Lifestyle

คนสลุยเข้มแข็งด้วยเวที 'สภา' แก้ปัญหาที่ดินและสิ่งแวดล้อม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากมิติเวทีทัศน์ : คนสลุยเข้มแข็งด้วยเวที 'สภา' แก้ปัญหาที่ดินและสิ่งแวดล้อม : โดย...รัชตะ มารัตน์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

 
                    ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลสลุย อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งชาวบ้านได้ใช้สภาดังกล่าวเป็นเวทีกลางในการปรึกษาหารือกัน เพื่อทราบถึงปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ เป็นสภาองค์กรชุมชนที่จดแจ้งจัดตั้งตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 พบว่า แม้สภาที่นี่ จะตั้งมาได้ประมาณครึ่งปีเท่านั้น แต่ชาวบ้านและผู้นำทุกภาคส่วนก็มีความร่วมมือกันดี ทำให้สภาองค์กรชุมชนที่นี่มีศักยภาพไม่แพ้สภาที่จัดตั้งมาหลายปีเลยทีเดียว
 
                    ทั้งนี้ คงมีปัจจัยหนึ่งมาจากปัญหาร่วมของคนในชุมชน คือปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ รวมทั้งปัญหาราคาผลผลิตที่ตกต่ำ เกิดเป็นการรวมกลุ่มสิทธิชุมชน นำไปสู่การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในที่สุด โดยมี การันต์ จันทร์แสง กำนันตำบลสลุย เป็นประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลสลุย อีกตำแหน่งโดยมีทีมงานสายเลือดใหม่หลายคน เช่น วุฒธินันต์ แจะซ้าย รับหน้าที่รองประธานสภาองค์กรชุมชน สุรพล เผือกเนียร, บุญรอด อินทรีย์, ปรีชา อุเทศ, สมศักดิ์ อยู่มา เป็นต้น เป็นบุคลากรผู้ก่อการดี ที่มาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาให้คนในตำบล หวังให้เกิดความยั่งยืนกับลูกหลานสลุย ในอนาคต
 
                    วุฒธินันต์ ผู้ซึ่งเป็นเลือดใหม่ของชาวสลุย เล่าว่า ก่อนที่จะมีองค์กรภาคประชาชนที่มีกฎหมายรองรับอย่างสภาองค์กรชุมชนนั้น ตนและผู้ร่วมอุดมการณ์หลายสิบคน เล็งเห็นถึงปัญหาและความต้องการของคนในตำบล ซึ่งก็คือ ความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนที่ของรัฐซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ค่อยเป็นธรรมนัก แต่ไม่ได้มองแค่เพียง ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิเท่านั้น แต่คิดว่าอนาคตอีกสิบ-ยี่สิบปีข้างหน้า คนสลุยจะอยู่อย่างไร ในเมื่อราคาพืชผลก็ผันผวน โลกาภิวัตน์ก็รุกคืบจนยากจะรับมือ คนในชุมชนจึงต้องรวมกลุ่มให้เข้มแข็ง ร่วมกันแก้ปัญหาของตนเอง ร่วมกันสร้างความยั่งยืน และอยู่ร่วมกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงให้ได้ จึงเกิดเป็น กลุ่มสิทธิชุมชน ประสานกลุ่มพลังอื่นๆ อีกหลายกลุ่มมาก่อเกิด สภาองค์กรชุมชนตำบลสลุย ในที่สุด
 
                    ต.สลุย ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เป็นพื้นที่ป่าสลับเขาขนาดเล็ก มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2484 ที่กองทัพญี่ปุ่น ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยในสมัยนั้นขึ้นฝั่งเพื่อใช้เป็นทางผ่านไปยังประเทศเมียนมาร์ ชาวบ้านที่อยู่กระจัดกระจายในยุคสงครามกลัวภัยอันตรายที่อาจเกิดกับทรัพย์สินของตน จึงทิ้งเครื่องมือทำมาหากิน เช่น ครก และสากกะเบือ ลงคลองท่าแซะ ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสายหลักของ จ.ชุมพรในปัจจุบัน
 
                    ว่ากันว่าครกที่ชาวบ้านกลิ้งลงไป ลอยน้ำไปติดอยู่ในหมู่บ้านในเขต ต.นากระตาม จึงได้ชื่อว่า “วังครก” ส่วนสากกะเบือ ไม่ลอยน้ำไปไหน ทหารญี่ปุ่นซึ่งพอที่จะพูดจาภาษาไทยได้แล้ว เมื่อมาถึงจุดที่ตั้งตำบลนี้ เห็นสากกะเบือจำนวนมาก จึงพูดว่า “สากลุย” เป็นรากศัพท์ภาษาใต้ แปลว่า “มีสากกะเบือมาก” และเพี้ยนมาเป็นชื่อตำบล “สลุย” ในที่สุด
 
                    ในยุคแรกชาวบ้านอยู่อาศัยกระจัดกระจาย มีการเข้ามาทำมาหากินจากคนท่าแซะ และคนนากระตาม ซึ่งเป็นการขยายตัวของครอบครัวที่มีบุตรหลานหลายคน เข้ามาตั้งชุมชนใหม่ เพราะคนสมัยก่อนนั้นมีลูกมาก ลูกหลานที่เกิดมาจำเป็นต้องขยับขยายหาที่ทางทำมาหากิน จนเกิดเป็นชาวสลุยในที่สุด
 
                    เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลสลุย ยังให้ข้อมูลต่ออีกว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ปัญหาก็เข้ามาหาชาวสลุยแบบเงียบๆ เมื่อมีกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อว่า พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ที่ว่าเงียบๆ นั้น เพราะเป็นการประกาศทับซ้อนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน บางคนก็ได้สิทธิ์ไป บางคนก็ไม่มีสิทธิ์ แต่ก็ไม่ต่างกัน ยังทำมาหากินได้เหมือนเดิม ชาวบ้านจึงไม่รู้สึกว่ามีปัญหามากนัก
 
 
คนสลุยเข้มแข็งด้วยเวที 'สภา' แก้ปัญหาที่ดินและสิ่งแวดล้อม
 
 
                    การประกาศกฎหมายต่างๆ ในพื้นที่ยังมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ชาวบ้านก็ยังอาศัยวิถีชุมชน ทำมาหากินบนที่ทางของตัวเองเท่าที่มี เป็นฝ่าย “ตั้งรับ” มาตลอด ส่วนนโยบายรัฐที่เข้ามา มีการประกาศ เขตป่าน้ำตกกระเปาะ เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2516 ประกาศเขตป่ารับร่อ และป่าสลุย เมื่อ 3 ตุลาคม 2521 โดยที่ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการในยุคนั้นน้อยมาก
 
                    จากคำบอกเล่า สลุยเริ่มมาถึงการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง ในพ.ศ. 2522 เมื่อเกิดนโยบายการสัมปทานป่าไม้ โดยมีการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาทำการสัมปทานป่าไม้ ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ชาวบ้านในยุคนั้น เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะ “ลูกจ้างเอกชน” เป็นส่วนใหญ่ เพื่อแลกกับการไม่ต้องย้ายออกไปไหน “จะว่าถูกหลอกก็ไม่ใช่ จะให้ก็ไม่เชิง”
 
                    พอมาถึงปี พ.ศ. 2532 เกิดมหาวาตภัย “ไต้ฝุ่นเกย์” ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดที่พี่น้องแถบนี้ประสบภัยธรรมชาติในครั้งนั้น ส่งผลต่อทรัพย์สินของพี่น้อง รวมทั้งสภาพป่าที่กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม หลังจากนั้น เอกชนจึงเข้าดำเนินการปลูกยางพาราเป็นส่วนใหญ่ ส่วนชาวบ้านก็ทำไร่หาเลี้ยงชีพตามยถากรรม พอมาถึงปี พ.ศ. 2535 ก็เกิด พ.ร.บ.สวนป่าขึ้นมา โดยอนุญาตให้บุคคลเข้าไปบำรุงหรือปลูกสร้างสวนป่า หรือไม้ยืนต้น ในเขตป่าสงวนฯ เสื่อมโทรม
 
                    ชาวบ้านเริ่มอยู่อย่างไม่ปกติสุขใน พ.ศ. 2547-2548 เมื่อทางการให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีอำนาจในการตรวจสอบการบุกรุก การใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวน ชาวบ้านเล่าว่า ทางการได้เข้ายึดพื้นที่โดยไม่ได้ตรวจสอบความเป็นมาเท่าที่ควร ในตอนนั้นมีผู้เดือดร้อน 100 กว่าครัวเรือน ถูกดำเนินคดี 10 กว่าราย มีทั้งที่จำคุกและเปรียบเทียบปรับ มีการหยิบยกปัญหานี้เข้าอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้ง จนหลายฝ่ายต้องหาทางแก้ปัญหา ส่งผลให้ชาวบ้านไม่ได้เป็น “ผู้ตั้งรับ” เหมือนสมัยก่อน โดยมีการนำเสนอข้อมูลไปยังหน่วยงานตั้งแต่ระดับอำเภอ ไปจนถึงระดับจังหวัด จนเกิดการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน ในปี พ.ศ. 2548 ส่งผลให้เกิดการเข้าตรวจสอบพื้นที่อีกครั้ง มีทั้งคนที่กล้าแสดงตัว และไม่กล้าแสดงตัว มติในครั้งนั้นให้มีการผ่อนผันแบบไม่มีกำหนด ชาวบ้านจึงสามารถเข้าเก็บพืชผลได้ เป็นการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าให้ชาวบ้านได้ในระดับหนึ่ง
 
                    ดูเหมือนว่าการดำเนินงานของรัฐก็ยังไม่ตอบโจทย์ชาวบ้านเสียทีเดียว เพราะหลังจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ก็ไม่ได้มีการระดมปัญหาแบบมีส่วนร่วม มีเพียงการทำแบบสำรวจ ชนิดสื่อสารทางเดียวปราศจากข้อเสนอแนะจากชาวบ้านผู้เดือดร้อน
 
                    จนมาถึงปี พ.ศ. 2557 มีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ คำสั่งในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการตรวจยึดพื้นที่จากชาวบ้านถึง 6 จุด รวมแล้ว 400 กว่าไร่ ซึ่งชาวบ้านก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขา “ไม่ใช่นายทุน” มาคราวนี้ พวกเขาจึงใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลสลุย กับหน่วยงานรัฐ จนผลักดันออกมาเป็นคำสั่งจังหวัดชุมพรที่ 0358/2559 เกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบ ข้อมูลรายละเอียดการครอบครองที่ดินของรัฐ โดยมีทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เดือดร้อนเป็นคณะทำงานร่วมกัน
 
                    ความหวังของคนสลุย เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหา สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลสลุย พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาไม่สนับสนุนนายทุน พวกเขาอยากได้ความยั่งยืน พวกเขาอยากทำงานร่วมกับรัฐในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาระบบการแก้ไขปัญหานั้น ประชาชนจะตกอยู่ในสถานะเป็นผู้รับมากกว่าที่จะแสดงความคิดเห็นหรือการประชาคมร่วม แต่ในวันนี้ถือได้ว่าประชาชนมีโอกาสลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีให้ทุกคนมาพูดคุยและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเข้าใจ
 
                    สุดท้ายชาวบ้านหวังลึกๆ ว่า ข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างภาคประชาชนกับรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อคนสลุยจะมีความมั่นคงยั่งยืนในอนาคตด้วย
 
 
 
 
---------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : คนสลุยเข้มแข็งด้วยเวที 'สภา' แก้ปัญหาที่ดินและสิ่งแวดล้อม : โดย...รัชตะ มารัตน์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ