Lifestyle

กว่าจะถึง...“2 เหรียญทอง”ขับร้องประสานเสียงโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กว่าจะถึง...“2 เหรียญทอง”ขับร้องประสานเสียงโลก : พวงชมพู ประเสริฐ 

           แม้จะมีเพียงผู้หญิง 21 คน แต่ความไพเราะและพลังเสียงที่คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนหญิงไทย (Thai Youth Choirs:TYC) ขับร้องออกมาในระหว่างการแข่งขันขับร้องประสานเสียงโลก ครั้งที่ 9 (World Choir Games 2016) ที่เมืองโซชิ สหพันธรัฐรัสเซีย กลับไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวแทนจากประเทศอื่นๆ ที่ส่งนักร้องวงละ 30-40 คน จนทำให้สามาถคว้าเหรียญทองมาได้ทั้ง 2 สาขาที่ร่วมแข่งขัน คือ สาขานักร้องประสานเสียงเยาวชนหญิง และสาขาบทเพลงศาสนาแบบมีเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบ คุ้มค่ากับความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทฝึกซ้อมกว่า 9 เดือน 
       
           นายอธิชัย ตระกูลเดช  ผู้อำนวยเพลง เล่าว่า  เริ่มต้นทำวงมาตั้งแต่ปี 2557 จนเข้าสู่ปีที่ 2 ในปี 2558 เริ่มเห็นเด็กในวงเก่งขึ้น มองว่าหากเด็กได้เข้าร่วมแข่งขันเวทีระดับโลกในปีนี้ก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนา จึงหารือร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรับผิดชอบส่งเสริมวงนี้ และได้รับการสนับสนุนอย่างมากจาก นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีสวธ. ในการส่งเด็กเข้าร่วมแข่งขัน จนเริ่มปีงบประมาณ 2559 ในช่วงเดือนกันยายน 2558 ได้เริ่มโครงการเตรียมวงสำหรับแข่งขัน 
     
           หลังจากนั้นเริ่มขั้นตอนการฝึกซ้อมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558  โดยใช้เวลาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมงครึ่ง กระทั่งเดือนมกราคม 2559 จะมีการฝึกซ้อมแบบแยกเสียง ทำให้รู้ว่าเสียงโซปราโนที่เป็นเสียงสูงมีปัญหา ก็จะนัดเด็กที่ร้องในส่วนเสียงสูงมาฝึกซ้อมพิเศษอีก 1 ครั้งต่อสัปดาห์ครั้งละ 3 ชั่วโมง จนเข้าสู่เดือนมิถุนายนก็จะเพิ่มการซ้อมเป็นสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แบ่งเป็นซ้อมทั้งวง 2 ครั้งและแยกแต่ละเสียง 1 ครั้ง 
    
           นายอธิชัย ขยาความอีกว่า ในการฝึกซ้อมเด็ก เริ่มต้นวอร์มเสียง ฝึกทักษะเด็ก ร้องเพลงที่เด็กเริ่มร้องได้ ต่อเพลงใหม่ เมื่อต่อเพลงจบแล้วและเด็กร้องได้และทำได้ดีแล้ว ก็จะพยายามขัดเกลาให้สะอาด เก็บรายละเอียดมากขึ้น โดยบอกว่าจุดนั้นต้องรู้สึกอย่างไร ตรงไหนต้องร้องดัง ร้องเบาขนาดไหน ต้องเน้นตรงไหน
    
           การเลือกเพลงที่ใช้ในการแข่งขัน นายอธิชัย บอกว่า ที่ตั้งโจทย์ไว้ต้องเป็นเพลงที่ยากเกินความสามารถของเด็ก 1 เพลง เพราะเป็นเพลงที่ท้าทาย ทำให้เด็กเกิดการพัฒนาและคะแนนที่จะได้ก็จะสูงขึ้น ส่วนเพลงอื่นๆ ก็จะเป็นเพลงที่ง่ายกว่าระดับความสามารถของเด็กและอยู่ในระดับเดียวกับความสามารถซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสิน ขณะเดียวก็จะต้องมีทั้งเพลงเร็วและเพลงช้า ซึ่งต้องวางแผนว่า 1 สาขาที่แข่งขันต้องใช้ 4 เพลงจะเล่าเรื่องอย่างไรให้กรรมการรู้สึกว่าจบกระบวน ตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้าย กรรมการต้องรู้สึกว่าดูคอนเสิร์ต แต่เป็นคอนเสิร์ตที่ตัดย่อยมาเหลือแค่ 4 เพลง นี่คือความคิดหลักในการเลือกเพลง       
        
           ขณะที่ "ทะเล" อัญชิสา เฉลิมพรพงศ์ นักร้องประสานเสียง อายุ 24 ปี  บอกว่า เข้าร่วมเป็นนักร้องประสานเสียงของวงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อราว 9 ปีก่อน โดยเพื่อนสมัยมัธยมชวนเข้ามาร่วม เพราะชอบร้องเพลง แต่ที่โรงเรียนแม้จะมีวงของโรงเรียนแต่จะมีการฝึกซ้อมน้อย เฉพาะการเรียนในชั่วโมงเรียนวิชาดนตรีเท่านั้น ไม่ได้จัดเป็นคอนเสิร์ต แต่ที่ศูนย์วัฒนธรรมจะมีคอนเสิร์ตอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จึงเหมือนได้ซ้อมกับคนที่มีประสบการณ์มากขึ้น
       
           เสน่ห์ของการขับร้องประสานเสียง ทะล บอกว่า การที่ได้ร้องเพลงกับเพื่อนข้างๆ ซึ่งจะแตกต่างจากการร้องเพลงแบบอื่นที่จะร้องคนเดียว หรือร้องกับวง ทำให้เรามีความมั่นใจ กล้าร้องมากขึ้น จะได้มีเพื่อนในวงการเดียวกัน มีความชอบ มีงานอดิเรกแบบเดียวกัน คุยกันรู้เรื่อง
     
           ทะเล บอกด้วยว่า ส่วนตัวมีการซ้อมเองด้วย โดยมีการวอร์มเสียง ไล่โน้ตขึ้นลง ซึ่งตัวเองจะมีจุดอ่อนอยู่ที่เสียงกระโดด โดยอาจารย์จะให้แต่ละคนร้องเดี่ยวและชี้จุดอ่อนให้แต่ละคนว่าอยู่ตรงไหน แก้อย่างไร และต้องวอร์มเสียงแบบไหน จะเริ่มวอร์มให้ตนเองเสียงเปิด เสียงตื่นก่อน  ในการฝึกซ้อมด้วยตนเองจะร้องไม่ได้ดังเหมือนตอนซ้อมกับวง เพราะอยู่หอที่มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จึงเป็นการฟังโน้ตจากไฟล์เสียงเพลงที่อาจารย์ทำให้ และพิจารณาว่าโน้ตที่ตรงเป็นแบบไหน
    
           “การได้ร่วมแข่งขันเวทีระดับโลก เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ซึ่งไม่ได้มีโอกาสบ่อยเพราะไม่ได้เรียนสายดนตรี จึงเหมือนได้เปิดโลกทัศน์ ทำให้เห็นว่าไม่เฉพาะเราที่ทำตรงนี้และมีความสุขกับการร้องประสานเสียง แต่ยังมีคนอีกทั้งโลกที่รักสิ่งเดียวกับเรา  การแข่งขันจึงไม่ได้เป็นการแข่งขันที่ประชันกันแต่เป็นการแชร์สิ่งที่แต่ละประเทศทำให้คนทั้งโลกได้สัมผัส” ทะเล กล่าวด้วยรอยยิ้ม 
    
           ท้ายที่สุด  นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีสวธ.  กล่าวยืนยันในวันที่เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีและต้อนรับคณะนักร้องในวันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทยว่า สวธ.มีนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในการแข่งขันครั้งต่อไปอีก 2 ปีข้างหน้า หากเด็กและเยาวชนไทยมีความพร้อมก็จะส่งเข้าร่วมการแข่งขันเหมือนเดิมเพราะเป็นโอกาสที่เยาวชนจะได้แสดงความสามารถและสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย

คณะนักร้องประสานเสียง

           น.ส.เกศรินทร์ นนทะวงษ์

           น.ส.กมลวรรณ ชลารักษ์

           น.ส.เจนิตา จันทรานนท์ 

           น.ส.ฐิติภา ปลั่งพงษ์พัฯธ์

           น.ส.ณัฐรินีย์ เพลิดพราว

           น.ส.ธีรวรรณ เปรมฤทัย 

           น.ส.นฤมล กันทะ

           น.ส.นฤมล ชูจันทร์ 

           น.ส.้เบญจวรรณ จันทร์พุ่ม

           น.ส.ปานวาด เมธนิมิต

           น.ส.ปุณณาสา สีห์โสภณ

           น.ส.พัชชา สุวรรณรัตน์ 

           น.ส.พัทธ์ธีรา ไตรสุริยธรรมา

           น.ส.พิชญ์สินี มีล้อมศักดา

           น.ส.ภัทราพร ศุภสิทธิสัมฤทธิ์

           น.ส.วยุรี วรามิตร

           น.ส.ศศินภา กสิพล

           น.ส.สุชัญญา ตันวิเชียร

           น.ส.อัญชิสา เฉลิมพรพงศ์

           น.ส.อธิชา ภูริคุปต์ 

           และน.ส.อลิษา ลิ้มไพบูลย์ 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ