Lifestyle

'ร่างรธน.ใหม่'ตัดสิทธิเรียนฟรีม.ปลายหวั่นเด็กออกจากระบบพุ่ง!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ร่างรธน.ใหม่'ตัดสิทธิเรียนฟรีม.ปลายหวั่นเด็กออกจากระบบพุ่ง! : กมลทิพย์ ใบเงินรายงาน

            เยาวชนกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ทวงสิทธิการเรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย ที่ถูกตัดออกไป จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 กลายเป็นเรื่องที่แม้ “ผู้ใหญ่” ยังคาดไม่ถึง ตามถ้อยแถลงของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แถลงชี้แจงสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ...ฉบับก่อนลงประชามติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาใน หมวดที่ 5 มาตรา 54 ระบุว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”

             ตีความตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ “นายมีชัย  ฤชุพันธ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรี 12 ปีเริ่มนับตั้งแต่ระดับปฐมวัยหรือระดับอนุบาลจนจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีหรือเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3)”
 
             สิทธิเรียนฟรีม.ปลายหายไปไหน...“นายมีชัย ฤชุพันธุ์” ชี้แจงว่า กรธ.ได้บัญญัติให้รัฐต้องสนับสนุนการเรียนการสอนในชั้นก่อนการศึกษาภาคบังคับ จนถึงชั้น ม.3 รวมเวลา 12 ปีเช่นเดิม เพียงแต่มีการร่นช่วงอายุลงมาเท่านั้น เพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างคนจนและคนรวย

             "อันนี้ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษามันไม่ทัดเทียมกัน เพราะเด็กจะพัฒนาได้ต้องอยู่ระหว่าง 2-5 ขวบ ซึ่งคนมีตังค์ได้รับการพัฒนา แต่คนจนไม่ได้รับการพัฒนา เพราะฉะนั้นพอถึงมัธยมปลายก็เสียเปรียบ สู้กันไม่ได้เพราะตอนนั้นสมองไม่พัฒนาแล้ว สิ่งที่เราทำก็คือการร่น 12 ปีลงมาข้างล่างเพื่อรองรับคนจน แล้วพอถึงมัธยมปลาย คนจนก็จะได้รับการดูเพราะจะมีกองทุนการศึกษาให้ ส่วนคนมีสตางค์ก็ออกสตางค์ เพราะฉะนั้นความทัดเทียมมันถึงจะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้คนจนก็จะแย่ เสียเปรียบ…” นายมีชัยชี้แจง

             ข้อเท็จจริงคือ รัฐบาล “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” พรรคประชาธิปัตย์ ได้ปรับเปลี่ยนกรอบการดําเนินการเรียนฟรีจาก 12 ปีเป็น 15 ปี ในชื่อ “โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ” ครอบคลุมทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา  ในระดับชั้นอนุบาล-ปวช.3 อยู่ โดยให้การอุดหนุนค่าเล่าเรียนต่อหัวนักเรียน ในรูปตัวเงินให้แก่สถานศึกษาและครอบครัวนักเรียน

             แต่ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับก่อนลงประชามติ ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หน้าที่ของรัฐจะมีเพียงการสนับสนุนให้นักเรียนเรียนฟรีจนถึง ม.3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น ส่วนสิทธิของประชาชนนั้นหายไป กลายเป็นหน้าที่ของรัฐแทน

             แตกต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 43 วรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย"

             เฉกเช่นเดียวกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ส่วนที่ 8 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา มาตรา 49 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ”  

             นายคมเทพ ประภายนต์  นายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ นักกฎหมายเลื่องชื่อ ตั้งข้อสังเกตร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า บุคคลเป็นหลักสากลที่ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพ เมื่อเราเน้นการศึกษา ถามว่าการศึกษาความเป็นบุคคลในประเทศไทยนั้น ครอบคลุมบุคคลทุกเชื้อชาติที่อยู่ประเทศไทย นี่คือหลักการของสหประชาชาติเกี่ยวกับสิทธิของเด็กในความเป็นบุคคล ความเป็นบุคคลเป็นสิ่งที่มีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับกฎหมายสากล

             “คุณมีชัยคิดแค่นี้ คำว่ารัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาให้เด็ก ความหมายครอบคลุมสิทธิเด็กหรือไม่ เพราะตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่รัฐจัดให้และทำให้ แต่เด็กไม่มีสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย ขณะเดียวกันพ่อแม่ ผู้ปกครองถูกบังคับด้วยข้อกฎหมาย ที่ต้องนำลูกเข้าเรียนตามเกณฑ์ ถ้าไม่ให้ลูกเรียนจะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ คุณมีชัยเน้นเด็กอนุบาลต้องได้รับการศึกษา แต่ไม่ครอบคลุมในการได้รับสิทธิทางการศึกษา ผมถามว่าโรงเรียนจำนวนกว่า 3 แห่งจัดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลครอบคลุมเด็กทั่วประเทศหรือไม่”

             นายคมเทพ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การที่เด็กจบม.3 ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญใหม่  ถามว่าอย่างนี้เป็นการจำกัดสิทธิของเด็กในการที่เขามีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นสูง ทั้งการศึกษาสายสามัญ ชั้นม.4-ม.5 และม.6 รวมถึงสายวิชาชีพ ระดับประกาศนียบัตร (ปวช.1-ปวช.3) ที่ถูกตัดไป  แม้มีกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่โอกาสของเด็กที่จะได้รับการศึกกษาก็ถูกตัดไปตั้งแต่เรียนจบม.3

             “ท่านจะตอบได้หรือไม่ว่าในอนาคต เด็กเหล่านี้จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงพ่อแม่ที่ยากจนพวกเขาจะรู้สิทธิในการกู้ยืม กยศ.หรือไม่ และอีกอย่างการขึ้นม.4 หรือเรียนต่ออาชีวศึกษาหรือสายวิชาชีพ จะมีมาตรการควบคุมการจัดเก็บเงินค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในระดับม.ปลาย (ม.4-6) และสายวิชาชีพ (ปวช.1-ปวช.3) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จะทำอย่างไร หรือจะปล่อยเสรีแบบเดียวกับมหาวิทยาลัยด้วยการเปิดช่องให้โรงเรียนเรียกจัดเก็บเงินสูงหลักหมื่นบาทขึ้นไป” นายคมเทพ กล่าว

             หากจะจัดการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับ  มีคุณภาพ เด็กได้พัฒนาเต็มศักยภาพ  จะเป็นในทิศทางใด มองไม่เห็นทิศทางของชาติ  เมื่อข้อเท็จจริงการจัดการศึกษาไทย ที่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 รวมถึงพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 มาตรา 10 มารองรับ วันนี้เด็กไทยได้เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพหรือยัง

             “ระบบการศึกษาที่ถูกโรงเรียนจำกัดเกรดเรียนต่อม.4 จำกัดจ่ายเงิินบำรุงการศึกษาหากนักเรียนไม่จ่ายไม่ให้เรียนจบ เด็กจบม.3 ขึ้นม.4 ได้กลายเป็นเก้าอี้ดนตรี คนรวยได้สิทธิเรียน ความเหลื่อมล้ำขยายวงกว้าง เด็กจำนวนมากที่จบม.3 ต้องออกจากระบบการศึกษาร่วม 1 ล้านคน  พวกเขาไปอยู่ที่ไหน ใช้ชีวิตอย่างไร  ใครดูแล ในอนาคตถ้าประเทศไทยต้องจัดการศึกษาตามร่างรัฐธรรมนูณฉบับใหม่ หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเด็กเรียนจบม.3 พวกเด็กๆ จะไปไหน หากมีเด็กออกจากระบบการศึกษามากถึง 5 ล้านคน ประเทศไทยจะอยู่กันอย่างไร” นายกเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ ระบุ

             ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การศึกษา” คือรากฐานของชีวิตในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาชาติให้มั่นคง ยั่งยืน หากการศึกษาถูก “ตีกรอบ” ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงของโลกในปัจจุบัน ความหวังที่จะให้ “การศึกษา” ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศคงเป็นได้แค่ “ตรายาง” นะขอบอก!!


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ