Lifestyle

วิถีเกษตรกรรม 'เชี่ยวเหลียง' การผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : วิถีเกษตรกรรม 'เชี่ยวเหลียง' การผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ : โดย...รัชตะ มารัตน์

 
                    เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่ประเทศไทยมีทิศทางเกี่ยวกับการจัดการผลผลิตทางด้านการเกษตร ที่ดูเหมือนจะเพียงเพื่อการค้ากำไรในระบบการแข่งขัน มากกว่าที่จะคำนึงถึงความยั่งยืน ไม่มีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และลดการพึ่งพาจากนโยบายหรือภายนอกชุมชน
 
                    แต่ที่เกิดขึ้นกับ ต.เชี่ยวเหลียง นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง
 
                    บุญจักร สงคราม กำนันตำบลเชี่ยวเหลียง และประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเชี่ยวเหลียง พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาฯ ประกอบด้วย สุริโย ยอดสังวาล คณิต พรหมบุตร และ เครือวัลย์ สงคราม เล่าให้ฟังว่า ต.เชี่ยวเหลียง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง พบจุดเปลี่ยนที่สำคัญหลังมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเชี่ยวเหลียง ภายใต้พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 โดยเมื่อ พ.ศ.2557 สภาฯ และพี่น้องประชาชนในตำบลได้ร่วมกันวิเคราะห์พื้นที่ และตั้งธงคำถามใน 2-3 ประเด็น คือ “ปาล์มและยางที่ปลูกกันอยู่อะไรคุ้มค่ากว่ากัน ถ้าผลผลิตที่ออกมาพี่น้องในตำบลจะบริหารจัดการกันเองได้หรือไม่ จะสร้างความปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพี่น้องได้อย่างไร ?”
 
                    เมื่อสภาฯ สามารถตกผลึกแนวความคิดดังกล่าวได้แล้ว จึงได้ทำข้อเสนอเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ภายใต้โครงการ “เศรษฐกิจและทุนชุมชน”
 
 
วิถีเกษตรกรรม 'เชี่ยวเหลียง' การผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ
 
 
                    ในครั้งแรกที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเข้ามา สภาฯ ได้ดำเนินการออกสำรวจข้อมูลไปยังทุกภาคส่วนในตำบล พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจในกระบวนการของสภาฯ และพบนัยสำคัญประการหนึ่ง คือ การทำเกษตรกรรมในระยะสิบปีให้หลัง พี่น้องเกษตรกรประสบปัญหาผลผลิตที่มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการแข่งขัน และกลไกราคาตลาด พี่น้องมีความต้องการผลผลิตครั้งละมากๆ จำเป็นที่ต้องใช้สารเคมีจำนวนมากไปด้วยเช่นกัน รวมไปถึงสุขภาพของพี่น้องเองก็ดูจะไม่ค่อยดีนัก ค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับปุ๋ยยาก็สูงตามไปด้วย
 
                    และแม้พี่น้องเชี่ยวเหลียงจะปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลัก แต่เมื่อสำรวจข้อมูลแล้ว ปาล์มน้ำมันกลับสร้างรายได้ต่อปีที่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบโดยประมาณ กับราคาระดับกลางโดยเฉลี่ยในพื้นที่ 10 ไร่ ยางพาราให้มูลค่าอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท ส่วนปาล์มน้ำมันให้มูลค่าได้สูงถึง 30,000 บาทต่อเดือน (ขึ้นอยู่กับราคาตลาด และสภาพต้นผล) ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยมาจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่ใน 1 ปี คนเชี่ยวเหลียงจะสามารถกรีดยางพาราได้แค่ประมาณ 60 วัน เนื่องจากเป็นพื้นที่พาดผ่านของลมมรสุม มีฝนตกตลอดทั้งปี เมื่อเทียบกับปาล์มน้ำมันที่สามารถเก็บผลผลิตได้ในทุกๆ 15 วัน ผนวกไปกับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ในร่องสวน เพื่อรอเก็บผลผลิตไปด้วย อาทิ ผักเหลียง ข่า และตะไคร้
 
                    เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปเสนอให้พี่น้องในตำบลได้รับทราบแล้ว ก็มีความเห็นพ้องต้องกัน ที่คนในตำบลน่าจะมีการบริหารจัดการทรัพยากรของตนเอง อย่างเป็นระบบ เบื้องต้นคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยเห็นรูปธรรม โดยการปรับปรุงตลาดกลางสินค้าเกษตรที่รกร้างว่างเปล่า ให้กลายเป็นลานเทปาล์ม และตลาดสินค้าเกษตรพื้นบ้านปลอดสารเคมีของชุมชน ควบคู่ไปกับการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการกลุ่มเกษตรกรสวนปาล์มน้ำมัน โดยได้ไปศึกษาดูงานยังสถานที่ต่างๆ เพื่อนำรูปแบบ วิธีการมาปรับใช้ เช่น การดูงานกลุ่มสหกรณ์สวนปาล์มน้ำมัน ที่ จ.กระบี่ และ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
 
                    ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการยกร่างระเบียบ เบื้องต้นจะมีการระดมทุนจากกลุ่มต่างๆ รวม 4 หมู่บ้าน และกลุ่มจาก ต.บ้านนา รวมแล้วประมาณ 120 ราย เข้ามาเป็นสมาชิก โดยจะให้ผลประโยชน์แก่เกษตรกรมากกว่าแค่การขายกับลานเทปาล์มในปัจจุบัน อาทิ การให้ปันผลช่วงสิ้นปี การให้ราคาที่เป็นธรรม โดยคาดว่าจะเปิดรับสมัครสมาชิกในอัตรารายละ 5 หุ้น หุ้นละ 100 บาท แต่ไม่เกิน 2,000 หุ้น ผลกำไรที่ได้จะแบ่งสรรปันส่วนตามเงื่อนไขที่กำหนด
 
 
วิถีเกษตรกรรม 'เชี่ยวเหลียง' การผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ
 
 
                    ยกตัวอย่าง การจัดสรรรายได้ที่เกิดขึ้น ร้อยละ 100 ต่อปี แบ่งสำหรับการลงทุนใหม่ ร้อยละ 25 แบ่งคืนสมาชิก ร้อยละ 50 ออมทรัพย์ ร้อยละ 5 ค่าตอบแทนคณะกรรมการ ร้อยละ 10 รวมทั้งการจัดสวัสดิการสังคม และสาธารณประโยชน์ต่างๆ ของตำบล อีกร้อยละ 10 และที่สำคัญคือการนำผลกำไรมาลดต้นทุนการผลิตจากสารเคมี เปลี่ยนเป็นการทำปุ๋ยหมักใช้เองภายในตำบล และการส่งขายไปยังพื้นที่ใกล้เคียงในอนาคต
 
                    สำหรับการปรับปรุงลานเทปาล์มชุมชน สุริโย กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล จำนวน 1,060,000 บาท ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตำบลละ 5 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการใน 2 ลักษณะ คือ การปรับปรุงสภาพพื้นที่ และการซ่อมบำรุงเครื่องชั่งให้มีมาตรฐาน
 
                    ทั้งนี้ สภาองค์กรชุมชนตำบลเชี่ยวเหลียง ยังมีกิจกรรมอื่นเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าการปลูกพืชหลายชนิด แทนการปลูกพืชเพียงชนิดเดียวตามการส่งเสริมของรัฐที่ผ่านมา จะสามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่า อาทิ การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแซมปาล์มน้ำมัน และยางพารา ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมได้สูงถึงปีละ 40,000 บาท เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรในการทำปุ๋ยหมักเพื่อลดต้นทุน ฯลฯ
 
                    วงสนทนากล่าวว่า องค์ความรู้ และแนวความคิดดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในตำบล โดยเฉพาะเกษตรกรได้รับรู้ในข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะลงทุนในการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน มากกว่าที่จะเชื่อมั่นในนโยบายรัฐเพียงด้านเดียว ซึ่งในบางครั้งอาจดูไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งการมีชุดประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยนำสิ่งที่หาได้ในพื้นที่มาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต และการตระหนักถึงการสร้างความปลอดภัยทั้งในพื้นที่ตนเองและพื้นที่ข้างเคียง ที่มักเห็นข่าวการปนเปื้อนสารเคมีในระบบเกษตร ที่ไหลลงตามแม่น้ำลำคลอง เกิดเป็นปัญหาครอบคลุมหลายสิบตำบล
 
 
วิถีเกษตรกรรม 'เชี่ยวเหลียง' การผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ
 
 
                    นี่เป็นเพียงกรณีศึกษาด้านหนึ่งของตำบล ที่พี่น้องประชาชนสามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในตำบลได้อย่างเป็นระบบ ภายใต้การสำรวจข้อมูลและประเมินความเป็นไปได้ รวมทั้งไม่อาศัยการพึ่งพารัฐเพียงด้านเดียว แต่สามารถนำข้อมูลไปสู่การจัดการ เพื่อทดแทนรายได้หลัก ลดระบบพึ่งพาการผลิตจากภายนอก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรมีราคาสูง เป็นผลระยะยาวในการเกิดภาระหนี้สินที่ไม่สามารถชำระคืนได้ นำไปสู่การสูญเสียที่ดินทำกินในอนาคต
 
                    หลักคิดของตำบล จึงนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรใน 3 ปัจจัย คือ คุณภาพผลผลิต คุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภคในระดับครัวเรือน ชุมชน ออกไปสู่ภายนอก และสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับหลักคิดในวิสัยทัศน์ของประเทศ ปี พ.ศ.2558- 2563 คือ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สอดคล้องกับร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่จะใช้กันในปี พ.ศ.2560 ในแนวทางการพัฒนาด้านเกษตรกรรมสู่ความเป็นเลิศด้านอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภาคเกษตร เร่งพัฒนา และขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ซึ่งนั่นหมายถึงระบบการผลิตที่ปลอดภัยตั้งแต่ระดับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จนไปถึงมือผู้บริโภค ความยั่งยืนในวิถีชีวิต และวิธีการผลิตของเกษตร ประการหนึ่งด้วยเช่นกัน
 
                    อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ข้างต้น แม้ประชาชนจะสามารถจัดการระบบข้อมูลตำบล ไปสู่การจัดการเชิงนโยบายได้ก็ตาม แต่ในปัจจุบันความผันผวนเชิงนโยบายรายวันก็ยังมีให้เห็น การที่จะทำให้ประชาชนเข้มแข็ง ก็ควรส่งเสริมให้รู้จักการจัดการตนเองตั้งแต่ระดับฐานรากด้วยเช่นกัน การส่งเสริมให้เกษตรกรรู้เท่าทันกลไกราคา กลไกตลาด รวมทั้งองค์ความรู้ต่างๆ ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการทำเกษตรแบบผสมผสาน ก็น่าจะเป็นโจทย์ที่รัฐควรจะรับฟังเกษตรกรให้มากกว่าที่เป็นอยู่
 
                    รวมทั้งไม่ฟังความเฉพาะบุคลากรแถวหน้าในการให้ข้อมูลที่ไม่สะท้อนข้อเท็จจริงในแต่ละบริบทที่ต่างกันของชุมชน ยังไม่นับรวมถึงปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินทำกิน ที่พี่น้องประสบอยู่เกินครึ่งตำบล ซึ่งข้อมูลระบุว่า พี่น้อง ต.เชี่ยวเหลียง มีสิทธิในที่ดินทำกินอย่างถูกต้องและมั่นคงเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น และก็น่าจะสะท้อนได้เช่นกันว่า ถ้าชาวบ้านคิดจะรวมตัวกันเอง คิดจะจัดการพืชผลอย่างเป็นระบบ พวกเขาคงไม่ได้เป็นนายทุนรุกที่ดินเพื่อทำลายทรัพยากรแต่ประการใด แต่เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันในฐานะอาสินของคนทั้งตำบลมากกว่า จริงมั้ย?
 
 
 
----------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : วิถีเกษตรกรรม 'เชี่ยวเหลียง' การผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ : โดย...รัชตะ มารัตน์)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ