Lifestyle

รังสรรค์ภูมิปัญญาบนหน้าแกะสนองพระราชดำริ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รังสรรค์ภูมิปัญญาบนหน้าแกะสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช : พนัสวรรณ  โคกทอง 

           สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยสนับสนุนให้สถานศึกษาในสังกัดร่วมดำเนินกิจกรรมตามกรอบแนวทางการดำเนินของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ตามความพร้อมและศักยภาพของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการทรัพยากรไทย : หวนดูทรัพย์สิ่งสินตน ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น

           โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช : พันธุกรรมบนหน้าแกะ เครื่องมือเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาแดนใต้ซึ่งแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาอันน่าค้นหา ทั้งสิ้นล้วนเกิดจากการเคี่ยวกรำประสบการณ์มานานผ่านรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นยุคที่เครื่องจักรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเก็บเกี่ยวแล้วก็ตาม แกะก็ยังคงบทบาทหน้าที่ในการเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายของพันธุกรรม และใช้ฟันฝ่าอุปสรรคด้านสิ่งแวดล้อมในภาวะที่เครื่องจักรหรือรถเกี่ยวนวดไม่สามารถทำงานได้

           “คัชชา กาญจนจันทร์”  ผู้ดูแลโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช : พันธุกรรมบนหน้าแกะ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง เล่าว่า ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดสำหรับประวัติของแกะเก็บข้าว แต่มีการสันนิษฐานว่า ที่มาของชื่อ แกะ มาจากรูปลักษณ์ของคมแกะ เมื่อหงายขึ้นจะมีรูปลักษณ์คล้ายหน้าของแกะที่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ส่วนคำว่า หน้าแกะ หมายถึง หน่วยวัดปริมาณรวงข้าวที่เก็บได้จนเต็มกำมือของคนเก็บ ซึ่งหน้าแกะของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดนิ้วมือและมือของผู้ที่เก็บข้าว

           ในปัจจุบันชาวนาในภาคใต้ส่วนหนึ่งก็ยังคงนิยมใช้แกะในการเก็บเกี่ยวข้าว เนื่องจากในภาคใต้มีสภาพอากาศไม่แน่นอน แม้ในฤดูเก็บเกี่ยวก็สามารถเกิดฝนได้ ชาวนาภาคใต้จึงใช้แกะในการแก้ปัญหา เริ่มจากการเก็บข้าวทีละรวง แล้วมัดเป็นเลียง แม้ว่าข้าวจะล้มจมน้ำก็ยังสามารถใช้แกะล้วงไปเก็บใต้น้ำได้

           และจากการสัมภาษณ์ นายเอิบ-นางเอื่อม ขาวสุด และนางอารมณ์ จีนชาวนา  เกษตรกรวัย 70 ปี ผู้ทำแกะจำหน่าย ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต.พนมวังก์ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง มีการทำแกะมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 200 ปี แกะ ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ คมแกะ กระดานแกะ ด้ามแกะ และสลักแกะ ซึ่งจากเดิมสมัยก่อนคมแกะจะทำจากเหล็กคัดเลื่อยนำเข้าจากยุโรป แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้เหล็กม้วนที่เป็นแผ่นเหล็กกล้าคุณภาพดีจากเยอรมันแทน

           ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นโครงการที่จัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เพื่อสร้างความเข้าใจและทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ทรงมีพระราชดำริบางประการเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชว่า “การสอนและการอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจและเกิดความปีติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนที่ให้เกิดความรู้สึกกลัวว่า หากไม่อนุรักษ์จะเกิดผลเสียและเป็นอันตรายต่อตนเอง จะทำให้เกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาว”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ