Lifestyle

สั่งสพฐ.ปรับเพิ่มรายหัวเด็กเรียนร่วมร.ร.ปกติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ดาว์พงษ์” ถกรายจ่ายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สั่ง สพฐ.ทบทวนปรับเพิ่มรายหัวเด็กพิเศษเรียนร่วมกว่า 2 แสนคน และให้คำนวณอัตราค่าน้ำ-ค่าไฟใหม่ก่อนตัดสินใจแยกหรือไม่

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังหารือเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และผู้บริหารโรงเรียน ว่า ได้หารือร่วมกันรายการที่ต้องเก็บจากผู้ปกครองมีอะไรบ้างและมีความจำเป็นอย่างไร จากการหารือพบว่างบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กับโรงเรียนผ่านเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนนั้น ยังไม่เพียงพอทั้งในการบริหารจัดการและการพัฒนาโรงเรียน โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภค หรือค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งบางโรงเรียนที่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ ทำให้ต้องเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ปกครอง ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ไม่ได้แยกหมวดค่าใช้จ่ายดังกล่าวออกมา แต่รวมอยู่ในรายการเรียนฟรี 5 รายการในส่วนของค่าจัดการเรียนการสอน ซึ่งใช้เพื่อจ่ายค่าสาธารณูปโภคมากถึง 60% ของค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอน ดังนั้น ที่ประชุมให้ สพฐ.ไปคำนวณอัตราค่าน้ำ-ค่าไฟที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าไหร่และนำมาเสนอ เพื่อจะดูว่าจะจัดการแยกหมวดค่าน้ำ ค่าไฟ ของโรงเรียนออกมาต่างหากหรือไม่  

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้หารือถึงการดูแลเด็กพิเศษเรียนร่วมในโรงเรียนสามัญ ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 200,000 คน ได้รับเงินอุดหนุนเท่ากับเด็กปกติ ขณะที่หากเด็กไปเรียนในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ซึ่งมีอยู่ 48 แห่งทั่วประเทศ จะได้รับเงินอุดหนุนรายหัว 6,000 บาทต่อคนต่อปี มากเด็กปกติที่ได้รับอยู่ประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อปี  ดังนั้นที่ประชุม จึงให้สพฐ. ไปคำนวณและจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มให้แก่เด็กพิเศษที่เรียนอยู่ในโร เรียนปกติ ในอัตราเดียวกับเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ 

ทั้งนี้ ได้มอบให้สพฐ. ไปทบทวนระบบคัดกรอง เด็กยากจน ที่ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 40,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี ใหม่ เนื่องจากที่ที่ผ่านสพฐ.รับข้อมูลเด็กยากจนจากทางโรงเรียน ที่แจ้งมาว่า มีเด็กกลุ่มนี้สูงถึง 4 ล้านคน จากนักเรียนในสังกัดสพฐ. ที่มีทั้งหมดกว่า 8 ล้านคน  ทำให้เข้าใจว่าเงินตรงนี้ถูกนำไปใช้กับเด็กที่มีฐานะดีด้วย ดังนั้นต้องมีการจัดระบบใหม่ โดยให้สพฐ.ไปวางแนวทางที่เหมาะสม

“ทางโรงเรียนยังขอให้รัฐจัดสรรเพิ่มคือ เงินอุดหนุนการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เช่น การจัดกิจกรรมตามโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ อาทิ ค่าทัศนศึกษา  การยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งโรงเรียนต้องจ้างครูต่างประเทศ ค่าจ้างครูและบุคลากรเพิ่มเติม เบื้องต้นให้ สพฐ.เกลี่ยอัตราจ้างที่มีอยู่กว่า 10,000 อัตรา รวมถึงเกลี่ยครู ที่บางโรงเรียนมีครูเกิน ขณะที่บางโรงเรียนมีครูขาด เพื่อลดปัญหาอัตราจ้าง โดยจะให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)มาช่วยดู ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนครูและลดอัตราจ้างของโรงเรียน  ทั้งนี้ ในส่วนของค่าจ้างครูต่างประเทศ ผมอาจจะเสนอต่อขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มในหมวด 6 ซึ่ง เมื่อ ศธ. เข้ามาดูแลในเรื่องนี้แล้ว ผมหวังว่าต่อไปจะส่งผลให้ต่อไปการเก็บเงินบำรุงการศึกษาจากผู้ปกครองเป็นไป อย่างสมเหตุสมผล และต้องลดลงจากเดิม ขณะที่ โรเรียนขนาดเล็กก็สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่เด็กได้ อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องเก็บเงินเพิ่มจากผู้ปกครองอีก”พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ