Lifestyle

ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย แรงใจพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ 'ปูยู'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย แรงใจพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ 'ปูยู' : โดย...อุดมศรี ศิริลักษณาพร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

 
                    ตำบล “ปูยู” เป็นตำบลหนึ่งของ อ.เมืองสตูล ประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พูดได้สองภาษา คือภาษาไทยและภาษามลายู สภาพพื้นที่เป็นเกาะ ต้องเดินทางโดยทางเรือเพียงอย่างเดียว ทางทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ชายเลน และเป็นภูเขาหิน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักเรื่องประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก และงานรับจ้างทั้งบนเกาะและเดินทางไปหางานทำที่มาเลเซีย
 
                    ประชาชนใน ต.ปูยู มีจุดแข็งหลายเรื่อง เช่น การอยู่กันแบบระบบเครือญาติ มีอากาศบริสุทธิ์ มีสถานที่ท่องเที่ยว (บ่อน้ำ 300 ปี) มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ มีความสามัคคีในชุมชน มีทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ อาหารทะเลสดและปลอดภัย มีป่าใช้สอยร่วมกัน และมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สามารถพัฒนาเชื่อมโยงกับ จ.สตูล รวมถึงระดับประเทศ แต่ปัญหาหลักของที่นี่คือ ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย
 
                    ปี 2558 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ “พอช.” สำนักงานภาคใต้ตอนล่าง ร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ ได้สำรวจข้อมูลความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชนใน ต.ปูยู พบว่ามีผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน จำนวน 568 ครัวเรือน จากทั้งหมด 684 ครัวเรือน ประสงค์เข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคงจำนวน 508 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน จำนวน 423 ครัวเรือน ในที่มีโฉนด 78 ครัวเรือน
 
 
ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย แรงใจพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ 'ปูยู'
 
 
                    ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินที่กล่าวมาข้างต้น ชาวบ้านมีสภาพบ้านเรือนแออัด ที่อยู่อาศัยชำรุด ทรุดโทรม และสภาพครัวซ้อนคือหนึ่งหลังอาศัยหลายครอบครัว
 
                    ปัญหาสาธารณูปโภค ได้แก่ น้ำใช้อุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ ไม่มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค น้ำดื่มราคาแพง มีลิงเยอะ ทำให้หลังคาบ้านสกปรก ทำลายหลังคา ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อลูกรัง ทางเดินหน้าบ้านเป็นสะพานไม้ผุ และขาดไฟฟ้าส่องสว่างตามถนน นอกจากนี้ยังมีปัญหาท่าเรือชำรุดไม่มีทำนบกั้นน้ำเค็ม เป็นต้น
 
                    ปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เรื่องขยะ คือการจัดการขยะไม่มีที่รองรับทั่วถึง มีขยะหมุนเวียนในทะเล (ปูยู-ตำมะลัง) และท่อระบายน้ำเสียมีน้อย ทำให้เกิดน้ำเน่าขัง เป็นต้น
 
 
ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย แรงใจพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ 'ปูยู'
 
 
                    หลังทราบปัญหาทั้งหมดแล้ว ผู้นำชุมชนได้ทำโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาสาธารณูปโภค เสนอต่อ พอช. และได้รับอนุมัติโครงการในเดือนสิงหาคม 2558 วงเงิน 27,940,000 บาท เพื่อการสร้างบ้านและปรับปรุงบ้าน รวมการพัฒนาสาธารณูปโภค รวม 508 หลังคาเรือน โดยเป็นบ้านที่เกาะยาว หรือ ต.ปูยู หมู่ 1 จำนวน 143 หลังคาเรือน ที่หมู่ 2 บนเกาะปูยู 156 หลังคาเรือน และหมู่ 3 บนเกาะปูยูเช่นกัน จำนวน 209 ครัวเรือน ซึ่งมีทั้งบ้านที่ต้องการสร้างใหม่และปรับปรุงต่อเติม
 
                    ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคทั้ง 3 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่นำไปเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ ถนนคอนกรีต ถนนในซอย อาคารอเนกประสงค์ ไฟส่องสว่างในชุมชน ระบบบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน การซ่อมแซมสะพานท่าเทียบเรือ การจัดซื้อเรือสาธารณะของชุมชนในการขนส่งวัสดุสร้างบ้าน เนื่องจากการขนส่งด้วยเรือของเอกชนค่าใช้จ่ายสูงมาก การพัฒนาคูระบายน้ำ โป๊ะขึ้นลงเรือ แนวกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น
 
                    กระบวนการและกลไกการดำเนินงานในการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคงนั้น ได้มีการสร้างความเข้าใจและทำงานร่วมกันกับองค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมกับสมาชิกที่เดือดร้อน และหน่วยงานในพื้นที่ ภายใต้คณะทำงานบ้านมั่นคงตำบลปูยูจำนวน 19 คน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนชุมชนผู้เดือดร้อนจาก 3 หมู่บ้าน รวม 15 คน ตัวแทนของท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ 4 คน (ป่าชายเลน โรงเรียน อนามัย อบต.) มีการพัฒนาการออมและสวัสดิการชุมชนในโครงการ พร้อมส่งเสริมระบบกลุ่มย่อยในแต่ละหมู่บ้าน (ชุมชน)
 
 
ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย แรงใจพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ 'ปูยู'
 
 
                    ณัฐวุฒิ โตะดิน ประธานคณะทำงานบ้านมั่นคงตำบลปูยู เปิดเผยว่า ได้สร้างบ้านตัวอย่างจำนวน 3 หลัง หมู่บ้านละ 1 หลัง จากการสนับสนุนของเครือข่ายช่างชุมชนใน จ.สตูล หน่วยบ้านมั่นคงที่ดิน พอช.ภาคใต้ ภายใต้สโลแกน 3 วันเสร็จ 7 วันอยู่ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา เมื่อชาวบ้านเห็นบ้านตัวอย่างทำให้สมาชิกรายอื่นๆ มีความเชื่อมั่นและทยอยสร้างบ้านของตนเอง ครัวเรือนที่ทำเองไม่ได้เราก็ใช้ช่างในชุมชนช่วยกันเป็นหลัก
 
                    ยาวาเรี๊ยะ ละใบง๊ะ อายุ 38 ปี เจ้าของบ้าน(มั่นคง)หลังแรกที่บ้านปูยู เล่าว่า ครอบครัวของเธอมีสมาชิกทั้งหมด 5 คน และบ้านเก่าทรุดโทรมมาก คณะทำงานในพื้นที่จึงได้เสนอให้บ้านของเธอเป็นบ้านหลังแรกในพื้นที่ โดยเพื่อนบ้านในเครือข่าย มาช่วยกันสร้าง ขนาดบ้าน 6x7 เมตร ครอบครัวของเธอเป็นชาวประมงพื้นบ้าน สามีออกเรือได้ปีละประมาณ 7-8 เดือน บางช่วงต้องไปทำงานรับจ้างที่มาเลเซีย เธอรู้สึกดีใจที่มีบ้านใหม่ เพราะหลังเดิมทรุดโทรมและมีลิงในพื้นที่รบกวนมาก ไม่สามารถเปิดบ้านในช่วงเช้าได้ เพราะลิงจะเข้ามาคุ้ยหาของกินในบ้าน 
 
                    ลำละ หมาดสา อายุ 38 ปี ที่บ้านตันหยงกาโปย ต.ปูยู หมู่ 1 เล่าว่า ครอบครัวของเธอมีสมาชิกทั้งหมด 9 คน รู้สึกดีใจที่ได้บ้านใหม่ และบ้านเก่าได้รื้อทิ้งไปแล้ว สามีของเธอเลี้ยงครอบครัวด้วยอาชีพประมง ซึ่งในช่วงหลังๆ ความสมบูรณ์ในทะเลน้อยลง รายได้ไม่แน่นอน รวมทั้งทางการมีความเข้มงวดในเครื่องมือประมงมากขึ้น จึงหวังว่าในอนาคตปูปลาในทะเลจะสมบูรณ์ขึ้น คนหนุ่มสาวและหัวหน้าครอบครัวจะได้ไม่ต้องทำงานรับจ้างในมาเลเซีย
 
 
ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย แรงใจพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ 'ปูยู'
 
 
                    ปัจจุบันการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมของโครงการบ้านมั่นคงตำบลปูยู มีความก้าวหน้าไปมาก เช่น มีบ้านที่สร้างและต่อเติมแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม จำนวน 62 หลังคาเรือน มีการเข้าอยู่อาศัยแล้ว 21 หลังคาเรือน มีการพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น ที่หมู่ 1 บ้านเกาะยาว ได้ซื้อเรือเป็นของชุมชน เพื่อการขนส่งวัสดุก่อสร้างในการสร้างบ้านและสาธารณูปโภค เพราะราคาขนส่งแพงมาก หากใช้เรือของเอกชน ที่หมู่ 2 บ้านตันหยงกาโปย มีการซ่อมบันไดขึ้นลงเรือแล้วที่บ้านใต้ มีการสร้างบ้านผู้ด้อยโอกาสแล้ว 1 หลัง ในพื้นที่หมู่ 3 สำหรับสองคนพี่น้องที่ไม่มีพ่อแม่และบ้านอาศัย
 
                    ในการพัฒนาทุนชุมชน ปัจจุบันมีระบบการออมและเงินออมของชุมชนแล้ว วงเงิน 265,250 บาท คือออมสัจจะ 37,520 บาท ออมเพื่อพัฒนาอาชีพ 142,680 บาท ออมสวัสดิการ 46,690 บาท กองทุนรักษาดินและบ้าน 32,360 บาท มีการคืนทุนเงินอุดหนุนแล้ว 6,000 บาท
 
                    เมื่อถามถึงปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินงานพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ในที่ประชุมของคณะทำงานบ้านมั่นคงตำบลปูยู เห็นว่า เกิดจากคนในชุมชนมีความเชื่อมั่นในการสร้างบ้านของตนเอง หลังจากเห็นบ้านตัวอย่าง รวมทั้งการมีแกนนำที่ตั้งใจในการทำงาน มีอบต.และหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือ ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดูแลเรื่องที่ดินป่าชายเลน ที่ได้จัดสรรพื้นที่และอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยได้ และการใช้เวทีประชุมประจำเดือนในการติดตามและรายงานความคืบหน้า ทั้งความสำเร็จและอุปสรรคในที่ประชุมทุกเดือน
 
                    หวังว่า ผลสำเร็จที่ “ปูยู” จะเป็นพลังสร้างสรรค์ให้ชุมชนอื่นได้เรียนรู้ต่อไป
 
 
 
 
----------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย แรงใจพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ 'ปูยู' : โดย...อุดมศรี ศิริลักษณาพร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน))
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ