภาจิตใกล้ตัวที่ต้องใส่ใจ "ซึมเศร้า-ไบโพลาร์-ติดการพนัน"

บ่อยครั้งที่ปรากฎในสื่อถึงสาเหตุการฆ่าตัวตายมาจากโรคซึมเศร้า ซึ่งที่ผ่านมา “คมชัดลึก”ได้นำเสนอเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อปรากฎว่าน้องสาวของวีเจจ๋ากระโดดตึกฆ่าตัวตาย สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะโรคซึมเศร้า ”คมชัดลึก”จึงขอรวบรวม 3 ปัญหาทางสุขภาพจิตใกล้ตัวที่ควรใส่ใจ จากที่เคยมีการนำเสนอเกี่ยวกับโรคเหล่านี้

1.โรคซึมเศร้า

             พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า โรคซึมเศร้า รักษาได้ แต่ถ้าเป็นมากๆ แล้วไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ต่อเนื่อง จะมีแนวโน้มสู่การฆ่าตัวตายได้สูงถึง 30 % แต่หากเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์จะลดอัตราการฆ่าตัวตายได้มาก เหลือเพียงไม่ถึง 2%  ซึ่งโรคซึมเศร้า เป็นโรคเรื้อรังและพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย สำหรับประเทศไทย โรคซึมเศร้าเป็นอันดับที่ 3 ในผู้หญิง และเป็นอันดับ 8 ในผู้ชาย สาเหตุหลัก ได้แก่ 1.ปัจจัยทางชีวภาพ เช่น พันธุกรรม หรือโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคไทรอยด์ สารเสพติดต่างๆ และ 2.ปัจจัยด้านจิตสังคมและอุปนิสัยต่างๆ เช่น มองตนเองในแง่ลบ หรือมองโลกในแง่ร้าย รวมทั้งความตึงเครียดทางอารมณ์ เช่น ความตึงเครียดในครอบครัว การเจอกับเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง ความผิดหวัง ชีวิตโดดเดี่ยว สูญเสียคนที่รัก ตกงาน หย่าร้าง เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยโรคนี้มากกว่ากลุ่มอื่น

3 ปัญหาทางสุขภาพจิตใกล้ตัวที่ต้องใส่ใจ!!!

             อาการสำคัญของโรค คือ อารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่บอกว่าเศร้า แต่จะบอกว่ารู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จิตใจไม่สดชื่นเหมือนเดิม ซึ่งจะเป็นเกือบทั้งวัน และเป็นติดต่อกันเกือบทุกวัน นานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไปรวมถึง อาจมีความคิดอยากตาย ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 60 ในช่วงแรกผู้ป่วยอาจแค่รู้สึกเบื่อชีวิต แต่เมื่ออาการเป็นมากขึ้นจะรู้สึกอยากตาย และต่อมาจะคิดถึงการฆ่าตัวตาย เริ่มมีการวางแผน จนถึงการกระทำการฆ่าตัวตายในที่สุด โดยอาการของโรคจะเป็นวงรอบเมื่อเกิดภาวะเศร้าแล้วกลับมามีช่วงอารมณ์ปกติ บางคนอาจมีวงรอบ 2-3 เดือนครั้ง บางคนอาจจะ 1-2 ปีครั้ง ไม่แน่นอน ซึ่งหากมีวงรอบอาการเช่นนี้มากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 ปีถือว่ารุนแรง

             การรักษาโรคซึมเศร้า พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ในรายที่อาการมาก เช่น มีความคิดฆ่าตัวตาย จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล การรักษาจะใช้ยาต้านอารมณ์เศร้า ส่วนยานอนหลับไม่ใช่ยารักษาอารมณ์เศร้า แต่จะใช้เพื่อช่วยในกรณีที่คนไข้นอนไม่หลับร่วมกับการรักษาด้วยจิตบำบัด จะเป็นการปรับทัศนคติ ปรับเปลี่ยนมุมมองชีวิต เพราะการคิดในทางลบจะเป็นส่วนสำคัญที่รบกวนผู้ป่วยมาก และรักษาจากสิ่งแวดล้อม ครอบครัว การจัดสภาพการใช้ชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยไม่ค่อยกระตือรือร้นในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งโดยเฉลี่ยต้องรักษาอย่างน้อย 1-2 ปีต่อเนื่อง แต่ผู้ที่มีวงรอบอาการมานานอาจต้องใช้เวลามากขึ้น

             การสังเกตตนเอง คนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิดว่าเข้าข่ายซึมเศร้าหรือไม่ พญ.พรรณพิมล บอกว่า ให้สังเกตพฤติกรรม 1.มักจะมีความคิดไปในทางลบตลอดเวลา รู้สึกสิ้นหวังมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิด รู้สึกตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมาย และคิดว่าไม่มีทางเยียวยาได้ จนทำให้มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องความตาย 2.มักไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความสนใจหรือความเพลินใจในสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก รู้สึกอ่อนเพลีย การทำงานช้าลง การงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ การตัดสินใจแย่ลง 3.มักจะมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวล อยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย เป็นต้น 4.นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือบางรายนอนมากเกินไป บางคนเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักลด บางคนรับประทานอาหารมากทำให้น้ำหนักเพิ่ม รวมทั้ง มีอาการทางกาย รักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น อาการปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน หรือทำให้การประกอบอาชีพ การเข้าสังคม หรือหน้าที่ด้านอื่นที่สำคัญบกพร่องลงอย่างชัดเจน

         สามารถคัดกรองภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นออนไลน์ได้ที่เวบไซต์กรมสุขภาพจิต https://www.suicidethai.com/elearning/test/depress1/asheet.asp?qid=1

3 ปัญหาทางสุขภาพจิตใกล้ตัวที่ต้องใส่ใจ!!!

2.โรคไบโพลาร์

            นพ.พิชัย อิฏฐสกุล จิตแพทย์ประจำคลินิกโรคอารมณ์สองขั้ว ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี อธิบายเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ว่า     อาการของผู้ป่วยไบโพลาร์ จะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงใน 2 ขั้ว ได้แก่ ช่วงอารมณ์ขึ้นหรืออารมณ์ดีมากๆ คึกคัก (Mania /Hypomania) เช่น ความคิดแล่นเร็ว คิดหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน วอกแวก คำพูดเร็ว เสียงดัง ใครขัดใจจะหงุดหงิดฉุนเฉียวอย่างรุนแรง อาละวาดก้าวร้าว รู้สึกตัวเองมีพลังมาก มั่นใจในตัวเองมากขึ้น มีสิ่งที่อยากทำมากมายแต่ทำสิ่งหนึ่งยังไม่เสร็จก็จะเปลี่ยนไปทำอีกสิ่งหนึ่ง อารมณ์ครื้นเครงมากกว่าปกติ รู้สึกว่ามีความสุขมาก นอนน้อยกว่าปกติ ใช้จ่ายสิ้นเปลือง เป็นต้น

               ช่วงอารมณ์เศร้า (Depression) ซึมเศร้า พูดน้อย ความสนใจสิ่งต่างๆ ลดลง สมาธิแย่ลง การนอนผิดปกติ เชื่องช้าลง รู้สึกไร้ค่า อยากตาย ความคิดอ่านช้าลง ไม่มั่นใจในตัวเอง หดหู่ เบื่อหน่าย ท้อแท้ มองโลกแง่ลบ จิตใจไม่สดชื่น ไม่สนุกสนานกับสิ่งที่เคยชอบทำ หงุดหงิดง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ทั้งนี้อารมณ์ทั้ง 2 ช่วงจะต้องคงอยู่อย่างต่อเนื่องติดต่อกันอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ โดยเมื่อมีอาการแล้ว 1 ครั้ง โอกาสเป็นซ้ำอีกราว 90%

               “การรักษา จิตแพทย์จะให้ยา ควบคู่กับการรักษาทางด้านจิตใจ โดยช่วยให้คนไข้เรียนรู้และปรับตัวกับปัญหา และรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ใช้ไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของจิตแพทย์และแม้อารมณ์เป็นปกติแล้วยังต้องรับประทานยาเพื่อให้อารมณ์คงที่ ลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำ โดยจิตแพทย์จะติดตามอาการผู้ป่วยต่ออย่างน้อย 1-2 ปี” นพ.พิชัยกล่าว

3 ปัญหาทางสุขภาพจิตใกล้ตัวที่ต้องใส่ใจ!!!

3.โรคติดพนัน                 

       พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายเกี่ยวกับโรคติดพนันว่า ข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า การเล่นพนันมากๆ จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสมอง คล้ายกับคนติดสารเสพติด เรียกว่า การติดพนันบอล ถือเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง โดยเป็นกลุ่มโรคที่ไม่มีสารติดชัดเจน แต่เกิดการติดจากการทำซ้ำๆ บ่อยๆ จนกระบวนการทางสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง กระทั่งถึงจุดที่สมองมีร่องรอยการเล่นพนัน เมื่อคิดอยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้ ซึ่งจากการติดสารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะมีสารเข้าไปในร่างกาย ขณะที่การติดพนันไม่มีสารเข้าสู่ร่างกาย

         พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การรักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคติดพนัน เหมือนกับการรักษาโรคติดสารเสพติดทั่วไป แต่จะมีการประเมินก่อนว่ามีอาการแค่ไหน จำเป็นต้องรักษาด้วยยา หรือเพียงการปรับเปลี่ยนความคิดที่เรียกว่า จิตบำบัด ที่ผ่านมาผู้ที่โทรเข้ามาปรึกษาเพื่อเลิกพนันทางสายด่วน 1323 ราว 80% จะรักษาในรูปแบบจิตบำบัด เพราะคนกลุ่มนี้จะยังไม่ถือว่าป่วยด้วยราคทางจิตเวช แต่จำเป็นต้องรับการบำบัดเพื่อไม่ให้กลายเป็นคนติดพนัน อีกร้อยละ 20 ถือเป็นกลุ่มที่ป่วยติดพนัน ต้องรักษาด้วยยา เนื่องจากมีภาวะเศร้า และอารมณ์หงุดหงิดจากความต้องการเลิกร่วมด้วย

        “ผู้ที่ผ่านการบำบัดแล้ว หากพบว่าตนเองเริ่มรู้สึกเร้าใจจากการพนันเมื่อไหร่ จะต้องบอกให้เขากลับมาหาผู้ให้การรักษาก่อนที่จะกลับไปเล่น เพราะถ้ากลับไปเล่นแล้วโอกาสที่เลิกเล่นค่อนข้างยาก ทางที่ดีอย่าเข้าไปในวงจรของการพนัน” พญ.มธุรดา ย้ำ

         นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำว่า ประชาชนควรสังเกตพฤติกรรมของตนเองหรือคนใกล้ชิด หากมีอาการ 1 ใน 3 ข้อนี้ถือว่าเสี่ยงติดพนันบอลต้องรีบเข้ารับการบำบัด รักษา ได้แก่ 1.นอนไม่หลับ หงุดหงิด หรือวิตกกังวล เมื่อพยายามหยุดเล่นพนัน 2.ปิดบังครอบครัวหรือเพื่อน ไม่ให้รู้ว่าเสียพนัน และ 3.ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ