Lifestyle

ฟื้นชีวิต 'เลพ่อเฒ่า' จับเพื่อเพิ่มที่อ่าวบ้านดอน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากมิติเวทีทัศน์ : ฟื้นชีวิต 'เลพ่อเฒ่า' จับเพื่อเพิ่มที่อ่าวบ้านดอน : โดย...สุวัฒน์ คงแป้น

 
                    แสงแดดเดือนมีนาคมบริเวณพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองท่าทอง อ.กาญจนดิษฐ์ อ.สุราษฎร์ธานี แม้จะร้อนแต่มีลมทะเลพัดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้คนหลายร้อยชีวิตทั้งชาวบ้านในพื้นที่ พี่น้องเครือข่ายอ่าวบ้านดอน คณะอาจารย์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ฯลฯ ที่มารวมตัวกัน ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพื่อเตรียมตัวลงเรือจับหอยบริเวณปากน้ำท่าทอง รู้สึกเย็นสบาย
 
                    ทุกคนใช้เหีย (อวนที่ทำเป็นถุง) คล้องคอเอาไว้ใส่หอยที่จับได้ นับเป็นประสบการณ์แรกของหลายคนที่จะได้จับหอยในทะเลด้วยตนเอง จึงทำให้รู้สึกตื่นเต้น ไม่นานเรือหางยาวของชาวประมงหลายลำก็พาแขกเหล่านี้จากท่าเรือหน้าพิพิธภัณฑ์แล่นไปตามคลองท่าทองออกสู่ท้องทะเลอ่าวไทย ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 2 กิโลเมตร
 
                    อ่าวบ้านดอน ตั้งอยู่ในเขต จ.สุราษฎร์ธานี มีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ อ.ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง พุนพิน เมืองกาญจนดิษฐ์ และดอนสัก รวม 6 อำเภอ 19 ตำบล ในอดีตเป็นอ่าวที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าชายเลนอุดมสมบรูณ์ ประกอบกับพื้นที่ต้นน้ำหลายสายที่ไหลลงสู่อ่าวบ้านดอนก็เป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ น้ำจึงพัดพาอาหารลงสู่อ่าวส่งผลให้อ่าวบ้านดอนอุดมสมบูรณ์ทั้งสัตว์น้ำและพืชทางทะเลเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศและของโลก
 
                    ผมเกิดและโตที่อ่าวบ้านดอน จึงรับรู้ได้ถึงความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างดี ชาวบ้านที่นี่จับสัตว์น้ำด้วยมือเปล่าในฤดูแล้ง เพียงมีกระดานเลนก็หากินได้ทั่ว ไม่ว่า กุ้ง หอย ปู ปลา อยากกินปูทะเลก็เพียงถือเหียเดินออกไปในป่าแสม สายตาที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ก็จะรู้ว่าหลุมเล็กๆ มีปูนอนนิ่ง เพื่อลอกคราบ อยากได้ตัวเคยมาทำกะปิ ก็เพียงทำดินเลนเป็นคันเล็กๆ แล้วใช้อวนรุนตัวเคยได้เป็นเข่ง
 
                    ส่วนในฤดูน้ำหลากจะต้องมีเครื่องมือประมงที่ทำด้วยไม้ไผ่เพื่อดักปลา เช่น ซ่อนดักปลากระบอก ทำโม่ดักปลาได้ทุกชนิด หรือแม้แต่ใช้ถุงเท้าเก่าๆ ของลูกสวมมือเพื่อจับปูแสม ซึ่งหนีน้ำเกาะอยู่บนต้นโกงกางจนมองไม่เห็นต้น เรียกได้ว่าทุกฤดูกาลชาวบ้านซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำได้ด้วยมือเปล่า หรือไม่ก็แค่อุปกรณ์การประมงที่ทำแบบง่ายๆจากภูมิปัญญาของพวกเขา จึงทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวบ้านดอน ยังคงเป็น “เลพ่อเฒ่า” หรือทะเลสาธารณะที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่ทุกคนหาเลี้ยงชีพได้
 
 
ฟื้นชีวิต 'เลพ่อเฒ่า' จับเพื่อเพิ่มที่อ่าวบ้านดอน
 
 
                    ความเปลี่ยนแปลงของอ่าวบ้านดอน เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีมานี้ ด้วยสาเหตุสำคัญอย่างน้อยสามประการ ประการแรก คือ การเกิดขึ้นของการทำนากุ้งกุลาดำ ซึ่งใครๆ ก็รู้ดีว่าผู้อยู่เบื้องหลังการเลี้ยงกุ้งกุลาดำคือนายทุนเกษตรรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งเขาสามารถทำเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ เป้าหมายเพื่อขายพันธุ์กุ้ง อาหารกุ้ง และอุปกรณ์การเลี้ยงกุ้ง
 
                    แต่การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ มีการอนุญาตให้รุกป่าชายเลนจำนวนมาก โดยการอนุญาตอย่างถูกต้องจากส่วนราชการ ส่วนชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่ใกล้ๆ ป่าชายเลน ก็เปลี่ยนที่ดินเหล่านั้นเป็นนากุ้งกันทั่วหน้า ลงทุนด้วยเงินหลักล้าน โดยการกู้ยืมจากธนาคาร แต่ผลผลิตกุ้งแต่ละรุ่นก็ทำเงินล้านได้เช่นกัน แต่เป็นอยู่แบบนี้ได้ไม่กี่ปี เพราะกุ้งเลี้ยงยากขึ้นเรื่อยๆ ต้องลงทุนมากขึ้น ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่เป็นอันหลับอันนอน จนเกิดเหตุกุ้งตายบ่อยครั้งก็ต้องขาดทุนและปล่อยให้เป็นนากุ้งร้าง หรือให้เอกชนเช่าต่อไป
 
                    การเลี้ยงกุ้งไม่เพียงทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้เป็นสินสิ้นเนื้อประดาตัวเท่านั้น แต่ได้ทำลายป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กไปจนหมดสิ้น รวมทั้งน้ำเสียจากนากุ้งก็ถูกปล่อยลงสู่ทะเล ทำให้สัตว์น้ำชายฝั่งอาศัยอยู่ไม่ได้ ชาวประมงชายฝั่งต้องเลิกอาชีพไปจำนวนมาก
 
                    ประการถัดมา ก็คือ ภัยจากเรือประมงเชิงพาณิชย์ ที่ใช้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำแบบล้างผลาญ อีกทั้งไม่คำนึงถึงฤดูวางไข่ของสัตว์น้ำ ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายกับประมงแบบนี้อย่างเคร่งครัด ส่งผลให้อ่าวบ้านดอนขาดความอุดมสมบูรณ์ลงไปเรื่อยๆ
 
                    ประการสุดท้าย ก็คือ การอนุญาตให้มีการสัมปทานเลี้ยงหอย รุกล้ำชายฝั่ง จนชาวประมงพื้นบ้านไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน ทะเลไม่ใช่ “เลพ่อเฒ่า” หรือพื้นที่สาธารณะอีกต่อไป แต่เป็นทะเลที่มีเจ้าของ
 
                    จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ก็ได้มีความพยายามจากภาคส่วนต่างๆ ในการจับมือกันฟื้นฟูอ่าวบ้านดอนให้เป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนอีกครั้งหนึ่ง โดยในส่วนของภาคประชาชนได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายอนุรักษ์อ่าวบ้านดอน มีการส่งเสริมการปลูกป่าชายเลน ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ โดยมีสถาบันการศึกษามาสนับสนุนเรื่องงานวิชาการ เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา
 
 
ฟื้นชีวิต 'เลพ่อเฒ่า' จับเพื่อเพิ่มที่อ่าวบ้านดอน
 
 
                    ในปี 2555 มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของพี่น้องอีกครั้ง เน้นการทำพื้นที่นำร่องในการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง และการกำหนดเขตพื้นที่ให้เป็นเขตทำกินของชาวประมงพื้นบ้าน โดยส่งเสริมใน 13 ตำบล ที่มีการจดแจ้งสภาองค์กรชุมชน การสนับสนุนในครั้งนั้นนำไปสู่การกำหนดเขตสามร้อยเมตร โดยมี นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี มาเป็นประธานในการปักเขตที่ปากคลองกะแดะ อ.กาญจนดิษฐ์ และเกิดพื้นที่รูปธรรมนำร่องที่ ต.ท่าทอง
 
                    จากการดำเนินงานนำร่องที่ ต.ท่าทอง ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งที่ 4 กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเป็นอย่างดี
 
                    วิชัย สมรูป ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ข้อมูลว่า จากการจุดประกายที่ ต.ท่าทอง ทางเราจึงได้จัดทำโครงการป่า-เลชุมชน เสนอเข้าแผนงบประมาณปี 2560 เพิ่มขึ้นอีก 4 อำเภอ ให้มีพื้นที่นำร่องอำเภอละแห่งครอบคลุมทั่วทั้งอ่าวบ้านดอน ส่วนที่ อ.กาญจนดิษฐ์ ก็จะขยายผลจาก ต.ท่าทอง ไปสู่ ต.กะแดะ ต่อไป
 
                    โดยกิจกรรมป่า-เลชุมชน ประกอบด้วยการกำหนดเขตพื้นที่ชายฝั่งให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยทหารได้ดำเนินการประกาศให้มีความกว้างถึง 1,000 เมตร โดยพื้นที่เหล่านี้จะมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หอย” ซึ่งเคลื่อนที่ไม่ได้ให้เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน มีการทำงานกับชุมชนเพื่ออนุรักษ์และทำกติการ่วมกัน โดยมีการลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังการบุกรุก
 
                    ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วมฯ ให้ความเห็นอีกว่า การจะทำให้อ่าวบ้านดอนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งจะต้องทำสามอย่างควบคู่กันไป
 
                    1) ต้องปฏิรูปการถือครองพื้นที่สาธารณะหรือการทำให้ทะเลเป็นพื้นที่กลาง ปัจจุบันมีการอนุญาตให้มีการถือครองเพื่อเลี้ยงหอยมากเกินไป บางรายถือครอง 5,000 ไร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต อ.ท่าชนะ อ.เมือง อ.พุนพิน เป็นเขตห้ามเลี้ยงหอย แต่ก็มีนายทุนผู้มีอิทธิพลเข้ามายึดพื้นที่สาธารณะเหล่านี้เพื่อเลี้ยงหอย ทำให้เกิดปัญหากับประมงชายฝั่งเป็นอย่างมาก
 
 
ฟื้นชีวิต 'เลพ่อเฒ่า' จับเพื่อเพิ่มที่อ่าวบ้านดอน
 
 
                    2) จะต้องเคร่งครัดเรื่องเครื่องมือจับสัตว์น้ำแบบทำลายล้าง โดยต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนชาวประมงขนาดเล็กที่ยังใช้เครื่องมือแบบนี้อยู่ ก็ต้องทำความเข้าใจให้เกิดความตระหนัก
 
                    อังคณา วิชัยดิษฐ์ ชาวประมงรายหนึ่ง เล่าว่า เมื่อก่อนใช้ลอบดักปูแบบคอนโด ทำให้ดักติดปูตัวเล็กตัวน้อย ปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นอวนปูธรรมดาและจะปรับเปลี่ยนเครื่องมือให้สอดคล้องกับสัตว์น้ำแต่ละฤดู
 
                    3) คือต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวประมงพื้นบ้านซึ่งได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง
 
                    วีระพงษ์ ทองล่อง ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.ท่าทอง เล่าว่า ที่นี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่ 1 มีชาวบ้านประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านจำนวนมาก จึงลุกขึ้นมารักษาทะเลให้เป็นทะเลพ่อเฒ่า ปักแนวเขตระยะ 300 เมตร ทำปะการังเทียมและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การจัดงานในครั้งนี้ต้องการจะปลุกสำนึกการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการช่วยกันดูแลที่ทำกิน เป็นการจับเพื่อเพิ่มหอยในทะเล
 
                    ในขณะที่ ประมวล รัตนานุพงษ์ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์อ่าวบ้านดอน บอกว่า การอนุรักษ์อ่าวบ้านดอน หัวใจอยู่ที่ประชาชน ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และการจริงจังด้านนโยบาย ตอนนี้เราจึงได้ยกประเด็นประมงชายฝั่งเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญของประชาชน จ.สุราษฎร์ธานี
 
                    เพราะภาคประชาชนนั้น ไม่ใช่ผู้ที่มีอาชีพประมงพื้นบ้านเท่านั้น แต่คนอื่นๆ ในสุราษฎร์ธานีต้องร่วมด้วยจึงจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
 
 
 
 
-------------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : ฟื้นชีวิต 'เลพ่อเฒ่า' จับเพื่อเพิ่มที่อ่าวบ้านดอน : โดย...สุวัฒน์ คงแป้น)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ