Lifestyle

แอลกอฮอล์ อาชญากรรม และการปฏิรูปตำรวจ(ไทย)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากมิติเวทีทัศน์ : แอลกอฮอล์ อาชญากรรม และการปฏิรูปตำรวจ(ไทย) : โดย ... ภญ.อรทัย วลีวงศ์

 
                    เหตุการณ์อาชญากรรมและความรุนแรงจากแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่หัวหิน ในช่วงสงกรานต์ และกรณีล่าสุดที่กลุ่มวัยรุ่น 6 คนรุมทำร้ายคนส่งขนมปังจนเสียชีวิต มีข้อสังเกตที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการมึนเมาสุราทั้งของผู้ก่อเหตุหรือเหยื่อว่า ตำรวจไทยให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยส่งเสริมพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์หรือการเข้าถึงแอลกอฮอล์กับปัญหาเหล่านี้มากแค่ไหน...
 
                    นี่อาจจะเป็นหนึ่งในการปฏิรูปตำรวจไทยอีกเรื่องหนึ่งไหม? เพราะจากที่ได้ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องของต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าหน่วยงานตำรวจในประเทศทางยุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลียนั้น ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการป้องกันปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมาก ทั้งตำรวจในระดับประเทศและในพื้นที่
 
                    เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจัยที่ก่อปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงนั้น เป็นเรื่องซับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย และไม่ใช่ทุกคดีความรุนแรงที่จะเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ และไม่ใช่คนเมาทุกคนที่จะไปก่อเหตุหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคม แต่ก็มีข้อมูลวิชาการชี้ว่า จำนวนและความรุนแรงในสังคมเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ และมีข้อมูลยืนยันว่าจำนวนของร้านจำหน่ายแอลกอฮอล์กับจำนวนคดีอาชญากรรม ความหนาแน่นและการกระจายตัวของร้านเหล้ามีรูปแบบเกี่ยวข้องกับการกระจายตัวของจุดเกิดเหตุอาชญากรรม
 
                    ตลอดจนเวลาการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบันเทิง เชื่อมโยงกับสถิติช่วงเวลาการเกิดอาชญากรรม เช่น การทำร้ายร่างกาย การทะเลาะวิวาท การทำลายข้าวของและทรัพย์สินสาธารณะ และอุบัติเหตุจราจรจากการเมาแล้วขับ หลายประเทศนั้นได้จัดตั้งแผนกพิเศษในสถานีตำรวจเพื่อทำงานด้านปัญหาจากเหล้าโดยเฉพาะ เพราะปัจจัยเหล่านี้ “เป็นปัจจัยที่ป้องกันและควบคุมได้” ซึ่งมีสองบทบาทที่เห็นชัดเจนของตำรวจต่างประเทศในประเด็นแอลกอฮอล์กับปัญหาอาชญากรรม (โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับตำรวจไทย)
 
                    ประเด็นแรก คือ บทบาทการบังคับใช้กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ ไม่น่าเชื่อว่าตำรวจในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ก็ยังเลือกใช้วิธีธรรมดาๆ อย่างการใช้เด็กไปล่อซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามร้านค้าต่างๆ หากร้านค้าไหนขายให้ก็จับปรับกันไปตามระเบียบ และยังออกตรวจสม่ำเสมอตลอดทั้งปี
 
                    ตัวอย่างที่นำเป็นกรณีศึกษาได้ดีก็คือ กรณีที่ตำรวจที่ออสเตรเลียออกตรวจการณ์ตามปกติและเจอกลุ่มเด็กวัยรุ่นถือเบียร์ซึ่งถุงของซูเปอร์มาร์เก็ตเชนสโตร์ชื่อดังจึงเข้าไปตรวจสอบ พบว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ตำรวจจึงตามไปตรวจสอบร้านค้าต่อ พนักงานร้านอ้างว่า ได้ตรวจสอบบัตรประชาชนแล้วแต่วัยรุ่นคนดังกล่าวได้อ้างว่าทำกระเป๋าตังค์หาย จึงขอโชว์รูปใบขับขี่จากมือถือโดยไม่รู้ว่าเป็นรูปปลอมและไม่รู้ว่ากฎหมายกำหนดให้ตรวจสอบจากบัตรจริงเท่านั้น งานนี้พนักงานคนดังกล่าวถูกส่งไปอบรมเรื่องวิธีการและระเบียบการจำหน่ายแอลกอฮอล์ใหม่ ร้านค้าก็ถูกดำเนินคดีด้วยโทษฐานจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี ถูกปรับพร้อมสั่งให้ปิดร้านเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งอาจจะดูว่าแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่หากนับเป็นมูลค่ายอดขายแล้วเดือนนี้ห้างก็ขาดรายได้ไปไม่น้อย แถมเสียชื่อเสียงจากข่าวทีออกมาอีก (อ่านข่าวเพิ่มเติม )
 
                    ย้อนกลับมาดูประเทศไทย ซึ่งมีกฎหมายห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่จะมีร้านเหล้าสักกี่ร้านที่ตรวจบัตรประชาชนกรณีมีวัยรุ่นมาซื้ออย่างจริงจัง ทั้งที่ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุราก็รายงานชัดว่าเด็กไทยกว่าร้อยละ 80 สามารถซื้อแอลกอฮอล์ได้ แต่จะมีตำรวจสักกี่พื้นที่ที่ออกตรวจสอบหรือดำเนินคดีกับร้านค้าที่ผิดกฎหมาย คงไม่ต้องถามถึงกรณีที่มีเยาวชนดื่มและเมาสุราแล้วไปก่ออาชญากรรม ร้านค้าเหล่านั้นจะเข้ามารับผิดชอบอย่างไร
 
 
แอลกอฮอล์ อาชญากรรม และการปฏิรูปตำรวจ(ไทย)
 
 
                    ตำรวจที่อเมริกาทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานออกใบอนุญาตขายเหล้า (เทียบได้กับสรรพสามิตในเมืองไทย) มีแผนและระบบการเก็บข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มของผู้ก่อเหตุ รวมถึงข้อมูล “สถานที่ดื่มสุดท้าย” ของทุกคดีที่มีคนเมาเป็นผู้ก่อเหตุ พอสิ้นปีก็จะมีการวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อระบุพื้นที่เสี่ยง ระบุประเภทคดีเชื่อมกับแหล่งจำหน่ายในพื้นที่ หากสรรพสามิตไทยเพิ่มบทบาทในการช่วยลดปัญหาสังคมจากแอลกอฮอล์อย่างต่างประเทศด้วยการเข้มงวด เรื่องสถานที่จำหน่ายและการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราก็จะสร้างคุณูปการในการจัดการปัญหาสังคมจากภัยสุราไม่มากก็น้อย
 
                    โดยมีการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงหรือ “ผู้ร้าย” ที่ซ่อนอยู่หลังเหตุการณ์คือ ผู้ร้ายที่ชื่อ “แอลกอฮอล์” ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจใหญ่มูลค่าสูงและอิทธิพลมาก จึงต้องเพิ่มการจัดการที่ปัจจัยเหล่านี้ มีการจำกัดการค้าการทำการตลาด การเข้าถึง เป็นหนทางเสริมควบคู่กับมาตรการอื่นๆ เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรง ฝากตำรวจไทยและสังคมไทยพิจารณาปฏิรูปอย่างจริงจังด้วยเถิด
 
                    ประเด็นที่สอง คือ การมีแผนการป้องกันปัญหาอาชญากรรมด้วยการควบคุมปัจจัยแอลกอฮอล์ มีข้อมูลความสำเร็จของจำนวนและความรุนแรงของอาชญากรรมลดลง เป็นผลมาจากการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ทำให้ตำรวจหลายประเทศเลือกที่จะมีแผนป้องกันด้านนี้ นอกเหนือการจับกุมดำเนินคดีภายหลังที่เกิดเรื่องขึ้นแล้ว
 
                    ตัวอย่างเช่น ตำรวจที่อเมริกาทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานออกใบอนุญาตขายเหล้า (เทียบได้กับสรรพสามิตในเมืองไทย) มีแผนและระบบการเก็บข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มของผู้ก่อเหตุ รวมถึงข้อมูล “สถานที่ดื่มสุดท้าย” ของทุกคดีที่มีคนเมาเป็นผู้ก่อเหตุ พอสิ้นปีก็จะมีการวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อระบุพื้นที่เสี่ยง ระบุประเภทคดีเชื่อมกับแหล่งจำหน่ายในพื้นที่ (ข้อมูลเพิ่มเติม ) และที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน คือการสั่งปิดกิจการของสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง เพราะพบว่าเป็นมีความเกี่ยวข้องสูงกับอุบัติการณ์อาชญากรรมในพื้นที่ (อ่านข่าวเพิ่มเติม) )
 
                    นอกจากนั้น ยังมีตัวอย่างเป็นเรื่องราวที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์วัยรุ่นรุมทำร้ายคนส่งขนมปังจนเสียชีวิต ซึ่งที่ต่างประเทศทุกครั้งที่มีคนบริสุทธิ์ถูกทำร้ายเสียชีวิตด้วยเหตุไม่สมควร มักจะเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นที่สนใจของสังคม บ่อยครั้งที่ชีวิตสูญเสียไปต้องเป็นบทเรียนและนำมาซึ่งแนวทางแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันอีก
 
                    เช่นเดียวกับกรณีนี้ที่เมืองซิดนีย์ มีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ถูกคนเมาข้างถนนทำร้ายจนเสียชีวิตขณะกำลังเดินทางกลับบ้านหลังจากไปฉลองกับเพื่อน เหตุการณ์ครั้งนี้คนร้ายโดนจำคุกสิบปี แต่ครอบครัวเด็กอยากให้การสูญเสียได้เป็นอุทาหรณ์และเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานแก้ไขอย่างจริงจัง พร้อมแรงสนับสนุนจากชุมชนและสังคม ผลสุดท้ายได้นำมาซึ่งการเข้มงวดของกฎหมายควบคุมการจำหน่ายแอลกอฮอล์ของร้านค้าและร้านบริการในพื้นที่ สถานบริการกลางคืน (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กฎหมายล็อกเอาท์”) โดยร้านเหล้าต้องหยุดจำหน่ายตอนสี่ทุ่ม และพวกผับบาร์หรือสถานบันเทิงห้ามรับลูกค้าเพิ่มเติมตอนตีหนึ่งครึ่ง และให้ห้ามบริการแอลกอฮอล์หลังจากตีสาม ตั้งแต่การสูญเสียครั้งนั้นปี 2012 การผลักดันกฎหมายนี้มีมาอย่างต่อเนื่องต่อสู้กับเจ้าของธุรกิจบันเทิงพักใหญ่ แต่ในที่สุดก็มีการบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2559 โดยกำลังมีอีกหลายรัฐในประเทศออสเตรเลียที่กำลังพิจารณาใช้กฎหมายนี้ในพื้นที่ (อ่านข่าวเพิ่มเติมที่นี่ http://www.news.com.au/national/crime/time-goes-so-fast-yet-stands-still-thomas-kellys-dad-on-life-after-his-son-was-killed-by-a-cowards-punch/news-story/3c70103baedbc12d1c32f4819a4fe6ff)
 
                    ท้ายสุด ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง รวมทั้งอุบัติเหตุนั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสังคม บ่อยครั้งที่การจัดการปัญหาจบอยู่ที่การลงโทษผู้ก่อเหตุเท่านั้น จะดีไม่น้อยหากผู้เกี่ยวข้องยกระดับการแก้ปัญหาไปมากกว่าการลงโทษเป็นรายคดี โดยมีการวิเคราะห์ ปัจจัยเสี่ยง หรือ “ผู้ร้าย” ที่ซ่อนอยู่หลังเหตุการณ์ คือ ผู้ร้ายที่ชื่อ “แอลกอฮอล์” มีการจัดการที่ปัจจัย “แอลกอฮอล์” เป็นหนทางเสริมควบคู่กับมาตรการอื่นๆ ฝากตำรวจไทย และสังคมไทยพิจารณาปฏิรูปอย่างจริงจังด้วยเถิด
 
 
 
----------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : แอลกอฮอล์ อาชญากรรม และการปฏิรูปตำรวจ(ไทย) : โดย ... ภญ.อรทัย วลีวงศ์ นศ.ปริญญาเอก ด้านผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ