Lifestyle

คืนธรรมชาติให้เขาหัวโล้น สร้างฐานอาชีพใหม่ให้ชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : คืนธรรมชาติให้เขาหัวโล้น สร้างฐานอาชีพใหม่ให้ชุมชน : โดย...ธนชัย แสงจันทร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม สกว.

 
                    “น่าน” เป็นจังหวัดที่มีต้นทุนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ที่หลากหลาย และมีคุณค่า มีป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำน่าน อันเป็นลุ่มน้ำที่สำคัญกับประเทศไทย โดยมีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 3.4 ล้านไร่ สำหรับน้ำที่ก่อเกิดบนผืนป่าน่านจะถูกผันลงสู่ที่ราบลุ่มภาคกลางถึง 40% ครอบคลุมพื้นที่ 21 จังหวัดของจำนวนน้ำทั้งหมดที่ต้องการ
 
                    แต่สภาพการณ์ปัจจุบัน “น่าน” ถูกท้าทายด้วยการขยายตัวของการทำการเกษตรของชาวบ้าน จนทำให้พื้นที่ป่าของน่านลดลงกว่าปีละ 20,500 ไร่ โดยในระหว่างปี 2507-2556 ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าที่สำคัญ ได้แก่ การบุกรุกเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้อมูลชุดนี้ได้ถูกนำเสนอสู่สาธารณะ โดย บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในงานสัมมนาวิชาการ “รักษ์ป่าน่าน” เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 ซึ่งการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่ใช่แค่ก่อให้เกิดปัญหาการบุกรุก และตัดไม้ทำลายป่า แต่ยังทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ เชื่อมโยงเป็นลูกโซ่เกาะเกี่ยวกันตามมา เช่น ปัญหาเรื่องน้ำ ปัญหาไฟป่า และหมอกควัน
 
 
คืนธรรมชาติให้เขาหัวโล้น สร้างฐานอาชีพใหม่ให้ชุมชน
 
 
                    จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น นำมาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยการบูรณาการของทุกภาคส่วน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้าไปสนับสนุนให้เกิดโครงการวิจัย พัฒนาจังหวัดน่าน
 
                    กิตติ สัจจาวัฒนา รองผู้อำนวยการหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ อธิบายว่า นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา สกว.ได้สนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based Collaborative Research: ABC) ในจ.น่าน โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกการจัดการของจังหวัดเป็นตัวบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ท้องถิ่น เอกชน ตลอดจนภาครัฐ ร่วมกันดำเนินงาน
 
                    ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา การทำงานยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดการบูรณาการในการทำงานร่วมกัน และกระบวนการวิจัยจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภาพกว้างของการพัฒนาจังหวัดน่าน ทั้งเรื่องข้อมูลและความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงเพื่อเกิดการประสานภาคีเครือข่ายการพัฒนาพื้นที่
 
 
คืนธรรมชาติให้เขาหัวโล้น สร้างฐานอาชีพใหม่ให้ชุมชน
 
 
                    กระทั่งปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและองค์กรท้องถิ่นเพื่อการจัดการผลิตทางเกษตรอย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรธรรมชาติในจังหวัดน่าน โดยอาศัยความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ครอบคลุมและเพียงพอต่อพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมกับการเพาะปลูก สร้างรายได้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต รวมถึงความรู้สึกที่ดีต่อการอนุรักษ์และการคืนผืนป่า ทั้งหมดเป็นโซ่ที่ต้องเชื่อมโยงกัน
 
                    อย่างไรก็ดี จากการวิจัย ทำให้ค้นพบว่า การพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชน และการส่งเสริมการทำการเกษตรอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ข้าวโพด อาจช่วยได้ โดยทีมวิจัยใช้พื้นที่ตำบลเมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ในการศึกษาทดลอง
 
 
คืนธรรมชาติให้เขาหัวโล้น สร้างฐานอาชีพใหม่ให้ชุมชน
 
 
                    สำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่านในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย สกว.อธิบายว่า เมื่อชาวบ้านในพื้นที่มีทางเลือกในปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต แนวทางการแก้ไขปัญหาคนบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำในพื้นที่ก็ดำเนินการได้ง่ายขึ้น โดยเวทีระดมความคิดเห็นของชาวบ้านและข้อตกลงซึ่งเป็นเงื่อนไขของชุมชนข้อหนึ่ง คือ “น้ำแลกป่า” หรือการจัดหาแหล่งน้ำให้การเกษตร สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านหันมาปลูกพืชในที่ราบแทนที่สูง โดยใช้ระบบกาลักน้ำ ซึ่งเป็นวิธีการถ่ายเทของเหลวจากที่สูงลงไปสู่ที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง ผ่านตัวกลางคือท่อหลอด หรือสายพีวีซี เชื่อมต่อจากท่อหลักแล้วนำมาจัดเก็บในบ่อพักน้ำของตนอีกที หรือที่เรียกว่า บ่อพวง ควบคู่กับการสร้างปัจจัยเรียนรู้ในการปรับตัวการทำเกษตรและการส่งเสริมพันธุ์ไม้ผลที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น มะม่วง ลิ้นจี่
 
                    “สำหรับกาลักน้ำไม่ต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าช่วยแต่อย่างใด วิธีการทำโดยใช้หลอดหรือท่อน้ำมาเติมน้ำให้เต็ม ปิดปลายหลอดทั้งสองข้างเอาไว้ให้แน่น และนำปลายหลอดข้างใดข้างหนึ่งใส่ลงไปในภาชนะที่ต้องการที่จะถ่ายเทน้ำออก และปลายหลอดอีกข้างหนึ่งก็ใส่ไว้ในภาชนะที่รองรับและจะต้องต่ำกว่าภาชนะที่จะถ่ายน้ำออกเสมอ แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของน้ำและน้ำหนักของน้ำในหลอดจะดูดเอาน้ำจากปลายหลอดด้านที่สูงกว่าลงมาสู่ด้านที่ต่ำกว่า ทำให้เราถ่ายน้ำออกจากภาชนะได้อย่างง่ายดาย” ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน อธิบาย
 
                    และยังกล่าวว่า ในส่วนของต้นทุนในการทำกาลักน้ำ ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับ โดยกาลักน้ำหนึ่งตัวใช้เงินลงทุน 210,000 บาท มีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี และมีประชาชนได้รับประโยชน์เฉลี่ย 400-600 ครัวเรือน นอกจากกาลักน้ำ บ่อพวงแล้ว ทีมวิจัยยังได้นำระบบเหมืองฝาย ชลประทานชาวบ้านของคนภาคเหนือ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่อีกด้วย โดยสรุปการจัดการน้ำในพื้นที่ต.เมืองจัง แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ กาลักน้ำ บ่อพวง และเหมืองฝาย
 
 
คืนธรรมชาติให้เขาหัวโล้น สร้างฐานอาชีพใหม่ให้ชุมชน
 
 
                    ทั้งนี้ เมื่อมีแหล่งน้ำในการเพาะปลูกเพียงพอ แนวทางในการเจรจาขอคืนพื้นที่ป่าจากชาวบ้าน ก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะที่ผ่านมาทางมูลนิธิฮักเมืองน่าน ก็ได้ดำเนินการมาบ้างแล้ว และจะเดินหน้าขอคืนผืนป่าต่อไป ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าจะขอคืนให้ได้ 5 พัน ถึง 1 หมื่นไร่ ซึ่งการคืนพื้นที่ป่าก็เป็นการเพิ่มต้นทุนในการจัดการน้ำ เพราะมีป่าก็มีน้ำ ซึ่งเป็นการคืนพื้นที่ป่าด้วยความเต็มใจ โดยไม่ต้องใช้ยาแรงมากระตุ้น ตามที่รัฐบาลประกาศ
 
                    นอกจากการอธิบายเรื่องระบบการจัดการน้ำในพื้นที่ต.เมืองจัง สำรวย ผัดผล ยังอธิบายแผนภาพรวมของโครงการวิจัยต่อการเปลี่ยนพื้นที่เขาหัวโล้นให้เป็นพื้นที่อันสมบูรณ์ ที่สามารถทำการเกษตรได้หลากหลาย รวมถึงการปศุสัตว์ด้วย ทั้งหมดเห็นจะเป็นอย่างที่นักวิชาการว่า “แล้งเราแล้งเขาไม่เท่ากัน” อยู่ที่การจัดการ
 
 
 
-------------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : คืนธรรมชาติให้เขาหัวโล้น สร้างฐานอาชีพใหม่ให้ชุมชน : โดย...ธนชัย แสงจันทร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม สกว.)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ