Lifestyle

‘ครูตู้’ฝึกนร.ตรงต่อเวลามีวินัยมาสาย-อดเรียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ครูตู้’ฝึกนร.ตรงต่อเวลามีวินัยมาสาย-อดเรียน : สราวุฒิ ประทุมชัน  

“สพฐ.มีการประเมินโครงการครูตู้นี้ทุกปี โดยดูการเปลี่ยนแปลงที่ครู นักเรียน วิธีการเรียนการสอน และความเปลี่ยนแปลงของโรงเรียน จะเห็นได้ชัดเจนได้ง่ายในโรงเรียนขนาดเล็ก โดยจะเห็นได้ว่า เด็กมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะเขาต้องตรงต่อเวลา เนื่องจากครูตู้นั้นมาเป็นช่วงเวลา หากมาช้าก็จะเรียนไม่ทัน จนทำให้ติดเป็นนิสัยของนักเรียน ซึ่งการตรงต่อเวลานั้นเป็นผลดีสำหรับหลายๆ เรื่อง นักเรียนมีความสนใจและมีความสนุกสนานกับการเรียนเพิ่มมากขึ้น เพราะมีกิจกรรมให้นักเรียนได้ร่วมเล่นสนุกอยู่เสมอ เช่น การให้นักเรียนเต้นออกกำลังกาย หรือร้องเพลงในต้นชั่วโมงเรียน ถือได้ว่าโครงการนี้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น และจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี” อนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด “ครูตู้สัญจรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบรอบ 70 ปี"

พร้อมตรวจเยี่ยมผลสัมฤทธิ์ของครูตู้ และเพื่อให้นักเรียนปลายทางได้แสดงเคารพและความกตัญญูต่อครูต้นทางจากโรงเรียนวังไกลกังวล และนำเสนอผลงานห้องเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม มีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 6 โรงเรียน โดยจัดขึ้น ณ โรงเรียนบ้านโป่งกุ่ม อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการขยายผลการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมทั้งระบบไปยังโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศจำนวน 15,369 แห่ง โดยรับสัญญาณการจัดการเรียนการสอนจากโรงเรียนวังไกลกังวล มาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ซึ่งส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และมีโรงเรียนต้นแบบใน จ.เชียงใหม่ จำนวน 6 โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการนำ ดีแอลทีวี มาใช้ในการจัดการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนบ้านโป่งกุ่ม โรงเรียนบ้านน้ำริน โรงเรียนบ้านศรีดอนชัย โรงเรียนบ้านฟ่อน โรงเรียนบ้านแม่ลอง โรงเรียนบ้านโรงวัว 

โรงเรียนบ้านโป่งกุ่ม เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนเพียง 40 คน มีข้าราชการครู 4 คน ครูอัตราจ้าง 3 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน ลูกจ้างประจำ 1 คน และนายสุริยน สุริโยดร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโป่งกุ่ม มีการเปิดสอนในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ดีแอลทีวี ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 6 ขั้นตอนสำคัญในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ตั้งแต่ขั้นเตรียมการสอนขั้นจัดการเรียนการสอน 

“สุริยน” อธิบายการเรียนการสอนของโรงเรียนว่า ครูนำเข้าสู่บทเรียนเพื่อเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่แก่นักเรียน ให้สามารถเข้าใจเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดรับสัญญาณการออกอากาศการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จากสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมและปฏิบัติกิจกรรมตามโรงเรียนต้นทาง มีการกำกับ ดูแล สังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน

ครูแนะนำอธิบายเพิ่มเติมตามความจำเป็น และในกรณีครูต้องสอนมากกว่า 1 ห้องเรียนในเวลาเดียวกัน หรือมากกว่า 1 วิชา ก็ได้ศึกษากิจกรรมตามแผนการจัดการเรียนรู้อย่างละเอียด เพื่อเป็นวางแผนการใช้เวลาในการหมุนเวียน สับเปลี่ยนการกำกับดูแลห้องเรียนได้อย่างเหมาะสม ต่อจากนั้นขั้นสรุปโดยครูและนักเรียนร่วมกันสรุปบทเรียน สาระสำคัญจากการเรียนแต่ละครั้ง 

พร้อมมีการวัดผลและประเมินผล เมื่อกิจกรรมการเรียนการสอนสิ้นสุดลงในแต่ละครั้ง แต่ละหน่วยการเรียนรู้ เพื่อให้ทราบว่าผลการเรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด แล้ววิเคราะห์เพื่อปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาต่อไป 

“บุญรักษ์ ยอดเพชร” ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อธิบายนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนดีแอลทีวี ที่เป็นจุดเด่นของโรงเรียน คือ มีการ Pre-Post Note บันทึกการจัดการเรียนรู้ก่อนและหลังเรียน เครื่องมือที่ช่วยให้ครูได้เตรียมการสอนล่วงหน้าและช่วยปรับปรุงซ่อมเสริมการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน และมีจอทีวี และไวท์บอร์ดเคลื่อนที่ ชุดจอทีวีที่มีกระดานไวท์บอร์ดติดคู่กัน ช่วยให้คุณครูสามารถบันทึกเขียนข้อความ ตัวเลข ประโยค หรืออื่นๆ ที่ต้องการเน้นย้ำให้นักเรียนได้ทันทีขณะกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน 

ครูตู้เป็นครูพระราชทานโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงพระอัจฉริยภาพและมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล พระราชทานการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 21 ปี โดยเป็นการถ่ายทอดการเรียนการสอนจากโรงเรียนวังไกลกังวลให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนครู ผ่านหน้าจอโทรทัศน์เพื่อเด็กนักเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกลหลายแห่งของประเทศไทย ที่ยังไร้ซึ่งโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน นำมาซึ่งคำที่เด็กๆ เรียกกันสั้นๆ ว่า “ครูตู้” โดยจะเผยแพร่ภาพเป็นการถ่ายทอดสด 1 ช่องต่อ 1 ชั้นเรียน 

สำหรับโรงเรียนบ้านโป่งกุ่มเข้าร่วมโครงการนี้ เมื่อปี 2557 เทอม 2 โดยปัญหาที่พบในช่วงแรกๆ คือ การเตรียมเนื้อหาไม่ทัน เอกสารหรือใบงานบางอย่างไม่ได้แจ้งล่วงหน้า อุปกรณ์การสอนไม่เหมือนกัน จึงต้องปรับเปลี่ยนและประยุกต์สิ่งของมาใช้สอนแทน โดยปัจจุบันมีการติดต่อผ่านทางกลุ่มของอาจารย์ทั้งทางเฟซบุ๊ก หรือทางไลน์เพื่อความสะดวก สิ่งที่อยากได้คือสมาร์ททีวี เพื่อที่จะสามารถดึงข้อมูลจากทางอินเทอร์เน็ตเข้ามาในทีวีได้เลย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่กว้างและมากขึ้นกว่าเดิม ที่อยู่นอกเหนือตำราเรียนในช่วงเวลาการเรียนเพิ่มเติม สนใจเยี่ยมโรงเรียนสอบถามได้ที่ โทร.0-5338-9159​

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ