Lifestyle

'แม่แจ่มโมเดล' ภายใต้แนวคิดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : 'แม่แจ่มโมเดล' นวัตกรรมใหม่ ภายใต้แนวคิดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม : โดย...โอฬาร อ่องฬะ

 
                    ความพยายามขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้สะท้อนผ่านการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น การสร้างเขื่อน การผันน้ำ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ รวมถึงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แผ่ขยายไปในหลายจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มุ่งเน้นไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างเข้มข้นและรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบขยายวงกว้างออกไปสู่ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ทั้งป่าไม้ ที่ดิน และแหล่งน้ำ
 
                    ขณะเดียวกัน มาตรการในทางนโยบาย กฎหมายของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา การบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร กลับถูกนำมาเลือกปฏิบัติและบังคับใช้กับชาวบ้านอย่างเอาเป็นเอาตาย
 
                    จากข้อจำกัดที่ผ่านมานั้น ได้เกิดแรงผลักดันที่สำคัญของชุมชนท้องถิ่น ที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การสร้างกฎกติกาใหม่ๆ ในการบริหารจัดการทรัพยากร ไม่ว่าการจัดการที่ดิน ป่าไม้ การพัฒนาระบบสิทธิชุมชน อย่าง “แม่แจ่มโมเดล” เป็นต้น
 
                    “แม่แจ่มโมเดล” ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่สำคัญ คือ ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (Environmental Governance) ซึ่งจะต้องอาศัยกลไกที่สำคัญ 3 ระดับ คือ
 
 
'แม่แจ่มโมเดล' ภายใต้แนวคิดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม
 
 
                    1) ระดับปฏิบัติการ ที่ต้องเชื่อมโยงความร่วมมือจากภาคีในหลายฝ่ายทั้งองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ รวมถึงภาคธุรกิจ ในการร่วมคิด วางแผน ออกแบบ ให้เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรในระดับพื้นที่
 
                    โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยว รวมถึงระบบสิทธิในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน “แม่แจ่มโมเดล” ได้เชื่อมโยงบนฐานพัฒนาการที่ต่อเนื่องของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพและการยอมรับถึงการมีตัวตนของสิทธิชุมชน ที่ดำรงอยู่บนหลักการของเจตจำนงร่วม (General Will) ของประชาชน รวมถึงองค์กร หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่
 
                    กระบวนการกำหนดทิศทางในการพัฒนาและบริหารจัดการ “แม่แจ่มโมเดล” ได้อาศัยกลไกภาคส่วนต่างๆ เข้ามาใช้ระบบฐานข้อมูล ที่เกิดขึ้นมาจากสำรวจ การจัดทำประชาคม การสอบทาน ร่วมกันในหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่เข้ามาเป็นหลักในการกำหนดภาพรวมฐานข้อมูลของ อ.แม่แจ่ม ซึ่งจากการจำแนกข้อมูลที่สำรวจได้ พบว่า เนื้อที่ทั้งหมด มีจำนวน 1,662,698 ไร่ ได้กำหนดแนวทางในแต่ละเงื่อนไข ได้แก่
 
                    1.ป่าธรรมชาติ จำนวน 1,231,171 หรือประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ ออบหลวง แม่โถ และในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการในการจัดการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับองค์กรชาวบ้าน ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม
 
 
'แม่แจ่มโมเดล' ภายใต้แนวคิดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม
 
 
                    2.พื้นที่ที่ชาวบ้านเข้ามาใช้ประโยชน์ก่อนปี 2545 จำนวน 213,462 ไร่ หรือประมาณ 12.5 เปอร์เซ็นต์ จะนำไปสู่กระบวนการจัดการในรูปแบบสิทธิ โดยที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาจัดการ หรือรับรองในทางเอกสารที่สอดคล้องและเหมาะสม
 
                    3.พื้นที่ที่มีการขยายออกในช่วงระหว่างปี 2545-2554 จำนวน 161,706 ไร่ หรือประมาณ 9.5 เปอร์เซ็นต์ จะนำไปสู่แนวทางการสร้างป่าสร้างรายได้ของชุมชน ผ่านการพัฒนาให้มีกลไกเชิงสถาบันในการเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน โดยใช้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการตราข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยข้อบัญญัติท้องถิ่นดังกล่าวทำหน้าที่ในการรับรองกลไกเครือข่ายองค์กรชาวบ้านในระดับหมู่บ้านและตำบล ในการบริหารจัดการ ดูแลรักษา รวมถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากร การพัฒนาระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ทำกินของชุมชน การปลูกสร้างสวนป่าแบบผสมผสาน จัดทำกฎระเบียบกติกาในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบสิทธิและการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับภูมินิเวศวัฒนธรรม รวมทั้งตอบสนองระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ ในมิติของนิเวศเศรษฐศาสตร์ (Ecological Economic) เพื่อให้เกิดอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์
 
                    ภายใต้แนวทางนี้เอง ได้ใช้ข้อมูลจากโครงการต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม และอมก๋อย ปี พ.ศ. 2551-2554 ของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้มีการสำรวจฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทั้งรายแปลง และขอบเขตที่ดินทำกินรอบนอก ที่มีความครอบคลุมและมีความชัดเจน รวมถึงเป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่างๆ ทั้งในระดับพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ รวมถึงในระดับจังหวัด 
 
                    และ 4.พื้นที่ที่มีการขยายหลังปี 2554 เป็นต้นไป จำนวน 86,359 ไร่ หรือประมาณ 5.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะนำไปฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่ป่าเพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ
 
 
'แม่แจ่มโมเดล' ภายใต้แนวคิดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม
 
 
                    2) ในระดับกรอบกติกาของชาติที่สัมพันธ์กับมาตรการจากการจัดระเบียบโลก ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการตัดสินใจในทางนโยบายของรัฐมากขึ้น Sustainable Development Goals (SDGs) หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นความต่อเนื่องของการกำหนดเป้าหมายการพัฒนา โดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน โดยมีเป้าหมายคือการพิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน การหยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน ทรัพยากรชีวภาพ
 
                    3) ในระดับนโยบาย กฎหมาย ที่จำเป็นต้องเอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม การตรวจสอบจากภาคประชาชน ข้อนี้เมื่อย้อนกลับไปมองกรอบกติกาในการบริหารประเทศก็ยังมีคำถาม โดยเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะนำไปสู่การทำประชามติ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2559
 
                    อย่าง มาตราที่มีความสำคัญกับสิทธิชุมชน ซึ่งแม้มีการปรับเปลี่ยนแล้วก็ตาม จะสามารถนำไปสู่การสนับสนุนการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ และมีกติกา ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของสังคม ผู้คน ชุมชนท้องถิ่น ได้อย่างไร
 
                    แต่อย่างไรก็ตาม บทเรียน ประสบการณ์ การตกผลึกในการจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของภาคส่วนต่างๆ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ก็ยังคงจะต้องก้าวเดินต่อไป เพื่อยกระดับไปสู่การสถาปนารูปธรรมของสิทธิชุมชน ให้เกิดพลังที่จะเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย
 
 
 
--------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : 'แม่แจ่มโมเดล' นวัตกรรมใหม่ ภายใต้แนวคิดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม : โดย...โอฬาร อ่องฬะ)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ