Lifestyle

'ไวรัสซิกา'โรคต้องแจ้งความลำดับที่23

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สธ.ออกประกาศ 'โรคติดเชื้อไวรัสซิกา' เป็นโรคติดต่อต้องแจ้งความ ยันป่วยอาการไม่รุนแรงหายเองใน 7 วัน แต่ห่วงผลต่อทารกทำพิการ

 
                       2 ก.พ. 59  ที่กรมควบคุมโรค นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) พร้อมด้วย พล.อ.ต.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและที่ปรึกษากรม คร. ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา หลังจากที่องค์การอนามัยโรคประกาศให้สถานการณ์ระบาดของโรคนี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย นพ.อำนวย กล่าวว่า ได้มีการออกประกาศเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเพิ่มเติม 2 ฉบับ โดยฉบับแรก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง เพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อและอาการสำคัญ โดยระบุว่า อาการสำคัญ ได้แก่ มีอาการไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตาแดง บางรายอาจมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย โดยทั่วไปจะมีอาการป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ และฉบับที่ 2 ประกาศ สธ. เรื่อง เพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อต้องแจ้งความ ระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคที่ต้องแจ้งความ เมื่อพบผู้ป่วยต้องรายงานให้ สธ.ทราบ
 
                       นพ.อำนวย กล่าวอีกว่า ในการเฝ้าระวังป้องกันโรคจะมีการคุมเข้มเป็นพิเศษใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ 2. ผู้ป่วยไข้ออกผื่น เป็นกลุ่มก้อน จะมีการลงพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคทันที 3. ทารกที่คลอดแล้วมีศีรษะเล็ก และ 4. ผู้ป่วยที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ โดยจะเน้น 4 มาตรการ คือ 1. การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2. การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3. การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และ 4. การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท นอกจากนี้จะมีการเพิ่มความเข้มข้นในการออกไปสอบสวนโรค หากมีผู้ป่วยอาการเข้าข่ายจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสอบสวนโรคทันทีและอย่างจริงจัง รวมถึงด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศบริเวณสนามบินจะมีการเฝ้าระวังเข้มแข็งในกรณีที่มีผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคแล้วมีอาการไข้ด้วย อีกทั้งมีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างนักระบาดวิทยาภาคสนามของประเทศอาเซียนบวก 3 เพื่อปรึกษาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการร่วมกันในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อซิกา
 
                       นอกจากนี้ ประชาชนต้องช่วยกันกำจัดทั้งตัวยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน เพราะหากสามารถกำจัดยุงลายได้จะคุมได้ถึง 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้ซิกา และไข้ปวดข้อชิคุนกุนยา ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงเมื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้วมีอาการป่วยเป็นไข้ ออกผื่น ให้แจ้งกรมควบคุมโรค ส่วนหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
 
 
 
คนไทยป่วยทั้งจากเชื้อใน-นอกประเทศ
 
 
                       นพ.อำนวย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2555 - 2558 มีรายงานผู้ป่วย 2 - 5 ราย ทุกครั้งผู้ป่วยจะหายและยุติโรคได้ ไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ที่ผ่านมาในประเทศไทยจึงยังไม่ถือว่ามีการระบาดของโรค และขณะนี้ยังไม่ถือว่ามีการระบาด ซึ่งข้อมูลจากการสอบสวนโรค พบว่า ผู้ป่วยที่เคยเจอในประเทศไทยมีทั้งที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ และติดเชื้อจากยุงลายภายในประเทศไทยเอง ซึ่งการที่เจอผู้ป่วยสะท้อนว่าไทยมีระบบเฝ้าระวังที่เข้มแข็งสามารถตรวจจับผู้ป่วยและควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ขอให้ประชาชนมั่นใจระบบป้องกันและควบคุมโรคของไทย ส่วนที่ว่ายุงลายเป็นแหล่งรังโรค หรือมีเชื้อไวรัสซิกามากน้อยหรือรุนแรงแค่ไหนนั้น กำลังศึกษา โดยได้ประสานความร่วมมือกับภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
 
 
 
ผู้ป่วยที่ รพ.ภูมิพล หายกลับบ้านแล้ว
 
 
                       พล.อ.ต.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า รพ.ภูมิพล มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกาเข้ารับการรักษา 1 ราย เป็นชายไทยอายุประมาณ 20 กว่าปี เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยอาการไข้ มีผื่น ตาแดง ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว จากการเจาะเลือดส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่า ไวรัสซิกา ซึ่งให้การรักษาจนผู้ป่วยอาการดีขึ้น และออกจากโรงพยาบาลแล้ว และโรงพยาบบาลได้มีการเฝ้าระวังโดยมาตรการทำลายยุง และแผ่นพับให้ความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากโรคนี้ที่น่าห่วง คือ ทารกที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อซิกา โดยเฉพาะในช่วงที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ 12 สัปดาห์ แต่ประเทศไทยยังไม่มีรายงานพบในหญิงตั้งครรภ์
 
 
 
ประสานสูติฯ-อายุรแพทย์เฝ้าระวัง
 
 
                       ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า โรคนี้มีการระบาดทั่วไป โดยเฉพาะใน 19 ประเทศแถบทวีปอเมริกา ซึ่งที่ประเทศบราซิล พบผู้ป่วยราว 5 ล้านคน และมีทารกที่คลอดมามีศีรษะเล็กมากกว่า 3,000 คน เฉลี่ย 20 คน ต่อหมื่นทารกที่เกิดมีชีพ จากเดิมที่มีเพียง 0.5 คนต่อหมื่นทารกที่เกิดมีชีพ จึงมีการศึกษาว่าไวรัสซิกามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งผลออกมาว่าเชื่อมโยงและเกี่ยวกันได้ ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงประกาศไม่ให้หญิงตั้งครรภ์เดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาด ทั้งนี้ ตามปกติอาการของผู้ป่วยโรคซิกาจะมีอาการใกล้เคียงกับไข้เลือดออกเดงกี่และไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา คือ มีไข้ ออกผื่นและปวดข้อ จึงต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ (ห้องแลป) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยสามารถดำเนินการตรวจได้
 
                       "ได้มีการประสานไปยังราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เฝ้าระวังทารกแรกคลอดที่มีศีรษะเล็กในประเทศไทย และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ในการหาความเชื่อมโยงโรคติดเชื้อไวรัสซิกาและผู้ป่วยที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์หากเจาะเลือดตรวจจะไม่สามารถบอกได้ว่าทารกติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ เพราะแอนติบอดีจะเหมือนกับโรคไวรัสเดงกี่และไข้สมองอักเสบ จะต้องเจาะน้ำคล่ำจึงจะสามารถตรวจได้"
 
 
 
ป่วยหายเองใน 7 วัน
 
 
                       นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกาจะมีอาการน้อยและหายเองได้ใน 7 วัน มีจำนวนน้อยมากที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ที่องค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้การระบาดของโรคเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ไม่ได้สนใจว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคนี้มากเท่าไหร่ แต่สนใจและเป็นเรื่องสำคัญเพราะทารกที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วเด็กพิการ
 
                       อนึ่ง โรคติดเชื้อไวรัสซิกานับเป็นโรคติดต่อต้องแจ้งความลำดับที่ 23 โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความมาแล้ว 22 โรค ได้แก่ 1. อหิวาตกโรค 2. กาฬโรค 3. ไข้ทรพิษ 4. ไข้เหลือง 5. ไข้กาฬหลังแอ่น 6. คอตีบ 7. โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด 8. โปลิโอ 9. ไข้หวัดใหญ่ 10. ไข้สมองอักเสบ 11. โรคพิษสุนัขบ้า 12. ไข้รากสาดใหญ่ 13. วัณโรค 14. แอนแทร็กซ์ 15. โรคทริคิโนซิส 16. โรคคุดทะราด เฉพาะในระยะติดต่อ 17. โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลันในเด็ก 18. โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง 19. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย 20. ไข้เลือดออก 21. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และ 22. โรคเมอร์ส (MERS)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ