Lifestyle

'เมียนมาร์' ภาคประชาสังคม ในกระแสเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากมิติเวทีทัศน์ : เยือน 'เมียนมาร์' ศึกษาบทบาทภาคประชาสังคม ในกระแสเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย : โดย...สาวิตรี รักษาสิทธิ์

 
                    “พม่า” หรือ “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์” ถือเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่เป็นอันดับที่ 40 ของโลก มีพรมแดนติดต่อกับหลายประเทศ อีกทั้งยังมีเขตการปกครอง 7 รัฐและ 7 เขต ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และมีสถานการณ์ความรุนแรงของความขัดแย้งมายาวนาน
 
                    แต่ภายในประเทศก็ยังมีแง่มุมที่สำคัญให้เห็น เช่น การก่อตั้งองค์กรภาคประชาชนที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาชน ทั้งองค์กรด้านผู้หญิง Yaung Chi Thit, Htoi Gender Organization รวมถึงองค์กรที่จับตาด้านการเมือง Open Myanmar Initiative, 88 Generation และสภาเยาวชนแห่งชาติ National Youth Congress
 
                    องค์กรทั้งหมด จึงเน้นการทำงานจากฐานชุมชน สิ่งสำคัญมีการถ่ายทอดแนวคิด อุดมการณ์จากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่อย่างน่าสนใจเพื่อนำไปสู่การมีประชาธิปไตยด้วยความอดทนและเข้มแข็ง
 
                    ล่าสุด มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ นำคณะไปศึกษาดูงาน ทำให้เกิดแนวคิดและแรงบันดาลใจในการทำงานภาคประชาสังคม รวมถึงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในแง่มุมต่างๆ
 
 
\'เมียนมาร์\' ภาคประชาสังคม ในกระแสเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย
 
 
                    น.ส.คิน ลา ผู้อำนวยการองค์กรด้านผู้หญิง (yaung chi thti) ประเทศเมียนมาร์ ได้ถ่ายถอดภารกิจประสบการณ์การทำงานไว้อย่างน่าสนใจ “ก่อนหน้านี้ มีอาชีพเป็นทนายความ แต่เมื่อมองเห็นปัญหาการเอารัดเอาเปรียบของคนในสังคม โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง จึงทำให้ตัดสินใจเข้ามาทำงาน แรกๆ ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มาก่อน ถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติต่อผู้หญิงในด้านลบ ความเสมอภาคความเท่าเทียมยิ่งไม่ต้องพูดถึง อีกทั้งปัญหาคอร์รัปชั่นการใช้อำนาจเปลี่ยนผิดเป็นถูกมีมากขึ้น ที่สำคัญตัวเองอยากทำงานเพื่อสังคม”
 
                    น.ส.คิน ลา ระบุว่า ที่เมียนมาร์มีองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมนับร้อยองค์กร แต่มีเพียงไม่ถึงสิบองค์กรเท่านั้น ที่ทำงานด้านสิทธิความเสมอภาค องค์กรเราก่อตั้งขึ้นปี 2009 เน้นให้เกิดสิทธิเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย และนำไปสู่การยกระดับนโยบายต่างๆ เน้นยุทธศาสตร์การทำงาน คือพัฒนาคนรุ่นใหม่รวมถึงสร้างพลังผู้หญิงในมิติด้านต่างๆ และสร้างการรับรู้ด้านงานรณรงค์ อบรมทักษะพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสาร การปฏิบัติ นำองค์ความรู้ลงสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มสตรีในชุมชน เช่น ทำปุ๋ย เลี้ยงวัว ปลูกผัก ผลิตภัณฑ์งานพื้นเมืองจากฝีมือผู้หญิง
 
                    “องค์กรได้รับการตอบรับ จึงเริ่มขยายทั้งหมด 17 แห่ง จากรัฐยะไข่ สู่รัฐคะฉิ่น คะย้า อิระวดี มัณฑะเลย์ มอญ ฯลฯ นอกจากนี้เรายังเน้นให้ผู้หญิงใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้นำ ขณะเดียวกันพยายามผลักดันร่างกฎหมายป้องกันและคุ้มครองความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งขณะนี้ยังคงค้างอยู่ในสภา หวังอย่างยิ่งว่า แผน 10 ปีข้างหน้า ศักยภาพของผู้หญิงจะครอบคลุมในทุกด้าน เช่น สุขภาพ การจ้างงาน สิทธิมนุษยชน การศึกษา เกิดศูนย์การเรียนรู้ในด้านต่างๆ ดึงศักยภาพของผู้หญิงออกมาให้มีอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้”
 
                    น.ส.โมนิก้า ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาบทบาทหญิงชาย ประเทศเมียนมาร์ กล่าวถึงภารกิจและการทำงานขององค์กรที่อยู่ในพื้นที่รัฐคะฉิ่น ว่า มูลนิธิเริ่มก่อตั้งปี 2005 แต่เริ่มทำงานมาก่อนหน้านี้กว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากมีอุปสรรคหลายด้านกว่าจะสามารถจัดตั้งมูลนิธิได้ ทั้งนี้เราเน้นการสร้างพลังสร้างบทบาทให้แก่ผู้หญิง และความเสมอภาคเท่าเทียม เพื่อนำไปสู่สันติภาพ บวกกับแนะแนวทางด้านการศึกษา การสร้างอาชีพสร้างรายได้ จัดกิจกรรมรณรงค์ด้านต่างๆ พัฒนาศักยภาพให้รู้เท่าทันต่อสถานการณ์ มีการสร้างและขยายเครือข่ายในระดับพื้นที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะนี้มีการทำงานร่วมกันทั้งหมด 4 รัฐ
 
 
\'เมียนมาร์\' ภาคประชาสังคม ในกระแสเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย
 
 
                    “เชื่อว่ากิจกรรมสร้างความตระหนัก สร้างจิตสำนึกบทบาทความเท่าเทียมหญิงชายจะทำให้เปลี่ยนแปลงสังคมได้ ที่สำคัญทางมูลนิธิเน้นยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกับผู้ชาย โดยขยายลงสู่ชุมชนเป็นหลัก ใช้จุดบวกของความเป็นชายมาช่วยรณรงค์ และฝึกอบรมความปลอดภัยให้แก่ผู้หญิง และเราจะนำนโยบายต่างๆ เสนอต่อรัฐบาล..."
 
                    เธอระบุด้วยว่า ส่วนที่ยังเป็นอุปสรรคคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งความปลอดภัยด้านต่างๆ ยังมีน้อย และรัฐคะฉิ่นยังอยู่ห่างไกลจากพื้นที่มาก และเมื่อเกิดปัญหาหรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้หญิงจะหวาดกลัว ไม่กล้าเอาผิดหรือแจ้งความ ซึ่งมูลนิธิต้องให้คำปรึกษากระบวนการทางกฎหมาย และหาสถานที่ปลอดภัยให้ รวมถึงประสานองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งต่อด้วย
 
                    ด้าน น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สะท้อนมุมมองจากการลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า ชาวเมียนมาร์ยังมีปัญหาความรุนแรงต่อครอบครัว หรือความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก เหมือนของประเทศไทย โดยมีแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ โดยเฉพาะของรัฐฉาน สถานการณ์ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ค่อนข้างรุนแรง และทำให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน ผู้หญิงถูกกระทำ ผู้หญิงถูกเอารัดเอาเปรียบ และปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือ ผู้หญิงไม่กล้าเอาผิดหรือไปแจ้งความ เพราะมองว่าเป็นเรื่องครอบครัว เรื่องส่วนตัว นักสังคมของที่นี่ก็พยายามจะผลักดันแก้ไขกฎหมาย
 
                    ทั้งนี้ หากพูดถึงความก้าวหน้าของเมียนมาร์ กับการมีส่วนร่วมในทุกส่วนดีกว่าไทยด้วยซ้ำ การทำงานของภาคประชาชนในทุกเรื่องถือว่ามีความก้าวหน้ามาก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้หญิง และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ชายให้มากขึ้น โดยเฉพาะบทบาททางการเมืองของผู้หญิง
 
 
\'เมียนมาร์\' ภาคประชาสังคม ในกระแสเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย
 
 
                    อังคณา กล่าวว่า หลักๆ เลยคือได้แรงบันดาลใจจากที่นี่หลายอย่าง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่เมียนมาร์ไม่ได้ทำงานหรือจบมาด้านนี้โดยตรง แต่อาสาสมัครกระโดดเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา อยากที่จะเห็นการพัฒนาเกิดขึ้นในเมียนมาร์ อย่างน้อยสิ่งที่เขาทำมาโดยตลอดก็ทำให้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาท มีสัดส่วนทางการเมือง รับการคุ้มครองดูแล ดังนั้นมันต้องเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ให้พัฒนากลไกไปสู่การคุ้มครองผู้หญิงทั่วประเทศเมียนมาร์ได้ เมื่อเมียนมาร์จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ออง ซาน ซูจี ในฐานะผู้หญิงที่ไม่ยอมจำนนต่อปัญหา ไม่ยอมแพ้ เป็นคนละเอียดอ่อน นโยบายต่างๆ ที่ภาคประชาสังคมเสนอ คงถูกพิจารณาเพื่อปฏิบัติใช้อย่างเป็นรูปธรรม
 
                    ขณะที่ น.ส.สุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคมของเมียนมาร์มีบทบาทนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะในรอบ 4-5 ปี ที่ผ่านมา จะเห็นว่าองค์กรผู้หญิงเกิดขึ้นมาใหม่มากขึ้น และการเกิดขึ้นนี้เนื่องจากปัญหาที่ไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างครอบคลุม ซึ่งองค์กรต่างๆ จึงลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ส่วนใหญ่คาดหวังให้เมียนมาร์เป็นประชาธิปไตย เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็คาดหวังว่าสิ่งที่เด็กเยาวชน ผู้หญิงถูกละเมิดสิทธิ์ สิ่งต่างๆ ที่เมียนมาร์กำลังเผชิญอยู่ก็จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาได้ และต้องอยู่ท่ามกลางความหลากหลายให้ได้ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ความหลากหลายในเชิงศาสนา ความหลากหลายด้านมติระหว่างเพศ ซึ่งต้องยอมรับความหลากหลายให้ได้
 
                    “สิ่งสำคัญที่จะทำให้สังคมขับเคลื่อนได้ คือภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็ง และหลายมิติต้องทำงานร่วมกัน ต้องยอมรับว่าพื้นที่ของผู้หญิงทั้งทางการเมือง การเป็นผู้นำ การมีส่วนร่วม มันถูกจำกัด มีมาตรการเฉพาะ ซึ่งองค์กรแบบผู้ชายอาจจะมองไม่เห็นมิติตรงนี้ ซึ่งระบบโควตาของผู้หญิงถูกปิดพื้นที่มานานเพราะระบบมิติทางสังคม ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นให้ผู้หญิงได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง”
 
                    อย่างไรก็ตาม ถือเป็นครั้งแรกของเมียนมาร์ที่มีแผนการพัฒนาเยาวชน เพราะเชื่อว่าพลังเยาวชนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ จะเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม นอกจากนี้พลังของประชาชนในเมียนมาร์ จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะมิติการทำงานที่สอดรับกับสถานการณ์ปัญหา ขณะนี้เริ่มเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้หญิงเป็นตัวแทนในการเจรจา
 
                    จากนี้เชื่อว่า พลังขับเคลื่อนทางสังคม การรับรู้สิทธิของตนเอง ทั้งทางการเมือง การศึกษา การพัฒนา การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความเท่าเทียมเสมอภาค จะเกิดผลเบ่งบาน สานต่อนำไปสู่ความหวังของชาวเมียนมาร์ในยุคประชาธิปไตยได้อย่างแน่นอน!!!
 
 
 
---------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : เยือน 'เมียนมาร์' ศึกษาบทบาทภาคประชาสังคม ในกระแสเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย : โดย...สาวิตรี รักษาสิทธิ์)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ