Lifestyle

ก่อนเซ็น‘ค้ำประกัน’บทเรียน‘หมอฟันหนีหนี้’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก่อนเซ็น‘ค้ำประกัน’บทเรียน‘หมอฟันหนีหนี้’ : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

            จากกรณีโลกออนไลน์รุมต่อต้าน “หมอฟันสาว” ผู้รับเงินทุนการศึกษาไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา 10 ล้านบาท แล้วเพิกเฉยไม่กลับมาชดใช้จนทำให้ “ผู้ค้ำประกัน” จำนวน 4 คน ต้องเดือดร้อน

            กรณีนี้สร้างความสงสัยให้แก่สังคมว่า ผู้ค้ำประกันมีวิธีเรียกร้องเงินที่จ่ายให้เจ้าหนี้ไปได้หรือไม่?

            ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายแก้ไขปรับปรุงใหม่เกี่ยวกับการค้ำประกัน ทำให้เกิดความสับสนว่ากฎหมายนี้จะมีผลกับคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันช่วงเวลาใดและอย่างไร

            “การค้ำประกัน” หมายถึง บุคคลหนึ่งยอมรับที่จะชำระหนี้แทนอีกบุคคล “หากเขาไม่ชำระหนี้” ให้แก่เจ้าหนี้

            ที่ผ่านมากฎหมายค้ำประกันโดนต่อต้านจากเครือข่ายผู้เป็นหนี้สิน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่มาช่วยค้ำประกันให้ลูกหนี้ ดังนั้นจึงมีความพยายามเคลื่อนไหวผลักดันให้ปรับปรุมมาตลอดหลายรัฐบาล แต่มาสำเร็จในยุคสมัย คสช. นั่นคือ

            “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557” (หนี้ ค้ำประกัน จำนอง) หรือเรียกทั่วไปว่า “กฎหมายค้ำประกันฉบับปรับปรุงใหม่ 2558” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 กุมภาพันธ์ 2558

            หากสรุปเฉพาะรายละเอียดสำคัญ พบการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 ประการในส่วนของ “ผู้ค้ำประกัน” ได้แก่

            1.ฉบับเก่าไม่เคยจำกัดเงินหนี้ค้ำประกัน แต่ฉบับใหม่กำหนดให้จำกัดวงเงินสูงสุดและระยะเวลาในการค้ำประกัน

            2.จากที่ผู้ค้ำฯ ต้องรับผิดชอบมูลหนี้ทั้งหมดเหมือนกับลูกหนี้ทุกประการ แต่ฉบับแก้ไข ไม่กำหนดให้ผู้ค้ำฯต้องรับผิดชอบทั้งหมด

            3.ฉบับเดิมระบุให้ “เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้” แต่ฉบับใหม่กำหนดว่า “เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้ต้องแจ้งให้ผู้ค้ำประกันเป็นหนังสือภายใน 60 วัน และห้ามเจ้าหนี้เรียกหนี้เอากับผู้ค้ำในทันที แต่ต้องไปไล่เบี้ยหรือสืบเอาเงินทองทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน เมื่อทำสุดความสามารถแล้วค่อยมาเอาหนี้ส่วนที่เหลือกับผู้ค้ำฯ”

            “ชูชาติ บุญยงยศ” ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล อธิบายว่า กรณีของ “หมอเผด็จ พูลวิทยกิจ” ทันตแพทย์ผู้เซ็นค้ำประกันหมอฟันสาวข้างต้น ตามข้อมูลที่สื่อมวลชนเผยแพร่นั้น สามารถวิเคราะห์เป็นกรณีศึกษาได้อย่างดี เพราะที่ผ่านมามีผู้ค้ำประกันเข้ามาร้องเรียนต่อชมรมจำนวนมาก หลังจากถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องหรือขู่ให้จ่ายหนี้ โดยไม่ใช้วิธีกดดันหรือไล่เก็บเงินกับ “ลูกหนี้” อย่างจริงจัง เพราะเล็งเห็นว่าผู้ค้ำประกันมีฐานะ หรือไม่สามารถหนีได้ การตามเอาจากผู้ค้ำประกัน เป็นวิธีง่ายกว่าไปติดตามกับลูกหนี้ตัวจริง

            “เล่นงานคนค้ำประกันง่ายสุด สะดวก ยิ่งเป็นกฎหมายเก่า บังคับให้ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดชอบทุกอย่างกับลูกหนี้ แต่กฎหมายใหม่ผ่อนคลายให้รับผิดชอบเฉพาะส่วนของตน เช่น หนี้ 8 ล้านบาท มีคนค้ำประกัน 4 คน แต่ละคนจ่ายแค่ 2 ล้านบาท ไม่ต้องรับผิดชอบดอกเบี้ย ถ้าเป็นกฎหมายเก่า เจ้าหนี้จะฟ้องผู้ค้ำคนเดียวให้จ่าย 8 ล้านบาทก็ได้ และยังต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดด้วย”

            “ชูชาติ” วิเคราะห์กรณีผู้ค้ำประกันหมอฟันสาวรายนี้ออกเป็น 3 ประเด็น ประเด็นที่ 1 เมื่อผู้ค้ำประกันต้องมารับผิดชอบชำระหนี้ตามคำสั่งศาล

            จากการที่โจทก์ ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานรัฐหรือมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ยื่นฟ้องต่อศาล หากผู้ค้ำประกันต้องการได้เงินจำนวนนี้กลับคืน ผู้ค้ำประกันต้องไปไล่เบี้ยเอากับผู้กู้ต่อไป โดยทำเป็นสำนวนฟ้องผู้กู้ให้เป็นจำเลยในคดีใหม่และยื่นต่อศาลแพ่งอีกครั้ง

            โดยผู้ค้ำฯ ต้องฟ้องไล่เบี้ยเอาเงินที่จ่ายไปแทนลูกหนี้จำนวนนี้ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ศาลได้พิพากษาคดีนี้ไปแล้ว และผู้ค้ำฯ ต้องใช้หนี้แทนผู้กู้ให้หมดภายใน 2 ปีด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นผู้ค้ำฯ อาจขาดอายุความในการฟ้องผู้กู้ได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าฟ้องทันภายใน 2 ปี จะมีเวลาตามไล่เบี้ยเอากับลูกหนี้เพื่อเอาเงินมาคืนได้อีก 10 ปี ตามกฎหมายของการบังคับคดี

            ทั้งนี้คดีฟ้องร้องผู้ค้ำประกันทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หากศาลยังไม่ตัดสินหรือมีคำพิพากษาออกมา สามารถใช้กฎหมายฉบับปรับปรุงปี 2558 ได้ แม้เรื่องราวหรือคดีความจะเกิดขึ้นก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก็ตาม หากผู้ค้ำฯ ถูกฟ้อง ณ ปัจจุบัน ผู้ค้ำประกันสามารถเอากฎหมายฉบับใหม่ไปใช้สู้คดีที่ชั้นศาลได้

            ประเด็นที่ 2 หากตัว “ลูกหนี้” หลบหนีไปต่างประเทศ ไม่ยอมชดใช้หนี้สินให้ ดังกรณีหมอฟันสาวนั้น ผู้ค้ำฯ สามารถดำเนินการฟ้องผู้กู้ให้เป็นคดีแพ่งใหม่อีกครั้งได้ และหากมูลหนี้เกิน 1 ล้านบาท ขอแนะนำให้ฟ้องเป็น “คดีล้มละลาย” เพราะถ้าหากผู้กู้หรือจำเลย ไม่ยอมมาขึ้นศาล ศาลก็จะพิพากษาให้ผู้กู้เป็นบุคคลล้มละลายไปตามที่ผู้ค้ำฯ ฟ้อง เมื่อเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว หากเดินทางกลับมายังประเทศไทยก็จะไม่สามารถเดินทางออกไปจากประเทศไทยได้อีก ถ้าไม่ได้รับการอนุญาตจากศาลเสียก่อน

            “เนื่องจากการฟ้องร้องคดีล้มละลายโดยผู้ค้ำฯเป็นโจทก์ ศาลจะออกหมายเรียกจำเลยให้มาสู้คดี เมื่อไม่มาแสดงตัวต่อสู้คดี ต่อให้คดีหมดอายุความในการฟ้องไปแล้ว ศาลจะสั่งให้จำเลยแพ้คดี กลายเป็น "บุคคลล้มละลาย” ตามคำพิพากษาของศาลทันที ซึ่งการเป็นบุคคลล้มละลายถือเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับผู้ทำงานมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพราะจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ มีปัญหาเรื่องเครดิต ถือเป็นอีกวิธีที่จะกดดันไปทางหน่วยงานที่สังกัดอยู่”

            นอกจากนี้ นายชูชาติกล่าวถึงประเด็นที่ 3 ว่า หน่วยงานรัฐบาลที่เป็นเจ้าหนี้ ควรดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญาด้วย เพราะนอกจากบีบบังคับให้ผู้ค้ำประกันจ่ายแทนแล้ว หากสืบทราบว่าผู้กู้มีเจตนาโยกย้ายทรัพย์สินหนีหนี้ เช่น ขายบ้าน ขายรถ โดยขอข้อมูลย้อนหลังได้ที่กรมการขนส่งทางบก หรือสำนักงานที่ดิน เพราะการกระทำแบบนี้ถือเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เพื่อกดดันให้ลูกหนี้พยายามหาเงินมาชดใช้ให้ผู้ค้ำประกัน เมื่อเป็นคดีอาญาแล้ว อาจจะสามารถทำเรื่องให้เป็นการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน กลับมารับโทษในประเทศไทยได้ เพราะประเทศไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับสหรัฐอเมริกา

            ประธานชมรมหนี้ฯ กล่าวเตือนทิ้งท้ายว่า กรณีมีคนมาขอให้เป็น “ผู้ค้ำประกัน” ก่อนที่จะเซ็นชื่อลงในเอกสาร ให้ตั้งสติถามใจตัวเองให้ดีว่า

            เรารักตัวผู้กู้มากน้อยแค่ไหน เราพร้อมจะตายแทนเขาได้ไหม?

            “ผมเจอมาเยอะคำถามแบบนี้...ถ้าตัวเองไม่ได้รักเขามากๆ ไม่ได้พร้อมจะยอมตายเพื่อคนคนนี้ ก็ให้ตอบปฏิเสธไปเลยครับ ยอมเสียเพื่อนที่ไม่สนิทสักคน ดีกว่าเสียอนาคต”

            กรณีของหมอฟันสาวหนีหนี้นั้น ล่าสุดทั้ง 2 ฝ่ายกำลังจะตั้งทนายความฟ้องร้องคดีแล้ว ถือเป็นคดีตัวอย่าง น่าติดตามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “ผู้ค้ำประกัน” ได้ศึกษาเป็นบทเรียน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ