Lifestyle

นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับความพร้อมในข้อมูลของชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากมิติเวทีทัศน์ : นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับความพร้อมในข้อมูลของชุมชน : โดย...รัชตะ มารัตน์

 
                    “การพัฒนาประเทศแบบไร้ทิศทางมีมานานมากแล้วในสังคมไทย เราพยายามเป็น “เสือ” ในสายตาชาวโลก แต่ก็เลี้ยงให้โตไม่ได้ เพราะบริบทและความพร้อมของประเทศไทย ยังไม่พร้อมที่จะเป็นเสือ เราเองไม่ได้ปฏิเสธ สิ่งที่จะทำให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้า แต่ความเจริญก้าวหน้านั้น ต้องทำให้คนไทยทุกคน โดยเฉพาะพี่น้องที่รับผลกระทบ ได้รับผลประโยชน์แบบไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของชุมชนด้วยเช่นกัน”
 
                    นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา แสดงทัศนะต่อแผนพัฒนาแผนแล้วแผนเล่าของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
 
                    “ครูตี๋” เล่าต่อว่า ด้วยเหตุผลทั้งหลายที่มาประกอบกัน จึงเกิดเป็นแนวคิด “โฮงเฮียนแม่น้ำของ” เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning Process) และพัฒนากระบวนการทำงานที่นำไปสู่พื้นที่รูปธรรม (Substantial Area) ภายใต้การพัฒนาที่อยู่ร่วมกับวิถีวัฒนธรรม หรือความเป็นท้องถิ่นสากล (Local Global)
 
 
นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับความพร้อมในข้อมูลของชุมชน
 
 
                    คนเชียงของ ไม่ได้ปฏิเสธกระแสสังคมโลก แต่ขอให้ผู้มองโลก เข้าใจบริบทของความเป็นชุมชนให้มากขึ้น นำเหตุผลของแต่ละฝ่ายมาผ่านกระบวนการ “ชั่ง ตวง วัด” แล้วจะได้คำตอบที่ทุกฝ่ายรับได้ ชุมชนไม่ถึงยุคเสื่อมสลาย เหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นกับบางชุมชน ที่เสมือนจะรักษาอัตลักษณ์แต่คนนอกมีมากกว่าคนในเสียอีก
 
                    “ครูตี๋” ยกตัวอย่างว่า แม้นโยบายที่อยู่ห่างไกลกับชุมชน บางครั้งก็ไม่ได้ห่างไกลอย่างที่คิด เช่น การระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงหรือการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของจีน ที่ส่งผลให้วิถีชีวิตของปลาในแม่น้ำโขงเปลี่ยนไป รวมไปถึงพืชน้ำที่เป็นอาหารทั้งของคน และปลา อย่าง “ไก” พืชสีเขียวคล้ายสาหร่ายในแม่น้ำโขง ก็มีปริมาณลดลงเช่นกัน
 
                    ดูไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักคิดของการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekhong Sub-region หรือ GMS) ที่รัฐบาลหลายยุคชอบกล่าวอ้างว่า ความมั่นคงของภูมิภาค คือ ความมั่นคงของไทย แต่คนไทยที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ มีความมั่นคงจริงหรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้...
 
 
นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับความพร้อมในข้อมูลของชุมชน
 
 
                    หลักคิดของโฮงเฮียนแม่น้ำของ จึงเป็นลักษณะที่เกิดจากการสังเคราะห์ผ่านประสบการณ์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาของชุมชน โดยเน้นให้เกิดการรับรู้นำไปสู่ความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการตระหนัก นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดในการจัดการทรัพยากร และการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน นำไปสู่การถ่ายทอดชุดประสบการณ์ เกิดเป็น “องค์ความรู้ของชุมชน” ชุดหนึ่งที่สามารถหยิบไปใช้ตรงไหนก็ได้ ไม่ได้เป็นแค่แนวคิด หรือ “ข้อมูลเฉพาะกิจ” จนทำให้เกิดความผิดพลาดต่องานพัฒนาในสังคมไทย
 
                    สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา เล่าให้ฟังในรายละเอียดของต้นตอบางอย่างของปัญหาว่า ประเทศจีนเริ่มนโยบายการก่อสร้างเขื่อนตั้งแต่ พ.ศ.2539 โดยมีการก่อสร้างมากถึง 21 โครงการ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จไปประมาณ 6 โครงการ ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจน คือ ระดับน้ำที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อเกษตรกรรมริมฝั่ง หรือแม้แต่พฤติกรรมปลาในการดำรงชีวิต วางไข่ เช่น ปลาบึก ปลามันมูด ปลาตอง ปลาซิวน้ำขาว ปลายอน ปลาแข้เหลือง ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่น และประชาชนที่จับปลาตามวิถีก็เปลี่ยนไป นี่ยังไม่นับรวม การระเบิดเกาะแก่งที่เกิดขึ้น เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางน้ำ แน่นอนว่าสมดุลในการสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำก็หายไปด้วย หรือแนวอุทกศาสตร์ตามฤดูกาลก็ผิดแปลกไปด้วยเช่นกัน
 
                    “สมเกียรติ” เล่าต่อว่า จากกรณีศึกษาลุ่มแม่น้ำโขง พบว่ามีพี่น้องประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทั้งภายใน และภายนอกด้วยเช่นกัน คือ พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำอิง ซึ่งมีต้นน้ำมาจากกว๊านพะเยา ไหลมาบรรจบรวมกับแม่น้ำโขงในเขตอำเภอเชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีการตั้งถิ่นฐานมากถึง 60 ชุมชน มีทั้งที่เป็นคนพื้นถิ่นดั้งเดิม และคนที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ อุบลราชธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ซึ่งย้ายออกมาจากผลกระทบของการสร้างเขื่อนในพื้นที่อีสาน เกิดเป็นวัฒนธรรมชาวอีสานในพื้นที่เห็นอยู่ทั่วไป เช่น งานบุญบั้งไฟ เป็นต้น
 
 
นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับความพร้อมในข้อมูลของชุมชน
 
 
                    “สมเกียรติ” เล่าถึงความเป็นมาของขบวนการภาคประชาชนในเขตลุ่มแม่น้ำอิงว่า แนวการพัฒนาของที่นี่จะผิดแปลกไปจากพื้นที่อื่นๆ พี่น้องประชาชนสามารถสัมผัสถึงปัญหาได้โดยตรง เพราะกระทบต่อการประกอบอาชีพของพวกเขา โดยเฉพาะการประมง และเกษตรกรรมชุ่มน้ำ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบมาจากการดำเนินนโยบายที่ขาดความเข้าใจในบริบทชุมชน หรือสะท้อนข้อมูลชุมชนตามกระแสนโยบาย จึงเกิดเป็นกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ปลา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 นำไปสู่การจัดตั้ง สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ในที่สุด
 
                    มีแนวทางการพัฒนาควบคู่ไปกับการจัดระบบข้อมูลใน 3 ลักษณะ คือ 1) การสร้างพื้นที่อนุรักษ์ 2) การติดตามนโยบายที่มีผลกระทบ และ 3) การรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งแน่นอนว่าพลังการมีส่วนร่วมมีมากเพราะพี่น้องในลุ่มน้ำอิงและใกล้เคียงเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
 
                    “เดินทางล่องเรือในระยะทาง 260 กิโลเมตร ก็รู้จักกันหมด เราสามารถประเมินได้จากการอนุรักษ์พันธุ์ปลา และการเกษตรกรรมยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมีของพี่น้อง เป็นตัวชี้วัดได้” สมเกียรติ กล่าว
 
 
นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับความพร้อมในข้อมูลของชุมชน
 
 
                    พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชฌามรรค หรือ “เบิ้ม” ลูกหลานเชียงของ ตำบลบุญเรือง พาไปสำรวจป่าชุ่มน้ำผืนสุดท้ายของบุญเรือง ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเล่าให้ฟังว่า การให้ข้อมูลของรัฐที่ดูเหมือนจะไม่ถูกต้องนักกับคำว่า “ป่าเสื่อมโทรม” ทั้งๆ ที่ป่าผืนนี้ พี่น้อง ใช้ในการทำมาหากินเก็บพืช ที่เป็นพืชอาหารและพืชสมุนไพรกว่า 50 ชนิดในการดำรงชีพ และช่วยกันปลูกป่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านเราเพิ่งบวชป่า สำรวจและมีชุดข้อมูลที่สามารถยืนยันความอุดมสมบูรณ์ และมีแนวทางการพัฒนาได้ เช่น การออกเทศบัญญัติคุ้มครองพื้นที่สาธารณะ การส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ปลา และไม่เคยคิดจะเอาป่าไป “เร่ขาย” ให้กลุ่มทุน เหมือนป่าฝั่งตรงข้ามที่ถูกกว้านซื้อไปหมด
 
                    หวังว่า พลังเชียงของจะสามารถจัดการให้คนตื่นรู้ ลุกขึ้นมาจัดการข้อมูลที่รอบด้าน รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เป็นพลังของ “หนึ่งเมือง สองแบบ” ที่จะพัฒนาบนพื้นฐานการรักษาวิถีอัตลักษณ์ ถนน R3a และ R3b ที่ตัดมาจากจีน คงจะไม่เป็นสัญลักษณ์ที่สร้างความล้มเหลวในวิถีชุมชน หรือแม้แต่ “คนชงข้อมูล” ก็น่าจะเก็บเกี่ยวเสียงประชาชนไปกล่าวอ้างด้วยเช่นกัน...
 
 
 
 
--------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับความพร้อมในข้อมูลของชุมชน : โดย...รัชตะ มารัตน์)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ