Lifestyle

‘ซูเปอร์เอลนีโญ’สงครามแย่งน้ำ2559

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ซูเปอร์เอลนีโญ’สงครามแย่งน้ำ2559 : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

             องค์กรนาซาเตือนชาวโลกล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2558 ว่า กำลังจะเผชิญภัยแล้งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในปี 2559 ผู้คนกว่าสิบล้านจะหิวโหย เนื่องจากภาวะ “เอลนีโญ” และไม่ใช่ เอลนีโญ แบบธรรมดาแต่เป็น... “ซูเปอร์เอลนีโญ” !!!

             “โนอา” หรือองค์การบริหารจัดการด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (NOAA) ตอกย้ำภัยพิบัติแล้งที่กำลังกระจายไปทั่วโลก ด้วยรายงานวิเคราะห์สภาพอากาศเมื่อเดือนตุลาคม 2015 ว่า อุณหภูมิผิวดินและผิวน้ำทะเลวัดได้สูงสุดในรอบ 136 ปี เป็นเหตุให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงจนทำลายสถิติที่เคยบันทึกไว้

             “ไมเคิล ฮาลเพิร์ต” ผู้เชี่ยวชาญจากโนอา วิเคราะห์ความรุนแรงของ “เอลนีโญ” ว่า การแปรปรวนของสภาพอากาศส่งผลให้อุณหภูมิในฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้นผิดปกติ และมีแนวโน้มกินเวลานานประมาณ 1 ปี ตั้งแต่ปี 2015-2016 จากการวัดสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยรอบ 3 เดือน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว พบว่าผิวน้ำในมหาสมุทรสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 3.6 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่าเกณฑ์ปกติถึง 2 องศาเซลเซียส

             ย้อนดูสถิติวิกฤติแห้งแล้งจาก “เอลนีโญ” เคยเกิดระดับรุนแรง 15 ปีที่แล้ว หรือปี 1997 ประเมินความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,200-1,500 ล้านล้านบาท มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน สำหรับประเทศไทยนั้นรัฐบาลต้องเยียวยา และชดเชยเงินให้เกษตรกรไปไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท และครั้งนี้รัฐบาลเตรียมงบประมาณเยียวยาแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท

             “เอลนีโญ” หมายถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อุณหภูมิผิวนํ้าทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกสูงขึ้นกว่าปกติ ทำให้ฝนไม่ตก ไม่มีมรสุม เกิดสภาวะแห้งแล้ง สำหรับประเทศไทยนั้น ปริมาณฝนน้อยลงเพราะพายุเปลี่ยนทิศทาง จากเดิมมีพายุเคลื่อนเข้าฝั่งไทยประมาณ 3-4 ลูกต่อปี แต่ในปี 2558 มีเพียงลูกเดียวเท่านั้น

             พยากรณ์อากาศปี 2559 ระบุว่า ประเทศไทยเผชิญภาวะแห้งแล้งผิดปกติ นักวิชาการยืนยันตรงกันว่า แห้งแล้งที่สุดในรอบ 20 ปี ปริมาณน้ำที่ขาดแคลนสะสมตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2558 พายุฝนมาเพียงน้อยนิด ส่งผลให้ปี 2559 ชาวไทยต้องเตรียมรับมือกับ ซูเปอร์เอลนีโญ

             ผู้นำรัฐบาลกล่าวเตือนมาแล้วล่วงหน้า โดยวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งว่า

             “วันนี้โลกเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว ฝนไม่ตก ตกไม่ตรงที่ ไม่ตรงเวลา นี่โลกมันเปลี่ยนแล้ว แล้วก็เรื่องเอลนีโญ ฝนเลื่อนการตกลงไป ต้องเตรียมความพร้อมไว้ เพราะมันเกิดขึ้นมาแล้ว เดิมมันตกเหนือเขื่อนเราถึงสร้างเขื่อนไว้ตรงนั้น วันนี้พอฝนมันเลื่อนลงมามันตกใต้เขื่อนส่วนใหญ่ มันก็เก็บน้ำไม่ได้ เขื่อนก็สร้างไม่ได้"

             "น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร มีโควตาวางแผนไว้ 500 กว่าแห่ง วันนี้ซัดไป 1,000 กว่าแห่งแล้ว น้ำบาดาลจริงๆ แล้วเราต้องเก็บน้ำบาดาลเหล่านี้ไว้ใช้อุปโภคบริโภค แต่พี่น้องเดือดร้อน ก็ไปเลี้ยงนาเลี้ยงอะไรไปก่อน แต่ถ้ามันไม่ไหวรัฐก็จะดูแลให้ แต่เดี๋ยวน้ำบาดาลหมด คราวนี้ไม่มีน้ำแล้วนะ ผมก็ผลิตน้ำเองไม่ได้ด้วย”

             รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต อธิบายว่า “เอลนีโญ” รอบนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2557-2558 ทำให้ไทยเกิดภาวะน้ำขาดแคลนสะสม แม้รัฐบาลสั่งห้ามทำ “นาปรัง” ก็ตาม แต่ “นาปี” ไม่สามารถห้ามได้ เพราะค่าชดเชยเพียงไร่ละพันบาทไม่เพียงพอ ชาวนาแถวลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงทำนาตามปกติ เริ่มจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และจะมาเก็บเกี่ยวช่วงต้นปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาขาดแคลนน้ำมากที่สุด

             “ตอนนี้คงต้องระวังเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค เพราะถ้าแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำลดมาก จะทำให้น้ำทะเลหนุนเข้ามาเป็นน้ำกร่อย สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ 1.จัดทำระบบเตือนภัยน้ำขาดแคลน 2.จัดระบบสำรองและการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง เช่น เขื่อนภูมิพล ที่เคยปล่อยน้ำวันละ 10 กว่าล้าน ลบ.ม. ตอนนี้เหลือเพียง 5 ล้าน ลบ.ม. 3.ต้องเร่งสูบน้ำบาดาลมาใช้ในพื้นที่ที่ทำได้ และสุดท้ายคือ การจัดกติกาจัดการน้ำจะให้ใครใช้ก่อนใช้หลัง เพราะสงครามน้ำอาจเกิดขึ้นถ้าหน้าฝนปีนี้ไม่มีฝนเข้ามา แต่จากข้อมูลสภาพอากาศ คาดว่าภาวะเอลนีโญ ช่วงกลางปีน่าจะผ่อนคลายและผ่านพ้นไปได้ เพียงแต่ช่วงหน้าร้อนต้องดูว่ารัฐบาลจะรับมืออย่างไร โดยเฉพาะน้ำในเขื่อน” ดร.เสรี กล่าวเตือน

             ภาวะการขาดแคลนน้ำกำลังเกิดขึ้น ชาวไร่ชาวนาหลายพื้นที่ออกมาแจ้งร้องเรียนสื่อมวลชน เช่น กรณีชาวนาโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร จำต้องปล่อยต้นข้าวนากว่า 20 ไร่ ให้ยืนต้นตาย เพราะไม่สามารถหาน้ำมาเลี้ยงต้นข้าวได้ เดือนมกราคม 2559 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีพื้นที่ภัยแล้ง 55 จังหวัด และอยู่ในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ตาก ฯลฯ

             ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีทั้งหมด 64 ล้านไร่ มีชาวนากว่า 4 ล้านครัวเรือน หลายฝ่ายเริ่มวิตกว่า การขาดแคลนน้ำจะส่งผลไม่ใช่แค่น้ำเพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่น้ำกินน้ำใช้อาจไม่เพียงพอด้วย !?!

             “ชัชชม ชมประดิษฐ์” ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน ยืนยันว่า มีการวางแผนการใช้น้ำอย่างดีเพื่อรับการภาวะเอลนีโญที่รุนแรง โดยยกเลิกการส่งน้ำให้ไร่นาบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาประมาณ 1.7 ล้านไร่ เกษตรกรต้องใช้น้ำจากคลองหรือบ่อน้ำของตัวเอง ทำให้น้ำเหลือในส่วนของชลประทานพอเพียงไปถึงเดือนกรกฎาคม 2559

             “เกษตรกรรับทราบไปแล้วว่า น้ำน้อย เพราะแจ้งเตือนมาตลอด ส่วนน้ำกินน้ำใช้ไม่น่ากังวล เพราะกรมชลประทานสำรองน้ำจากเขื่อนขนาด

             ใหญ่ และขนาดกลางไว้แล้ว นอกจากพื้นที่ห่างไกลจริงๆ หากจำเป็นจริงอาจมีการเคลื่อนย้ายน้ำมาให้เป็นบางช่วง ตอนนี้ลุ่มเจ้าพระยามีน้ำเผื่อไว้ 3,655 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกเฉลี่ยวันละ 16 ล้าน ลบ.ม. เพราะฉะนั้นมีน้ำกินน้ำใช้ไปอีก 7 เดือน จากนั้นเข้าสู่ฤดูฝน ปัญหาคงคลี่คลาย” ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำ กล่าวยืนยัน

             ปัญหา “สงครามแย่งน้ำ” ปี 2559 จะเกิดขึ้นหรือไม่ ? คงต้องรอลุ้นว่า “ซูเปอร์เอลนีโญ” จะหมดไปในปีนี้ตามคาดการณ์หรือไม่ สภาวะอากาศแปรปรวนในปัจจุบัน ทำให้การไม่มีใครกล้ายืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์

(หมายเหตุที่มาของภาพ https://wattsupwiththat.files.wordpress.com/2015/07/1997-2015-el-nino.jpg)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ