Lifestyle

ธรรมนูญท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บทเรียนแห่งพลังความร่วมมือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากมิติเวทีทัศน์ : 'ธรรมนูญท้องถิ่น' ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บทเรียนแห่งพลังความร่วมมือ : โดย...โอฬาร อ่องฬะ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)

 
                    พื้นที่ ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ตั้งอยู่ในขอบเขตของ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ติดต่อกับชายแดนไทย-เมียนมาร์ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นคนไทยใหญ่ คนพื้นเมือง คนไทยเชื้อสายจีน เมียนมาร์ ลีซู ลาหู่ ปกาเกอะญอ ที่อาศัยร่วมกันมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันในทางกายภาพจะพบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ โอบล้อมไปด้วยภูเขาสูง ซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองในหุบเขา โดยสถานภาพทางกฎหมาย ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2504 โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งห้วยน้ำดังและอุทยานแห่งชาติผาแดง
 
                    ในสถานการณ์ปัจจุบัน พื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ก็เป็นหนึ่งในหลายๆพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อพึ่งตนเองไปสู่ระบบเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องพึ่งพากลไกการตลาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจ พืชพลังงาน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ไร้ทิศทาง โครงการพัฒนาขนาดใหญ่จากภาครัฐ เอกชน ที่ทะลักเข้ามาในพื้นที่อย่างรวดเร็ว
 
                    ในขณะที่แนวทางการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ ในที่ดินทำกิน พื้นที่ป่าของรัฐ ก็ไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร ส่งผลให้ชุมชน รู้สึกถึงความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและระบบการผลิต จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในการจัดการพื้นที่ป่าระหว่างชุมชนกับชุมชน ชุมชนกับรัฐ ขณะเดียวกันกลไกของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในระดับนโยบายในอดีตที่ผ่านมาเองก็ไม่มีความชัดเจน ไม่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง รวมถึงการขาดกระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชาวบ้าน ภาคส่วนต่างๆ ในระดับท้องถิ่น
 
 
ธรรมนูญท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บทเรียนแห่งพลังความร่วมมือ
 
 
                    ภายใต้สถานการณ์ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กระบวนการจัดการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาไม่อาจจัดการได้โดยลำพังหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
 
                    จากความพยายามและความร่วมมือผ่านกระบวนการปฏิบัติของภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ได้อาศัยแนวทางปฏิบัติผ่านการใช้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (แก้ไขปี 2546) ในการแต่งตั้งให้เกิดกลไกการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์จากที่ดินขึ้น
 
                    การรวบรวม สำรวจ ข้อมูลรายแปลง การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า ที่มีความหลากหลาย ทั้งบทบาทของผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการและผู้นำที่เป็นทางการร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ จนนำไปสู่การยอมรับในข้อเท็จจริงร่วมกันในระดับพื้นที่ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในเชิงนโยบาย บนข้อเท็จจริงที่เป็น “รูปธรรม” จากพื้นที่
 
                    บทเรียนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่า แนวทางในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีองค์ประกอบและกระบวนการที่หลากหลาย ทั้งภาคประชาชน องค์กรชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน องค์กรทางศาสนา รวมถึงภาครัฐในระดับปฏิบัติการ ในลักษณะของแนวทางการจัดการร่วม (Co-Management Approach) ที่เข้ามาเป็นกลไกร่วมที่สำคัญ
 
 
ธรรมนูญท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บทเรียนแห่งพลังความร่วมมือ
 
 
                    โดยมุ่งเน้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงการทำงาน รวมไปถึงการออกแบบปฏิบัติการที่มีความหลากหลายเพื่อให้เกิดรูปธรรมในการจัดการและแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำแตงตอนบน จากการดำเนินการที่ผ่านมานั้น กลไกของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน ซึ่งเป็นเครือข่ายของภาคประชาชน กลายเป็นพลังหลักสำคัญที่ลุกขึ้นมารวมกลุ่มในการดูแล ปกป้อง รวมถึงแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากร โดยสร้างการเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รวมถึงประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแดง
 
                    จากบทเรียนการขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ได้สะท้อนผ่านการจัดงาน “เสียงจากคนต้นน้ำแตง บทเรียนความร่วมมือกับทิศทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" โดยจัดขึ้นที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24-25 เมษายน 2559 โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะยกระดับขีดความสามารถ กลไกความร่วมมือของเครือข่าย ไปสู่การปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากร ในระดับอำเภอ กับภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน การพัฒนาข้อเสนอขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการและแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย
 
                    ที่สำคัญได้มีการประกาศ “ธรรมนูญท้องถิ่น ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน” ของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนและภาคีในระดับท้องถิ่น ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ คือมีเจตจำนงร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ที่จะเข้ามาสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชน เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้เกิดพลังในการสร้างแนวทางใหม่ๆ ในการจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน อันประกอบด้วย
 
                    1.การใช้หลักสิทธิชุมชนและธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ให้เข้ามาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการร่วมอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและความยั่งยืน ในการจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟู ป้องกันรวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
 
ธรรมนูญท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บทเรียนแห่งพลังความร่วมมือ
 
 
                    2.พัฒนาและยกระดับกลไกความร่วมมือในการบูรณาการการทำงานของขบวนองค์กรชุมชน ภาคประสังคม สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ให้เกิดพลังในการบริหาร จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
                    3.พัฒนาข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อให้เกิดกลไกและกติกาในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในระดับท้องถิ่น ให้สอดคล้อง เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่
 
                    และ 4.พัฒนาแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับอำเภอ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่นโยบายสาธารณะในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด
 
                    จากแนวทางในการประกาศธรรมนูญท้องถิ่น ของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงนั้นเอง จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย ควรที่จะหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา ที่จะนำไปสู่การสร้างจินตภาพชุดใหม่ในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย กติกาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบริบททางสังคม การเมืองต่อไป
 
 
 
----------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : 'ธรรมนูญท้องถิ่น' ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บทเรียนแห่งพลังความร่วมมือ : โดย...โอฬาร อ่องฬะ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ))
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ