Lifestyle

เป็นครู24ชั่วโมง'ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เป็นครู24ชั่วโมง'ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ' : เปิดวิสัยทัศน์ โดยชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี

             “จากเด็กหนุ่มที่มีความฝันในอาชีพวิศวกร แต่ด้วยเส้นทางหรือชะตาชีวิตทำให้ต้องเปลี่ยนมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นครู 24 ชม.วันนี้ ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และหัวหน้าฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้จัดตั้งโครงการใฝ่ดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาการเงิน สร้างคน ให้เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต

             “โครงการนี้จะพิจารณาเด็กใฝ่ดีจากการใช้ชีวิต มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ทัศนคคติมุมมอง “คิดดี ทำดี พูดดี” โดยตัวโครงการจะช่วยในเรื่องของการแนะเรื่องของการใช้ชีวิต การเรียนไม่ใช่อุปสรรคในการดำเนินชีวิต หาทุนให้นักศึกษา แต่นักศึกษาต้องรู้คุณค่าของเงิน ต้องทำงานแลกกับเงิน หางานพิเศษเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนให้แก่นักศึกษา เพื่อสอนให้นักศึกษารู้ถึงคุณค่าของเงิน บวกกับคุณธรรมและจริยธรรม โดยนักศึกษาทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตให้นักศึกษาคนอื่นๆ ในวันข้างหน้า”  ดร.กุลชาติ กล่าว

             เพราะตอนเรียนไม่มีเงินเรียน ต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ส่งผลต่อการเรียนแน่นอน เพราะว่าเรียนสายวิศวะ บางวันเลิกค่ำบางวันเลิกบ่าย แต่เงินที่ใช้เรียนยังไม่พอ ต้องวิ่งหาทุนการศึกษา ช่วงนั้นคณะมีทุนพัฒนาบุคลากรของคณะวิศวะ โดยมีเงื่อนไขของทุน จบมาต้องเป็นอาจารย์ให้แก่ทางคณะ แต่ความฝันคืออยากจะเป็นวิศวกรมากกว่า เพราะว่าเงินเดือนเยอะ แต่เพื่อการเรียนจึงตัดสินใจรับทุน “ตอนนั้นคิดว่าจะเป็นอาจารย์สัก 6 ปี หมดทุนแล้วจะไปเป็นวิศวกร”

             เริ่มบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์ช่วยห้องปฏิบัติการปี 2543 เงินเดือนคือ 6,300 บาท โดยส่งให้แม่ 3,000 บาท เพื่อส่งให้น้องเรียนและใช้จ่ายของแม่ ส่วนอีก 3,000 บาท ที่เหลือใช้จ่าย บอกตรงๆ ว่าเงินไม่พอใช้จ่ายแม้กระทั่งเงินที่จะเช่าห้องอยู่ ตอนนั้นหอพักก็ไม่มี “กินนอนในที่ทำงาน” ตอนนั้นคิดว่าเมื่อไรเงินเดือนจะเยอะขึ้นบ้าง ซึ่งอาจารย์ชลิตเป็นอาจารย์ที่นับถือและคอยให้คำปรึกษาตั้งแต่เข้ามาเรียนที่ มทร.ธัญบุรี แนะนำว่าต้องปรับวุฒิถึงจะเป็นอาจารย์ประจำวิชาได้ ถ้ายังไม่ศึกษาต่อจะเป็นได้แค่ตำแหน่งอาจารย์ช่วยห้องปฏิบัติ “ต้องคุมนักศึกษาตั้งแต่เช้าจนถึง 5 โมงเย็นยืนคุมจนเป็นตาปลา รู้สึกว่ามันลำบากมากเราจะทำยังไง ถึงจะได้เงินเดือนขึ้นเร็วๆ ในระยะเวลา 6 ปี”

             การปรับวุฒิ คือ ต้องศึกษาต่อ ดังนั้นการศึกษาต่อต้องขอทุน สิ่งที่ตามมาคือสัญญาผูกมัดเพิ่มขึ้นมาอีก เมื่อได้คิดใคร่ครวญดีแล้วจึงตัดสินใจเรียนในระดับปริญญาโท โดยเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระหว่างที่เรียนปริญญาโท มีการทำวิจัย การทำวิจัยคือช่องทางของการหารายได้เพิ่มจากเงินเดือนที่ได้ เป็นนักวิจัยควบคู่ไปด้วย เพื่อหารายได้เสริมจากการวิจัย เป็นนักวิจัยปริญญาโทไม่พอ ต้องเรียนต่อปริญญาเอก ซึ่งตอนนั้นอาจารย์บอกว่าถ้าปริญญาเอกในเมืองไทยจบยาก จึงตัดสินใจว่าถ้าจะเรียนต่อปริญญาเอกยังต่างประเทศ โดยขอรับทุนจากทางมหาวิทยาลัย เข้าศึกษาระดับปริญญาเอก Nippon Institute of Technology, Japan

             หลังจากสำเร็จการศึกษา ชีวิตของการเป็นครูเริ่มขึ้น เนื่องจากไม่ได้จบสายวิชาชีพครูมา ตอนที่มาสอนแรกๆ จะสอนตามตำราเรียน บรรยากาศในห้องเรียนน่าเบื่อมาก มีอาการแบบง่วงเหงาหาวนอน เข้าใจนักศึกษาว่าถ้าสอนแบบนี้ เป็นการทำร้ายนักศึกษา ดังนั้นจึงปรับการสอนใหม่ “โดยเอาใจของตนเองไปใส่ใจเด็ก พยายามที่จะขั้นเวลาโดยการยกตัวอย่าง ใส่ประสบการณ์ชีวิตตัวเองลงไปบ้าง เรียกเด็กมาทำกิจกรรมหน้าห้อง มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระหว่างเรียนบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะพยายามยกตัวอย่างประสบการณ์ตัวเองมากกว่า” เป็นข้อได้เปรียบเนื่องจากชีวิตตนเองผ่านอะไรมามากมาย สอนเนื้อหาทั้งหมดของหนังสือ และเอาประสบการณ์ชีวิตจริงที่ตัวเองสัมผัสมา หรือว่าที่ตัวเองเคยผ่านมาถ่ายทอดให้แก่นักศึกษา

             “เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นมุมมอง หนังสือคุณไปอ่านเอาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ประสบการณ์คุณไม่รู้จะไปอ่านที่ไหน” จากการสังเกตนักศึกษา นักศึกษาให้ความสนใจประสบการณ์จริงมากกว่าเนื้อหาที่ตนเองนำมาสอน “ที่สำคัญจะตรวจงานของเด็กทุกคน งานทุกชิ้นต้องผ่านตา เพราะฉะนั้นเด็กทำอะไรผิดพลาดจะเรียกไปแก้จนกว่าจะถูก ต้องมีความเข้มงวด เมื่อเราให้โอกาสเด็กเราต้องมีเวลาให้แก่เด็ก”

             สำหรับเคสหนักสุดคือกรณีที่เด็กไม่มาเรียน เป็นปัญหาหนักมาก เพราะว่าไม่มาเรียนจะเรียนรู้เรื่องได้อย่างไร สุดท้ายผลการเรียนเด็กแย่ หรือไม่มีสิทธิ์เข้าสอบ และต้องพ้นสภาพนักศึกษา

             “อาจารย์หลายคนคิดว่ามันเป็นกรรมของเด็ก แต่สำหรับผมมองว่าเด็กมีปัญหาอะไรเด็กทำอะไรถึงได้เป็นอย่างนี้” การแก้ปัญหาคือเรียกเด็กเข้าคุย ถ้าตามเจ้าตัวไม่ได้ ตามจากเพื่อนในห้อง สอบถามถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น บางสาเหตุมาจากครอบครัว “ครอบครัวบังคับให้มาเรียน พ่อแม่บางคนเลี้ยงลูกด้วยเงิน ลูกต้องการเงินเท่าไหร่ให้อย่างเดียวแต่ไม่สนใจว่าเด็กเป็นอย่างไงบ้าง เพราะว่าพ่อแม่คิดว่าตัวเองเรียนน้อยกว่าลูกก็ไม่รู้ว่าจะแนะนำลูกยังไง แต่จริงๆ แล้วพ่อแม่มีวิธีแนะนำลูกหลายอย่างแต่พ่อแม่ไม่รู้จะแนะนำอย่างไร บางรายที่โทรไปหาพ่อแม่ และแจ้งว่าลูกจะพ้นสภาพรับได้ไหม ทำใจได้ไหม พ่อแม่บางคนถามกลับมาว่าคุณครูโทรมา จะให้ทำยังไง จึงนัดทั้งตัวลูกและพ่อแม่รวมทั้งตัวเองมาพูดคุยกันแล้วคุยต่อหน้าลูก เมื่อสร้างความเข้าใจทั้งสามฝ่าย”

             ผลลัพธ์ของเงื่อนไขทั้งหมด คือ โอกาส แต่จะให้โอกาสมันต้องมีการพิสูจน์ จึงตัดสินใจให้วิธีที่เลือกมาใช้ การให้นักศึกษาคัดลายมือด้วยคำพูดง่ายๆ ว่า

             “ต่อไปนี้ผมจะตั้งใจเรียนจะทำให้พ่อแม่ภูมิใจในตัวผม” ให้ได้ 1 บรรทัดจบ และให้เขียนมาทั้งสมุด 1 เล่ม ทุกหน้าทุกบรรทัด ถามว่าทำไปเพื่ออะไร “เพื่อให้เขาฝึกจดจำ ในสิ่งที่มุ่งมั่นไว้ คือพูดมันง่าย แต่ถ้าทำครั้งเดียวมันก็ไม่จดจำต้องฝึกให้ลงมือ”

             “ครูคือผู้ให้ ให้ทั้งความรู้ ให้ทั้งโอกาส และให้อภัย” อาชีพของครูไม่ได้มีเวลาจากเช้าถึง 5 โมงเย็น แต่ต้องเป็นครู 24 ชั่วโมง บางทีเด็กที่มีปัญหาส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาแค่ในห้องเรียนอย่างเดียว มีปัญหาเรื่องชีวิต ร่วมไปถึงปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาขึ้นมาตัวเด็กจะวิ่งหาครูก่อน หรือครูอาจจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของการช่วยแก้ปัญหา เพราะก่อนหน้าคงวิ่งหาเพื่อน หรือครอบครัวไปแล้ว แต่คงไม่มีใครช่วยเหลือได้

             “ดังนั้นเด็กจะคาดหวังว่าครูคงจะช่วยได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ คงไม่วิ่งหาครู เมื่อเด็กวิ่งมาหาแล้วครูต้องอ้าแขนต้อนรับ ปฏิเสธไม่ได้ ครูเหมือนตัวกลางด่านสุดท้ายให้เด็กผ่านพ้นปัญหาตรงนั้นได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของครูค่อนข้างหนักมาก แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยไปเมื่อไหร่ มันเหมือนเป็นการส่งบาป ดังนั้นเคยได้รับโอกาสจากครูมา จะทำให้เด็กคนหนึ่งมีอนาคตให้ได้ การสอนเด็ก ต้องสอนด้วยใจใช้สมองไม่ได้ เพราะว่าสมองของเด็กสู้สมองของคนเป็นครูไม่ได้ ต้องใช้ใจสัมผัสเด็กอย่างเดียว เมื่อให้ใจของเรา เขาก็ให้ใจเรากลับมา ให้ความเชื่อใจเขา เขาก็จะให้ความเชื่อใจเรากลับคืนมา”

             ล่าสุด ได้จัดตั้งโครงการเด็กใฝ่ดี มทร.ธัญบุรี ต้องการที่จะสร้างคน ให้เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต ผู้สนใจร่วมช่วยเหลือนักศึกษาโครงการ เด็กใฝ่ดี มทร.ธัญบุรี โดยร่วมสมทบทุน ชื่อโครงการเด็กใฝ่ดี มทร.ธัญบุรี ธ.กรุงศรีอยุธยา สาขา มทร.ธัญบุรี เลขที่บัญชี 453-136037-8 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08-3915-5954 หรือทางเฟซบุ๊ก kunlachart junlapen นอกจากนี้ทางโครงการยังได้จัดทำสติกเกอร์ไลน์ เพื่อนำรายได้สมทบทุนเข้าโครงการ ผู้สนใจสามารถโหลดสติกเกอร์ครีเอเตอร์ชื่อ เด็กใฝ่ดี

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ