Lifestyle

กรมวิทย์เจ๋งตรวจวัณโรคจากเลือดรู้ผลเร็วกว่าเดิม7เท่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมวิทย์เจ๋งตรวจวัณโรคจากเลือด รู้เร็วกว่าเดิม7เท่า อีก6เดือนให้บริการ เปิดตรวจยีนย่อยยาต้านครั้งแรกของโลก ช่วยแพทย์รักษาผู้ป่วยดีขึ้น ลดภาวะตับอักเสบจากผลของยา

       ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำงานวิชาการ วิจัย ค้นคว้าและให้บริการในเรื่องการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งหากนำมาแปลงสู่การนำไปใช้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่งการทำงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในเรื่องวัณโรคเป็นตัวอย่างที่ดี ที่วิจัย ค้นคว้าแล้วสามารถนำไปใช้ได้เลย เนื่องจากกรมควบคุมโรคมีการนำเสนอว่าปัญหาของโรคที่สำคัญมากคือวัณโรค โดยเฉพาะวัณโรคดื้อยา ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายมากมายในการควบคุม ป้องกันและรักษาโรค

           นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวนำเสนอผลงานกรมในรอบ 9 เดือนว่า ผลงานในระดับครอบครัว อย่างเช่น ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวและไจกา(JICA)พัฒนาวิธีตรวจระดับการแสดงออกของยีนในเลือดเพื่อวินิจฉัยวัณโรค และเปิดให้บริการตรวจยีนย่อยสลายยารักษาวัณโรคไอโซไนอาซิด(Isoniazid)ครั้งแรกของโลก ซึ่งผลตรวจถูกต้อง 100 % ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาในขนาดที่เหมาะสม ลดปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาและภาวะตับอักเสบจากการใช้ยาเกินขนาด และตรวจสารพันธุกรรมเพื่อป้องกันการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง เช่น  ยาโรคเก๊าท์ โรคลมชัก ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายการรักษา และลดความเข้าใจผิดระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์   

         “ปัญหาหนึ่งของไทยคือการวินิจฉัยวัณโรคได้ช้า ส่งผลให้การควบคุมโรคทำได้ช้าด้วย ทั้งที่ 30 % ของคนไทยมีเชื้อวัณโรค ทั้งที่ก่อและไม่ก่อให้เกิดอาการ หากสามารถตรวจวินิจฉัยได้เร็วก็จะช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้เร็วขึ้น”นพ.อภิชัยกล่าว     

         นพ.สุรัคเมธ  มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในการวิจัยและพัฒนาเกี่ยววัณโรคของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการเสร็จแล้ว 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยวัณโรค โดยการตรวจเลือดเพื่อดูยีนบางตัวที่ทำงานมากกว่าปกติในผู้ป่วยวัณโรค คล้ายกับการพบเม็กเลือดขาวจำนวนมากในเลือกที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งประเทศอังกฤษก็ทำวิจัยเรื่องนี้เช่นกัน ผลออกมาตรงกัน จึงสามารถนำวิธีการตรวจนี้มาใช้ในการวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคจากเลือดได้ ซึ่งสามารถทราบผลได้ภายใน 2 วัน ในขณะที่การตรวจโรคด้วยวิธีการเพาะเชื้อแบบเดิมใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรือ 14 วัน เร็วกว่าเดิม 7 เท่า

         “คาดว่าจะเปิดให้บริการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยวัณโรคได้ช่วงปลายปี 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เรื่องการทราบผลเร็วนั้นเป็นข้อดีข้อหนึ่งของการตรวจเลือดหาเชื้อวัณโรค  แต่สิ่งสำคัญยังช่วยประกอบการรักษาด้วย เนื่องจากพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นวัณโรคหรือไม่นั้น แพทย์จำเป็นต้องให้ยารักษาวัณโรคไปก่อน ซึ่งยาดังกล่าวจะมีผลข้างเคียงพบได้ร้อยละ 5 เช่น เกิดภาวะตับอักเสบ และเกิดผื่น การตรวจนี้ที่ทราบผลเร็วขึ้นก็จะช่วยลดปัญหาผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาโดยไม่จำเป็น ปัจจุบันมีการวิจัยต่อเนื่องโดยร่วมกับรพ.ศิริราชดูคนไข้เด็กว่าช่วยวินิจฉัยได้เร็วแค่ไหน”นพ.สุรัคเมธกล่าว

          นพ.สุรัคเมธ กล่าวอีกว่า และ2.การตรวจวินิจฉัยยีนย่อยยาต้านวัณโรค ซึ่งพบว่าคนไข้วัณโรคไทย 30% จะมียีนย่อยยาต้านวัณโรคช้า ทำให้การย่อยยาทำได้ช้า ส่งผลให้ระดับยาในเลือดสูง มีความเสี่ยงเป็นโรคตับอักเสบเพิ่มขึ้น 8 เท่า โดยมีการเริ่มให้บริการแล้ว ด้วยการตรวจคนไข้วัณโรคที่มีภาวะตับอักเสบของสถาบันโรคทรวงอก พบว่ามียีนย่อยยาช้า แพทย์จึงได้ทำการปรับยาต้านวัณโรคลง ส่งผลให้คนไข้สามารถรับประทานยาที่จำเป็นต้องรับประทานได้ครบทุกตัว

           “กรมฯยังมีโครงการศึกษาวิจัยถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคที่จ.เชียงรายและเชื้อวัรโรคดื้อยาที่จ.กาญจนบุรีด้วย ซึ่งปัจจุบันพบว่าการตรวจแบบนี้ราคาถูกมาก สามารถนำมาใช้ในการตรวจประจำได้ และการถอดรหัสทำให้ทราบว่าเมืองไทยมีเชื้อวัณโรค 2 ตัว ที่เจอบ่อย และมีความแตกต่างกัน โดย 1 ตัวทำให้ป่วยหนักมากกว่าอีกตัว และอีกตัวดื้อยามากกว่าอีกตัว  ”นพ.สุรัคเมธ กล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ