Lifestyle

ความสำคัญของน้ำ! กับการรับประทานยา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดูแลสุขภาพ : ความสำคัญของน้ำ!กับการรับประทานยา

               เรื่องเล็กๆ แต่สำคัญ ของน้ำกับการรับประทานยาที่เรื่องเล็กอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ผู้ป่วยชายไทยอายุ 38 ปี มีอาการปัสสาวะขัด จึงซื้อยาฆ่าเชื้อมากินเอง หลังกินยาฆ่าเชื้อ กลับพบว่าตนเองมีอาการเจ็บคอมาก กลืนอาหารลำบาก เป็นมากจนต้องมาพบแพทย์ เมื่อส่องกล้องพบแผลที่หลอดอาหารหลายจุด จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการดังกล่าว

เกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วยรายนี้
               จากการสอบถามข้อมูลการใช้ยาของผู้ป่วย ยาที่ผู้ป่วยกิน คือ Doxycycline โดยผู้ป่วยจะกินยาตัวนี้ก่อนนอน หลังกินยาก็จะนอนทันที และดื่มน้ำเพียงเล็กน้อย ซึ่งผลการวินิจฉัยอาการแผลที่หลอดอาหาร แพทย์ระบุเกิดจากผลข้างเคียงจากยา Doxycycline
               ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยามีผลทำให้เกิดหลอดอาหารเป็นแผล ซึ่งมีรายงานจากกรณีศึกษาครั้งแรกเมื่อปี 1970 โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา พบอัตราการเกิดแผลหลอดอาหารที่สัมพันธ์กับยาถึง 10,000 รายต่อปี จากข้อมูลมียามากกว่า 70 ชนิดที่สามารถทำให้เกิดแผลหลอดอาหาร ซึ่งยาปฏิชีวนะมีความสัมพันธ์กับการเกิดพิษต่อหลอดอาหาร ได้ถึง 50-60 % ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงลักษณะนี้ได้บ่อย ได้แก่ Tetracycline, Doxycycline ,Clindamycin ยาอื่นๆ ที่พบรายงาน เช่น ยากลุ่ม N-SAIDs, Potassium Chloride, Ferrous Sulphate, Ascobic acid (Vitamin-C), Quinidine, Aspirin, Captopril และยากลุ่ม Bisphosphonates (เช่น Fosamax®, Actonel®, Bonviva®) เป็นต้น
               
๐ ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลหลอดอาหารจากยาพบว่ามีหลายปัจจัย เช่น
               - คุณสมบัติของยา : ยา Doxycycline, Tetracycline, Ascobic acid, Ferrous Sulphate เมื่อนำมาละลายกับน้ำ 10 ซีซี หรือกับน้ำลายจะมีค่า pH ต่ำกว่า 3 ซึ่งมีความเป็นกรดสูง หรือ ยา Clindamycin, Potassium Chloride และ Quinidine ที่มีผลกับเยื่อเมือกของหลอดอาหารโดยตรง
               - สภาวะของผู้ป่วย : การผลิตน้ำลายที่ลดลงในผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ที่ใช้ยาที่มีผล Anticholinergic เช่น Chlorpheniramine, Dimenhydrinate, Dextromethorphan โรคประจำตัวที่เกี่ยวกับหลอดอาหารที่มีอยู่เดิม เป็นต้น

๐ การดื่มน้ำน้อยหรือไม่ดื่มน้ำเลยหลังกินยาทำให้เกิดอะไรขึ้น
               การดื่มน้ำน้อยหรือไม่ดื่มน้ำเลยหลังกินยาจะส่งผลเสียให้เกิดหลอดอาหารอักเสบได้ ถ้าเป็นตัวยาที่มีคุณสมบัติระคายเคืองหลอดอาหารโดยตรง การดื่มน้ำน้อยอาจทำให้ยาค้างในหลอดอาหารได้นานกว่าปกติ ยาก็จะลายลายตรงนี้แล้วเกิดกัดหลอดอาหารได้

๐ ยาชนิดใดบ้างที่ทำให้เกิดการระคายหลอดอาหารได้
               จากข้อมูลมียามากกว่า 70 ชนิดที่สามารถทำให้เกิดแผลหลอดอาหาร ซึ่งยาปฏิชีวนะมีความสัมพันธ์กับการเกิดพิษต่อหลอดอาหาร ได้ถึง 50-60% ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงลักษณะนี้ได้บ่อย ได้แก่ Tetracycline, Doxycycline, Clindamycin ยาอื่นๆ ที่พบรายงาน เช่น ยากลุ่ม N-SAIDs, Potassium Chloride, Ferrous Sulphate, Ascobic acid (Vitamin-C), Quinidine, Aspirin, Captopril และยากลุ่ม Bisphosphonates (เช่น Fosamax®, Actonel®, Bonviva® ) เป็นต้น

๐ อาการหลอดอาหารอักเสบเกิดขึ้นแล้วส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร
               คนที่เกิดอาการหลอดอาหารอักเสบจะมีอาการปวดเจ็บ แสบ เวลากลืนอาหาร กลืนอาหารลำบาก เจ็บตรงบริเวณหน้าอกได้ ในคนที่มีอาการมากๆ ก็อาจเจ็บจนกลืนน้ำลายลำบาก บางคนอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้ มีปวดท้อง น้ำหนักลดได้หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติรุนแรงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการดังกล่าว

๐ หลังกินยาแล้วอาการเหล่านี้จะเกิดได้ทันทีหรือใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะเกิด
               ระยะเวลาเกิดอาจใช้เวลาหลายชั่วโมง จนถึงอาจเป็นเดือนหลังเริ่มใช้ยาที่มีปัญหา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของตัวยา และการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย สภาวะโรคร่วมที่ผู้ป่วยมีอยู่ก่อนเริ่มใช้ยา

๐ มีข้อแนะนำอย่างไร
               ข้อแนะนำสำคัญ สำหรับการกินยาที่มีผลต่อการแผลหลอดอาหาร เพื่อป้องกันผลข้างเคียงดังกล่าว คือถ้าเป็นยาเม็ด ให้กลืนยาทั้งเม็ด ห้ามแกะหรือเคี้ยวยา หลังจากนั้นดื่มน้ำอย่างน้อย 200-240 ซีซี (น้ำ 1 แก้วเต็ม) ตาม เพื่อป้องกันการระคายเคืองหลอดอาหาร และหลังกินยาไม่ควรเอนตัวลงนอนอย่างน้อย 30 นาที
               การอธิบายเหตุผลถึงการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำข้างต้น นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจให้ความร่วมมือในการรับประทานยาได้อย่างถูกต้องปลอดภัยแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดจากอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่เราสามารถป้องกันได้อีกด้วย

ภก.วรดิส สถาวโรดม
เภสัชกร โรงพยาบาลพญาไท 1

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ