Lifestyle

ค้านร่างพ.ร.บ.น้ำ ฉบับกรมทรัพย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ค้านร่างพ.ร.บ.น้ำ ฉบับกรมทรัพย์ มุ่งจัดสรรน้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรม? : คอลัมน์ รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม

 
          หลังจากกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการปรับปรุงพัฒนาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ..... เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ในส่วนกลาง เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ให้เกิดความรอบคอบ อันก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในทุกภาคส่วน และลดข้อขัดแย้งในการเสนอร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....ไปแล้วนั้น
 
          ในส่วนของภาคประชาชน มีข้อโต้แย้งและความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะที่ สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ให้ความเห็นว่า จากที่ได้ติดตามกระบวนการร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้มาพอสมควร และเห็นว่าถึงแม้ว่า ร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้จะปรับปรุงมาหลายครั้ง แต่ยังเห็นว่าโดยหลักการของเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการน้ำอยู่ที่รัฐ และเห็นว่าไม่มีการกระจายอำนาจให้คนลุ่มน้ำได้ตัดสินใจหรือกำหนดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากข้างล่างขึ้นบน
 
          ที่เห็นได้ชัดคือ ในร่าง พ.ร.บ.น้ำ มาตรา 6 ที่ระบุว่า “ให้รัฐมีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสาธารณะบนพื้นฐานความยั่งยืนและความสมดุลของระบบนิเวศ โดยเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำหรือขยายแหล่งน้ำได้” การที่ยังคงให้อำนาจรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำได้นั้น เป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐผูกขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยที่รัฐสามารถที่จะกำหนดการพัฒนาแหล่งน้ำไปในทิศทางที่คนลุ่มน้ำไม่มีส่วนร่วม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำนั้นๆได้
 
          “สิริศักดิ์” ยังกล่าวต่อว่า ถ้ามองภาพรวม ร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ ยังมีปัญหาอีกหลายประเด็น คือ 1.ไม่ได้ยึดโยงอำนาจประชาชนคนลุ่มน้ำผ่านการกระจายอำนาจที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เห็นได้ชัดจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา
 
          2.สัดส่วนในการแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะมีแต่ตัวแทนจากภาครัฐ ส่วนภาคประชาชนแทบจะไม่มีพื้นที่ให้เลย เรื่องนี้มองว่าหน่วยงานภาครัฐหรือกรรมการนโยบายควรมีบทบาทหน้าที่ในร่างพ.ร.บ.น้ำฉบับนี้เพียงแค่การติดตาม ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนให้ทำงานให้มีประสิทธิภาพ 
 
          3.การกำหนดนโยบายและแผนงานเป็นการกำหนดจากข้างบนลงมาล่าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของภาครัฐต่อประชาชนคนลุ่มน้ำ มองว่าการกำหนดนโยบายและแผนงานควรให้อำนาจประชาชนลุ่มน้ำนั้นร่วมกันกำหนดจากข้างล่างขึ้นไปบน
 
          4.ในประเด็นการให้ข้อเสนอแนะที่มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ประจักษ์ในด้านเทคนิควิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำนั้น มองว่า จะอาศัยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตามร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้คงไม่พอ เพราะผู้เชี่ยวชาญใช่ว่าจะเข้าใจสภาพภูมินิเวศในแหล่งน้ำที่มีรูปแบบการจัดการในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน
 
          และ 5.ในร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ ไม่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงการบูรณาการในการที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นระบบนิเวศสำคัญในการเชื่อมโยงกัน แต่ร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่การจัดสรรทรัพยากรน้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์มากกว่าที่จะดูองค์รวมของ ดิน น้ำ ป่า
 
          “สิริศักดิ์” ยืนยันเหตุผลข้างต้น ด้วยการมองว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาของกรมทรัพยากรน้ำ เป็นเสมือนการเข้าร่วมเพื่อประทับตราให้ดูเหมือนมีความชอบธรรมเท่านั้น
 
          ดังนั้น “เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน จึงเสนอ คว่ำร่าง พ.ร.บ.น้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำ ฉบับรวบหัวรวบหางประชาชน เพราะขาดความชอบธรรมและไม่เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย”
 
          ด้าน ประดิษฐ์ โกศล อุปนายกสมาคมคนทาม เห็นว่า ในส่วนของตนมองว่าร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับกรมทรัพยากรน้ำ มีกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง เพราะภาคประชาชนหรือภาคเกษตรกรในระดับพื้นที่ ไม่ได้มีส่วนร่วมเลย และยังมองอีกว่า พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ให้อำนาจรัฐอย่างมาก เสมือนน้ำเป็นของรัฐ ประชาชนไม่ได้มีส่วนในการกำหนดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะรัฐเป็นผู้ควบคุมจัดสรร ฉะนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ และมีข้อเสนอว่า รัฐจะต้องเปิดกว้างเพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่าง พ.ร.บ.น้ำ ถ้ากระบวนการยังเป็นแบบนี้อยู่ เราก็คงไม่เข้าร่วมและจะค้านร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ต่อไป
 
          ขณะที่ สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการด้านน้ำ คณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตั้งประเด็นขึ้นมาอย่างน่าสนใจว่า 1.การมีร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เราจะต้องมาดูเจตจำนงของร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ว่าเพื่ออะไร ควรที่จะบอกให้ชัดว่าจะเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ หน่วยงานรัฐแทบจะไม่คำนึงถึง ในจุดนี้น่าเป็นห่วง เพราะจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของระบบนิเวศ
 
          2.แนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ควรเน้นที่กระบวนการมีส่วนร่วม ไม่ใช่หน่วยงานรัฐปักธงไว้แล้ว และมาบอกว่า รับฟังความคิดเห็นแต่มิได้ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ 3.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของร่างพ.ร.บ.น้ำในครั้งนี้ รัฐมีธงไว้ชัดเจนแล้ว แต่จัดให้เป็นพิธีกรรม มองว่าไม่มีประโยชน์ ถ้าจะให้มีประโยชน์จริงควรที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมใน ร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ตั้งแต่ต้น
 
          อาจารย์สันติภาพ กล่าวด้วยว่า แม้จะมีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.น้ำที่จะเกิดขึ้น ปัญหาก็จะตามมาเหมือนเดิม เพราะรัฐไม่ให้ความสำคัญในหลักการและเนื้อหาที่เกี่ยวกับประชาชนในหลายด้าน เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำ กลุ่มหาปลา เป็นต้น
 
          และปัญหาที่น่ากล่าวถึงอย่างมากก็คือ การอนุมัติโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ก็เป็นการปัดฝุ่นโครงการเก่าที่มีอยู่เดิม นำมาเสนอในยุคนี้ เช่น โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ซึ่งเป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทางระบบนิเวศ ความไม่คุ้มค่าการลงทุน ประชาชนไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเป็นโครงการที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นี่คือปัญหาที่จะตามมา
 
          อาจารย์สันติภาพ ยังมีข้อเป็นห่วงอีกว่า ถ้าพ.ร.บ.น้ำฉบับนี้มีผลบังคับใช้จริง มันจะนำไปสู่กระบวนการของการแปรรูปน้ำหรือไม่ เพราะเป็นการนำน้ำไปตอบสนองภาคเศรษฐกิจ จะเป็นการให้เอกชนเข้ามาซื้อเพื่อสัมปทานน้ำ เพื่อป้อนอุตสาหกรรมที่กำลังจะผุดขึ้นในหลายพื้นที่หรือไม่ ฉะนั้นถ้าร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ไม่มีเจตจำนงที่จะให้ความสำคัญกับประชาชน ก็เท่ากับเป็นการมองข้ามความสำคัญของคนลุ่มน้ำอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมารัฐไม่เคยมีแนวความคิดเรื่องความยั่งยืนของระบบนิเวศเลย
 
          คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า ในเมื่อภาคประชาชน และนักวิชาการในพื้นที่ไม่เห็นด้วยอย่างนี้แล้ว ยังจะมีการดันทุรังผลักดันร่างพ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ต่อไปหรือไม่ เพราะแทบไม่ต้องสงสัยว่าจะต้องถูกต่อต้านจากองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยเฉพาะที่อีสาน อย่างแน่นอน
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ