Lifestyle

วิกฤติ...'รพ.รัฐ'!!!สิ่งที่คนไทยช่วยแก้ไขได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิกฤติ...'รพ.รัฐ'!!!สิ่งที่คนไทยช่วยแก้ไขได้ : พวงชมพู ประเสริฐรายงาน

           ร้อยละ 100 ของผู้ที่เคยเข้าไปยังอาคารผู้ป่วยในของโรงพยาบาลรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลประจำจังหวัดสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องคุ้นชินภาพคนไข้นอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงที่ถูกจัดวางไว้บริเวณริมระเบียงทางเดินบ้าง หน้าลิฟต์บ้าง หรือแทบจะทุกพื้นที่ เต็มไปด้วยเตียงผู้ป่วย นี่เป็นเพียงหนึ่งในวิกฤติที่โรงพยาบาลรัฐกำลังประสบอยู่เท่านั้น!!!!

           โรงพยาบาลรัฐเฉพาะที่อยู่ภายใต้สังกัด สธ.ทั่วประเทศรวม 896 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ 780 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด 116 แห่ง ซึ่งเผชิญวิกฤติแทบทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้างลดหลั่นกันไป “คม ชัด ลึก” กะเทาะวิกฤติโรงพยาบาลรัฐพบว่ามีอย่างน้อย 3 เรื่องหลัก “คนไข้ล้น เงินไม่พอ บุคลากรทำงานหนักเกิน”

           สภาพความแออัดของผู้ป่วยนอก ที่มารอรับบริการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐมากมายจนล้นโรงพยาบาล จนมีคำกล่าวติดปากกันว่า “ไปหาหมอโรงพยาบาลรัฐ รอคิวเป็นวัน ได้ตรวจ 5 นาที" ไม่แต่ผู้ป่วยนอก การใช้บริการผู้ป่วยในก็ไม่แตกต่างกัน

           ยืนยันด้วยข้อมูลเชิงสถิติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ในปี 2556 มีผู้มีสิทธิ์รักษาพยาบาลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ใช้บริการผู้ป่วยนอก 151.86 ครั้งต่อคนต่อปี และผู้ป่วยใน 0.119 ครั้งต่อคนต่อปี เทียบกับปี 2545 ผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 27.3% และผู้ป่วยใน 26.6% นี่ยังไม่นับรวมการใช้บริการของผู้ป่วยในสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ

           สอดรับกับข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า ปี 2557 โรงพยาบาลมีอัตราการครองเตียงผู้ป่วยในภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 74% แต่มีบางโรงพยาบาลและบางพื้นที่มีอัตราการครองเตียงมากกว่า 100% หมายความว่า มีคนไข้ในมากกว่าจำนวนเตียง จำเป็นต้องใช้เตียงเสริม 

           ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2558 ระบุว่า รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีอัตราการครองเตียง 131.20% รพ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น 168.12% รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ 123.79% รพ.ระยอง 113.56% และรพ.พหลพลพยุเสนา จ.กาญจนบุรี 114.71% เป็นต้น

           ที่สำคัญโรงพยาบาลรัฐยังให้บริการรักษาพยาบาลแก่แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกคน ยึดตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมคนไข้จากประเทศเพื่อนบ้านก็นิยมเข้ามาตรวจรักษา อาทิ โรงพยาบาลบางแห่งภาคอีสานใต้มีคนไข้ชาวกัมพูชาข้ามมาใช้บริการ หรือโรงพยาบาลทางฝั่งอันดามันก็มีชาวเมียนมาร์จำนวนไม่น้อยเข้ามาทำคลอด จึงเห็นโรงพยาบาลรัฐขึ้นป้ายข้อความเป็นภาษาเพื่อนบ้าน

           ประเด็นเงินไม่พอ สิ้นไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2559 นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินระดับ 7 หรือระดับวิกฤติ ประมาณ 50 แห่ง จากโรงพยาบาล 886 แห่ง แยกเป็น รพช. 44 แห่ง คิดเป็น 5.64% และ รพศ./รพท. 6 แห่ง คิดเป็น 5.66% หากเทียบกับก่อนหน้านับว่ามีแนวโน้มดีขึ้น จากที่ปีงบประมาณ 2557 มีขาดสภาพคล่องทางการเงินระดับวิกฤติ หรือระดับ 7 จำนวน 105 แห่ง

           บุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลมีชั่วโมงทำงานที่มากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดต่อคนไข้ได้ โดยผลการศึกษาเรื่อง ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค สธ. พบว่าแพทย์มีชั่วโมงการปฏิบัติงาน 94 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อีกนัยหนึ่งมีเวลาพักเพียงไม่เกิน 40% ของเวลาทั้งหมดใน 1 สัปดาห์ และใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ในการตรวจผู้ป่วยนอก

           ขณะที่สมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. (สพศท.) ระบุว่า ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ขึ้นอยู่กับจำนวนแพทย์ในแผนกด้วย เช่น ถ้ามีแพทย์ 2 คน อาจต้องทำงาน 108 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากมีแพทย์ 3 คน ทำงาน 85 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

           แน่นอนว่า การแก้ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลคงมิอาจบังคับให้คนไทยห้ามป่วย หรือเรื่องเงินไม่พอ ก็ไม่สามารถบอกให้รัฐบาลสนับสนุนงบให้เพียงพอ แต่ทางออกกรณีคนไข้ล้นโรงพยาบาลคือ การจัดตั้ง “เขตบริการสุขภาพ" แบ่งอิงตามเขตตรวจราชการ สธ.มี 12 เขต ภายใต้แนวคิด “โรงพยาบาลในเขตเดียวกันมีการบริหารทรัพยากรร่วมกัน” อาทิ รพ.หาดใหญ่ ที่เป็น รพศ.ได้กระจายคนไข้ที่อยู่ในระยะฟื้นฟูไปยัง รพ.บางกล่ำ ซึ่งเป็นรพช.และอยู่ในพื้นที่ใกล้กัน หรือรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ได้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปผ่าตัดที่ห้องผ่าตัดของ รพช.ที่อยู่ใกล้เคียง ช่วยลดปัญหาการรอคิวผ่าตัดนาน เพราะคนไข้ใน รพ.เชียงรายฯ มีจำนวนมาก แต่แนวทางนี้มีเสียงคัดค้านจากแพทย์บางกลุ่ม

           กรณีปัญหาทางการเงินได้มีการหารือกับ สปสช.เพื่อปรับเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวใหม่ จะใช้ “แบบขั้นบันได” โดยโรงพยาบาลที่มีประชากรรับผิดชอบน้อยจะได้รับงบรายหัวต่อคนต่อปีสูงกว่าโรงพยาบาลในเมืองที่มีประชากรมาก จากเดิมจะให้เท่ากันทุกแห่ง ซึ่งปีงบประมาณ 2559 อยู่ที่ 3,028.94 บาทต่อคนต่อปี จึงต้องจับตาเป็นพิเศษว่า วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 นี้ ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จะมีวาระการเลือกเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ คนนั้นจะเป็นใคร

           สำหรับชั่วโมงการทำงานของแพทย์และพยาบาลที่มากเกิน สภาวิชาชีพทั้งแพทยสภาและสภาการพยาบาลอยู่ระหว่างการกำหนดแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยแพทยสภาได้มีการยกร่างแนวทางกำหนดภาระงานแพทย์ทำงานไม่ควรเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ควรมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ และระยะเวลาเวรปฏิบัติการไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงต่อเนื่อง

           เหนืออื่นใด คนไทยมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ด้วยการดูแลป้องกันสุขภาพ “ลด ละ เลิก” พฤติกรรมเสี่ยงก่อเกิดโรคต่างๆ เพราะแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้วิกฤติโรงพยาบาลรัฐ  คนไทยทุกคนต้องร่วมกันดูแลสุขภาพของตนเองและป้องกันโรค

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ