Lifestyle

เปิดใจ'อธิการบดีจุฬาฯ'คนใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดใจ'อธิการบดีจุฬาฯ'คนใหม่ : รายการ คม ชัด ลึก

             ปัญหาใหญ่การศึกษาของบ้านเราคือ คนภายนอกมองเข้ามาในสถาบันการศึกษาแล้วจะคิดว่า สิ่งที่เรียน สิ่งที่สอน รวมถึงงานวิจัย ล้วนแล้วแต่ขึ้นหิ้ง ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงกับสังคมไทย ความท้าทายนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของสถาบันการศึกษา ไม่เว้นแม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศไทย ที่ในปีหน้าจะมีอายุครบ 100 ปีเต็ม จุฬาฯ จึงมีการเตรียมปรับองค์กร เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้น เมื่อค่ำวันที่ 20 พฤษภาคม รายการ “คม ชัด ลึก” จึงได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ของ สุทธิชัย หยุ่น ที่ปรึกษาฝ่ายบริหารและกองบรรณาธิการเครือเนชั่น กับอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนใหม่

             ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีใหม่ งานชิ้นแรกต้องดูว่า ในสังคมข้างนอกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เราต้องย้อนกลับมาดูภายในของจุฬาฯ คนของเรา ระบบของเรา เปลี่ยนแปลงทันหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าคิด ถ้าภายใต้ระบบเดิมเปลี่ยนแปลงไม่ทัน เพราะฉะนั้นความท้าทายอยู่ที่ว่า เราจะมาเปลี่ยนคนของเรา ระบบของเรา ให้ไล่ทันการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นเรื่องท้าทาย

             จุฬาฯ มีบุคลากรที่มีความสามารถอยู่เยอะ ภายในจุฬาฯ มีทรัพยากรใช้ได้ สิ่งที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรจะทำให้จุฬาฯ ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนหน่วยงานหนึ่งของสังคมไทย โดยเฉพาะภาครัฐ ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนของเรามีความรับผิด รับชอบ สำคัญที่สุด คนเก่งต้องรู้ว่า วันนี้สถานการณ์ของเราเป็นอย่างไร

             เรื่องการปรับทัศนคติ อยู่ที่การกระทำ จะทำอย่างไรให้จุฬาฯ อยู่ใกล้ชิดกับสังคม มีกิจกรรมอะไรที่จะนำจุฬาฯ ออกสู่สังคม หรือนำสังคมเข้าหาจุฬาฯ ซึ่งมีทั้งสองทาง

             การนำจุฬาฯ ออกสู่สังคม ทำได้ง่าย เพราะเราคุมของเราเอง เพราะฉะนั้นคนของเราต้องมีกิจกรรม ต้องมีองค์ความรู้ มีสถานที่ต่างๆ ที่จะเป็นจุดเชื่อมให้จุฬาฯ กับสังคมอยู่ใกล้ชิดกัน ต้องหันกลับมาดูตัวเองว่า จุฬาฯ มีอะไรอยู่ แน่นอนว่า เราใช้จุฬาฯ เป็นฐานที่มีคนดี คนเก่งอยู่เยอะ ใช้ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น เสร็จแล้วสังคมมองเห็นก็เข้ามาร่วม เรามีกระบวนการเชื้อเชิญให้สังคมเข้ามาร่วม

             นวัตกรรม ต้องอาศัยคน นวัตกรรมแตกต่างจากสิ่งประดิษฐ์ เพราะสิ่งประดิษฐ์ทำตามใจฉัน คนจะใช้หรือไม่ ไม่เป็นไร

             ขณะที่ นวัตกรรม ทำออกมาแล้วต้องมีคนใช้ ที่สำคัญคนใช้แล้วต้องลดความหงุดหงิด ทำให้สบายขึ้น

             สถานที่อยากจะเห็นที่สวนหลวง ที่มีการสร้างอุทยานจามจุรี ซึ่งจะเสร็จในปีหน้า โดยจุฬาฯ จัดสรรพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ จะเป็นสถานที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้ได้ สถานที่แห่งนี้จะมีคนหลายๆ ศาสตร์ ความสนใจที่หลากหลายมาพบกัน จะกลายเป็นสังคมอุดมปัญญา จุดนี้จะเชื่อมโยงกับความรู้ เชื่อมโยงกับนิสิต อาจารย์ของจุฬาฯ ที่อยู่ในคณะต่างๆ ได้

             กระบวนการเรียนการสอนของเราแบบเดิมก็ต้องมีนวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน ที่จะทำอย่างไรให้นิสิตจุฬาฯ พัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่

             จุดที่ทำให้จุฬาฯ แตกต่างจากหลายๆ แห่งก็คือ การมีนิสิตเก่าเข้ามาร่วมด้วย เข้ามาร่วมขับเคลื่อน คึกคักมาก นวัตกรรมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดขึ้นแบบไร้ทิศทาง แล้วไปวัดดวงในอนาคต

             สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้เล็งว่าจะต้องขยับทีเดียวทั้งหมดในจุฬาฯ ต้องมีกองหน้า มีคนที่แอ็กทีฟ ผมไม่หวังมากแค่ 10% คนที่แอ็กทีฟในวันนี้มีอยู่ในจุฬาฯ เป็นจำนวนมาก

             เรื่องนวัตกรรม หรือเรื่องของการพัฒนาองค์ความรู้ในปัจจุบัน เราไม่ได้ต้องการศาสตร์เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งปักหลักลงลึกมาเป็นเวลานานแล้ว วันนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องเชื่อมโยงศาสตร์เหล่านี้เข้าด้วยกัน คิดว่าจุฬาฯ มีพร้อม

             จุฬาฯ จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลก ขยับอันดับจากปัจจุบัน จุฬาฯ ต้องไม่ทิ้งสังคมไทย ไม่ทิ้งปัญหาไทย

             จุฬาฯ ต้องมุ่งเน้นสร้างสรรค์องค์ความรู้ และนวัตกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนสังคมไทย เพื่อผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับโลกที่ดีขึ้น

             การบริหารจุฬาฯ ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ