Lifestyle

ฝายมีชีวิต ต้นน้ำอยู่ที่ต้นไม้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ฝายมีชีวิต ต้นน้ำอยู่ที่ต้นไม้ : โดย...สุวัฒน์ คงแป้น

 
                    สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ นับว่าหนักเอาการ ข่าวทุกสื่อไม่มีแม้แต่วันเดียวที่จะไม่รายงานเรื่องภัยแล้ง หลายพื้นที่แล้งปีนี้นับว่าหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี บ้านของผมอยู่ในสวนที่เต็มไปด้วยไม้ยืนต้นก็ยิ่งสังเกตได้ว่า สภาพภัยแล้งมีความรุนแรงที่เห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในระยะหลังนี้ มีการใช้น้ำใต้ดิน (เจาะบาดาล) กันมากขึ้น ฝนหยุดตกเพียงไม่กี่วัน ดินก็แตกระแหง
 
                    วันก่อนไปฟัง ดร.ดำรง โยธารักษ์ สถาบันการเรียนรู้เพื่อจัดการตนเอง และ สมเดช คงเกื้อ นายกสโมสรโลอ้อน นครศรีธรรมราช พูดเรื่อง “ฝายมีชีวิต” ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ในท่ามกลางความแห้งแล้ง ถ้ามีความรู้มีการจัดการที่เหมาะสม มีส่วนร่วม มีความร่วมมือ ฯลฯ ความแห้งแล้งที่ดูเหมือนจะเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่งที่สำคัญในปัจจุบัน ก็จะกลายเป็นความชุ่มชื่นและเกิดประโยชน์กับสังคมได้
 
                    ดร.ดำรง โยธารักษ์ เล่าว่า หัวใจสำคัญประการหนึ่งของการทำฝายมีชีวิตก็คือ การยกระดับน้ำให้สามารถไหลไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติได้แทนที่จะขุดลอดคลอง พอถึงหน้าแล้งน้ำดังกล่าวก็จะซึมไปให้เราใช้ ถ้ามองด้วยสายตาจะเห็นว่าน้ำอาจมีน้อยจึงคิดแต่จะสร้างเขื่อนหรือสร้างอ่างเก็บน้ำ แท้จริงแล้วมีอยู่จำนวนมหาศาล
 
 
ฝายมีชีวิต ต้นน้ำอยู่ที่ต้นไม้
 
 
                    เรื่องนี้เป็นจริงโดยประจักษ์ ไม่ว่าเราจะไปคลองสายไหนจะมีคอนกรีตสร้างเป็นช่วงๆ ซึ่งนอกจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ ทำให้ตะกอนดินทับถมและพืชริมน้ำที่ช่วยอุ้มน้ำตามธรรมชาติหมดไป
 
                    สมเดช คงเกื้อ บอกว่า คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าต้นน้ำก็คือพื้นที่ป่าต้นน้ำเท่านั้น แต่ความจริงแล้วต้นไม้ทุกต้นไม่ว่าจะอยู่ช่วงไหนของคลอง ก็คือต้นน้ำทั้งสิ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า "ต้นน้ำอยู่ที่ต้นไม้” ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ทุกวันนี้ ต้นไม้อันเคยเป็นต้นน้ำถูกขุดไปปลูกในเมือง คนรวยซื้อไปจัดสวนตกแต่งปั๊มน้ำมัน ฯลฯ
 
                    “ฝายมีชีวิต เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ การอยู่ดี กินดีของประชาชน สภาพดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าขาดความอุดมสมบรูณ์ของฐานทรัพยากร เช่น ดิน น้ำ ป่า ดังนั้นถ้าเราสามารถทำให้น้ำเต็มคลองตลอดทั้งปี จะทำให้น้ำซึมแผ่กระจายไปในดิน เมื่อดินชุ่มน้ำ ป่าก็จะสมบูรณ์ สามารถทำการเกษตรได้ทุกพื้นที่ ส่งผลให้คนกลับถิ่น เพราะทรัพยากรเกิดขึ้นในชุมชน เป็นฐานการผลิต เกิดเศรษฐกิจชุมชนที่มั่นคง”
 
                    ดร.ดำรง โยธารักษ์ ได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง “ได้อะไรจากฝายมีชีวิต” ตอนหนึ่งว่า "ฝายมีชีวิตเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ความเป็นพลเมือง เรียนรู้จากการปฏิบัติโดยเริ่มต้นตั้งแต่เรียนรู้เรื่องน้ำในคลอง ทำไมน้ำในคลองจึงแห้ง ทำไมคลองจึงตื้น ต้นไม้ข้างคลองมีประโยชน์อะไร แล้วมันหายไปไหน ทำไมถึงหายไป สัตว์น้ำในคลองมีอะไรบ้าง ปัจจุบันทำไมมันจึงหายไป เป็นต้น โดยใช้หลักการสิทธิและเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค กล่าวคือ เป็นโอกาสที่ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นโดยเอาความเห็นร่วมแทนที่จะใช้วิธียกมือลงคะแนน”
 
 
ฝายมีชีวิต ต้นน้ำอยู่ที่ต้นไม้
 
 
                    ดังนั้นการจะเป็นฝายมีชีวิตได้ จะต้องยึดถือหลักการ 3 ขา โดย ขาแรก คือ ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ บนหลักเรียนรู้การเมืองจากพลเมืองข้างต้น คือต้องมีข้อมูลเชิงนิเวศ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีพืช มีสัตว์อะไรอยู่บ้าง แต่ละอย่างมีความสำคัญต่อชีวิตและธรรมชาติอย่างไร ถ้าจะฟื้นสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา จะต้องทำอย่างไร ฝายมีชีวิตจะต้องมีความปรองดองกับธรรมชาติ ปรองดองกับระบบนิเวศ โดยให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ให้ข้อมูลผู้แสดงความคิดเห็นและมีการตัดสินใจเลือกร่วมกัน ซึ่งเมื่อได้มีการตัดสินใจร่วมกันแล้ว ก็จะนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกันต่อไป
 
                    ขาที่สอง คือต้องไม่เริ่มด้วยงบประมาณ ต้องใช้ทุนในพื้นที่ เช่น ใช้ไม้ไผ่ หิน ดิน ทราย ในพื้นที่ ถ้าต้องใช้งบอยู่บ้าง ก็ควรเป็นการบริจาคหรือการจัดกิจกรรมหาทุน เช่น การเลี้ยงน้ำชา เป็นต้น คนที่มาทำต้องมาร่วมลงแรงไม่ใช่การจ้าง ซึ่งที่นิยมกันนั้นก็จะใช้ไม้ไผ่ (ที่สามารถแตกหน่อเติบโตได้) ปักเป็นแนว ใช้ไม้ไผ่หรือไม้อย่างอื่นกั้นแล้วผูกด้วยเชือกเป็นหูช้าง ก่อนที่จะใช้กระสอบที่บรรจุทรายวางทับลงไป และไม่ลืมที่จะมีดินผสมขี้วัวไว้เผื่อปลูกต้นไทร ซึ่งเมื่อต้นไทรโตขึ้น รากของมันก็จะชอนไชสานให้ตัวเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญหน้าฝายจะต้องทำเป็นชั้น เพื่อไม่ให้ตะกอนดินที่ไหลมากับน้ำทับถมและยังทำให้สัตว์น้ำว่ายทวนน้ำไปวางไข่ได้ตลอดสาย
 
                    ขาสุดท้าย ก็คือจะต้องมีกติการ่วม หรือ ธรรมนูญคลอง ในการใช้ประโยชน์หรือบำรุงรักษา มิเช่นนั้นแล้ว จะเรียกว่าฝายมีชีวิตไม่ได้ เพราะทำให้คนที่เห็นแก่ตัวใช้ประโยชน์จากน้ำจนไม่คำนึงถึงส่วนรวม เช่น ทำกระชังเลี้ยงปลา จนส่งกลิ่นเหม็น เป็นต้น ดังนั้นการมีกติการ่วมก็คือข้อตกลงในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ในสมบัติร่วม ซึ่งสมบัติ (น้ำคลอง) ไม่ใช่สมบัติของคนในชุมชนเท่านั้น แต่เป็นสมบัติทางนิเวศที่จะต้องส่งต่อให้ลูกหลานอย่างสมบูรณ์
 
                    สถาบันเรียนรู้เพื่อจัดการตนเองได้พรรณนาถึงประโยชน์ของฝายชีวิตไว้หลายประการด้วยกัน 1.ในช่วงหน้าน้ำหลาก ฝายมีชีวิตจะชะลอ กักเก็บน้ำไม่ให้ปริมาณน้ำไปท่วมในพื้นที่ชุมชนเมือง แต่ในขณะเดียวกันปริมาณน้ำของฝายมีชีวิตจะซึมไปช่วยให้ระบบนิเวศในพื้นที่มีความชุ่มชื้นตลอดเวลา 2.ในช่วงหน้าแล้ง ฝายมีชีวิตจะช่วยระบายน้ำออกมาให้ชาวเมือง ชาวบ้านได้ใช้ตลอดช่วงหน้าแล้ง
 
 
ฝายมีชีวิต ต้นน้ำอยู่ที่ต้นไม้
 
 
                    3.ปัจจุบันน้ำใต้ดินลดปริมาณลงอย่างมาก เพราะเรามักแก้ปัญหาน้ำมาก โดยการผันน้ำลงสู่ทะเลให้เร็ว จนน้ำไม่สามารถซึมผ่านลงใต้ดิน ปัญหานี้ฝายมีชีวิตสามารถช่วยได้ เพราะสามารถกักน้ำทำให้น้ำมีเวลาซึมลงสู่ใต้ดิน 4.ฝายมีชีวิตไม่ตัดวงจรทางระบบนิเวศทั้งสัตว์ พืช น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตะกอนทรายสามารถไหลข้ามผ่านไปได้ทางบันไดหน้าหลังของฝายมีชีวิตเพื่อไปหล่อเลี้ยงชายหาด รวมตลอดจนถึงสัตว์น้ำทุกชนิด โดยเฉพาะปลาสามารถขึ้นลงวางไข่ได้ตามธรรมชาติ 
 
                    5.ฝายมีชีวิตสามารถสร้างวังน้ำตามธรรมชาติที่หายไปจากการขุดลอก ทำให้วิถีชีวิตริมคลองกลับคืนมา เช่น ปลา นก ต้นไม้ 6.ฝายมีชีวิตสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืน 7.เมื่อดิน น้ำ ป่าสมบูรณ์ ฝายมีชีวิตสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง
 
                    การจัดทำฝายมีชีวิตตามแนวคิดข้างต้น จริงอยู่จุดเริ่มต้นเกิดจากการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราช ที่บ้านนบเตียน แต่ความรู้นี้ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาน้ำแล้งในรูปการจัดการนิเวศทั้งระบบลุ่มน้ำ จึงเกิดฝายมีชีวิตเพิ่มขึ้นในนครศรีธรรมราชจำนวนมาก ปัจจุบันได้มีการนำไปขยายผลที่อุดรธานี พัทลุง ฯลฯ รวมประมาณ 165 ฝาย และกำลังขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
 
                    ดังนั้นฝายมีชีวิต ไม่เพียงเป็นการจัดการน้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นการจัดการความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กลับคืนมา เป็นการจัดการนิเวศทั้งระบบให้อยู่คู่กับสังคม สร้างการเมืองภาคพลเมือง โดยอาศัยเรื่องที่เป็นชีวิตของตนเองเป็นตัวนำ และทั้งหมดนี้นำไปสู่การจัดการทางสังคมที่นำวิถีแห่งการเอื้ออาทรกลับคืนมาสู่ชุมชน
 
 
 
----------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ฝายมีชีวิต ต้นน้ำอยู่ที่ต้นไม้ : โดย...สุวัฒน์ คงแป้น)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ