Lifestyle

ทรัพยากรที่สมบูรณ์คือฐานชีวิต เสียงสะท้อน 'ประมงพื้นบ้านโลก'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ทรัพยากรที่สมบูรณ์คือฐานชีวิต เสียงสะท้อน 'ประมงพื้นบ้านโลก' : โดย...ประกาศ เรืองดิษฐ์ ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)

 
                    บทบาทของประมงขนาดเล็กทั่วโลก มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และความมั่นคงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศและการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายของทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ที่ผ่านมากลุ่มประมงพื้นบ้านทั่วโลก ต่างเผชิญปัญหาการดำรงชีวิต และไม่ได้รับการใส่ใจอย่างจริงจังและเป็นธรรม
 
                    การใช้ทรัพยากรด้านประมงที่เกินกว่ากำลังของกระบวนการผลิตทางธรรมชาติ มีการใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างความสมดุล ปัญหาเกิดมาจากสาเหตุของการขาดการควบคุมอย่างเอาจริงเอาจัง การขาดความรู้ในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งกำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลก จึงทำให้ชาวประมงขนาดเล็กในทุกภูมิภาคของโลกมารวมตัวกันทำงาน เพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลของการพัฒนาที่มุ่งเน้นการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ขาดธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ
 
 
ทรัพยากรที่สมบูรณ์คือฐานชีวิต เสียงสะท้อน 'ประมงพื้นบ้านโลก'
 
 
                    พวกเขารวมตัวในนาม “คณะกรรมการประสานงานประมงพื้นบ้านโลก” (The Coordinating Committee of the World Forum of Fisher Peoples) หรือที่เรียกว่า ดับเบิลยูเอฟเอฟพี และจัดประชุมประจำปีไปแล้วระหว่างวันที่ 23 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2559 ที่ประเทศไทยมีสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยร่วมประชุมในฐานะกรรมการด้วย
 
                    เรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีเอฟ) อธิบายถึงความเป็นมาของคณะกรรมการประสานงานประมงพื้นบ้านโลกว่า “ประมงพื้นบ้านทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความสมบูรณ์ของทรัพยากรที่ลดลง ทำให้มีวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ความสมบูรณ์ของทรัพยากรคือฐานชีวิต ฐานวัฒนธรรมของชาวประมงพื้นบ้าน ปัญหาเกิดจากมีการจับสัตว์น้ำเกินกว่ากำลังการผลิตของธรรมชาติ ชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กจึงได้มารวมกันทำงานเพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น โดยร่วมกันทำงานมากว่า 15 ปีแล้ว ที่ได้พยายามศึกษา รวมทั้งเสนอข้อตกลงในการทำประมงทั่วโลก ซึ่งประมงพื้นบ้านขนาดเล็กของไทยก็เข้าร่วมในคณะกรรมการนี้ด้วย”
 
 
ทรัพยากรที่สมบูรณ์คือฐานชีวิต เสียงสะท้อน 'ประมงพื้นบ้านโลก'
 
 
                    สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เกิดจากชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรของทะเล สะมะแอ เจ๊ะมูดอ ประธานสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย อธิบายถึงการความเป็นมาขององค์กรว่า “มีการร่วมกันตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 เป้าหมายคือ รวมตัวกันเพื่อหาเพื่อนแลกเปลี่ยนความรู้ มีการรวมกลุ่มกันในทุกจังหวัดภาคใต้ยกเว้นยะลา มีการทำงานร่วมกัน มีการวิเคราะห์นโยบายร่วมกัน การรวมตัวกันจากกลุ่ม เป็นชมรม เป็นสมาพันธ์ จนถึงวันหนึ่งเรามองว่าเราต้องมีตัวตนที่เป็นทางการมากขึ้น จึงจดทะเบียนเป็นสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย งานที่ทำก็จะเป็นการฟื้นฟูทะเล มีการพัฒนาแหล่งทุนของตนเอง และสุดท้ายก็พัฒนาผลิตภัณฑ์และมาตรฐานสินค้าของประมงพื้นบ้านเป็นสัตว์อินทรีย์ และให้สังคมได้มีทางเลือกในการซื้อสินค้า ส่วนหนึ่งเราก็ได้ทำงานร่วมกับประมงโลกในการขับเคลื่อนการทำงานไปด้วยกัน เพราะปัจจุบันนี้การสื่อสารก็ทำให้โลกเราเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น การขับเคลื่อนร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่ง่ายและสำคัญมาก”
 
                    องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ได้ให้ความสำคัญในการทำงานกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน เพื่อสร้างความยั่งยืนในการทำประมงที่ใช้เครื่องมือหลากหลายชนิด ทำการประมงแบบเฉพาะเจาะจงในการจับสัตว์น้ำตามฤดูกาล ครอบคลุมทุกกิจกรรมตามห่วงโซ่คุณค่าอาหารทั้งก่อนและหลังการจับทรัพยากรสัตว์น้ำ
 
                    เรวดี ประเสริฐเจริญสุข ในฐานะนักพัฒนา องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่เข้าไปช่วยทำงานกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน กล่าวถึงการทำงานร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในการทำ “กรอบแนวทางการขับเคลื่อนตามความสมัครใจ เพื่อสร้างหลักประกันความยั่งยืนประมงขนาดเล็กในบริบทของความมั่นคงด้านอาหารและการขจัดความยากจน” (วีจีเอสเอสเอฟ) ว่าเป็นการได้รับฉันทานุมัติอย่างเป็นทางการโดยประเทศสมาชิกขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนตุลาคม 2557 หลังจากที่ขบวนการประมงขนาดเล็กทั่วโลกได้ร่วมกันขับเคลื่อนในนามดับเบิลยูเอฟเอฟพีมาอย่างยาวนาน กรอบแนวทางนี้ได้รับการพัฒนาโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมและปรึกษาหารือกันระหว่างผู้แทนชุมชนประมงขนาดเล็ก องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างภูมิภาคและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ
 
 
ทรัพยากรที่สมบูรณ์คือฐานชีวิต เสียงสะท้อน 'ประมงพื้นบ้านโลก'
 
 
                    “การรวมตัวกันของประมงพื้นบ้านมากกว่า 15 ปี ที่ได้พยายารมสร้างข้อตกลงในการทำงานโดยการสนับสนุนของเอฟเอโอ ได้คำนึงถึงข้อพิจารณาและหลักการที่สำคัญอย่างกว้างขวาง รวมถึงความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ การมีส่วนร่วมและการให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมด้วย ความน่าเชื่อถือและการใช้กฎหมาย และหลักการด้านสิทธิมนุษยชน แนวปฏิบัติเหล่านี้จะเสริมต่อหลักปฏิบัติด้านจริยธรรม กฎหมายและความตกลงระหว่างประเทศในการทำประมงอย่างรับผิดชอบ”
 
                    ในขณะที่ สะมะแอ เจ๊ะมูดอ ประธานสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เห็นว่าที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับภาครัฐเป็นอย่างดี หลังจากที่เรียนรู้ร่วมกันแล้วว่า ทรัพยากรในทะเลเสื่อมโทรมและร่อยหรอ ดังนั้นจึงมีการฟื้นฟูและปกป้องทะเล นอกจากนี้ก็ยังมองไปที่การพัฒนาผลผลิตของชาวประมงให้มีมาตรฐานมากขึ้น ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันที่ยังเป็นอุปสรรคใหญ่คือ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ มีมาตรา 34 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ที่ได้รับการทำประมงพื้นบ้าน ห้ามออกทำการประมงนอกชายฝั่ง
 
                    “ณ วันนี้สามไมล์ทะเลที่เคยได้มาอาจจะเหลือเพียงสามพันเมตรหรือไม่ถึง ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับวิถีประมงพื้นบ้าน เพราะว่าการทำประมงพื้นบ้านนั้นขึ้นกับอยู่กับชนิดของเครื่องมือ และการอาศัยอยู่ของสัตว์น้ำแต่ละชนิด ปลาแต่ละชนิดก็อยู่ในความลึกของทะเลแตกต่างกัน การออกไปจับสัตว์น้ำก็มีระยะแตกต่างกัน ปัญหาเรื่องเรือประมงผิดกฎหมายที่ห้ามใช้อวนรุน ก็มาใช้อวนลาก ทำให้กลายเป็นถูกกฎหมายขึ้น การทำลายก็คงเดิม ไม่ได้ลดลงเลย”
 
 
ทรัพยากรที่สมบูรณ์คือฐานชีวิต เสียงสะท้อน 'ประมงพื้นบ้านโลก'
 
 
                    กรอบแนวทาง วีจีเอสเอฟเอฟ เป็นเรื่องที่องค์การประมงขนาดเล็กทั่วโลกร่วมมือกันพัฒนามากว่า 8 ปี เริ่มมาจากปฏิญญากรุงเทพฯ และมีการนำเสนอให้เอฟเอโอพัฒนาแนวทางในการแก้ปัญหา กรอบนี้ทำให้เห็นตัวตนของประมงพื้นบ้าน เกิดการรับรองสิทธิและให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนกันของประมงพื้นบ้าน ที่มีสัดส่วนการสร้างผลผลิตสัตว์น้ำมากประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิตสัตว์น้ำโดยรวมที่จับกันได้ทั่วโลก อีกทั้งยังสร้างและทำให้เกิดการจ้างงานมากถึงร้อยละ 90 ของชาวประมงและแรงงานภาคประมงในโลก
 
                    กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมงส่วนใหญ่ เป็นกิจกรรมในระดับครอบครัวและระดับชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชายขอบในการพัฒนา การสร้างหลักประกันและเพิ่มการมีส่วนร่วมของชาวประมงขนาดเล็กถือเป็นประเด็นท้าทาย ด้วยยังมีข้อจำกัดมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความยากจนในกลุ่มประมงขนาดเล็ก ที่มีรากฐานซับซ้อนในหลากหลายมิติ แนวทางการทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรประมงทั่วโลก ที่เป็นผลมาจากการปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมหลายฝ่าย บนหลักการและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับทั่วกัน
 
                    จึงเป็นคำถามคำตอบที่รอการตัดสินใจและปฏิบัติการของทุกฝ่ายร่วมกัน
 
 
 
---------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ทรัพยากรที่สมบูรณ์คือฐานชีวิต เสียงสะท้อน 'ประมงพื้นบ้านโลก' : โดย...ประกาศ เรืองดิษฐ์ ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.))
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ