Lifestyle

'ดาว์พงษ์'ยึดอำนาจ!จบศึก'เอแบค'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ดาว์พงษ์' สุดทนใช้ ม.86 พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตั้งคณะกรรมการควบคุม ม.เอแบค ลั่นจำเป็น เหตุสองฝ่ายเคลียร์กันไม่ได้ คาดเสนอรายชื่อแต่งตั้ง กก.ได้ 19 ม.ค.นี้

 
                      15 ม.ค. 59  หลังจากให้เวลาผู้บริหารมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กรให้ลุล่วง แต่สุดท้ายกลุ่มผู้บริหารก็ไม่สามารถตกลงร่วมกันแก้ไขปัญหาได้ และเมื่อมาถึงทางตัน ล่าสุด พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 86 (4) วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว
 
                      เมื่อเวลา 13.30 น.  พล.อ.ดาว์พงษ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และฝ่ายกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ว่า หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เชิญกรรมการสภาเอแบค ทั้งสองฝ่ายมาประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีข้อสรุป และได้ขอให้ทั้งสองฝ่ายไปตกลงกัน เพื่อหาทางออกและกลับมารายงานภายใน 7 วัน แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยฝ่ายกรรมการสภาฝ่ายหนึ่งได้เสนอให้กรรมการสภาทุกคนลาออก ส่วนกรรมการสภาอีกฝ่ายเสนอให้ตั้งสภาชุดใหม่ โดยให้กรรมการสภามาจากฝั่งละ 5 คน และให้กระทรวงศึกษาธิการส่งคนกลาง 3 คน เข้ามาร่วม ภายใต้เงื่อนไขว่าทุกคนต้องลาออก แต่ปรากฏว่าก็ยังมีกรรมการสภาบางคนไม่เห็นด้วย
 
                      พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้มาตรา 86 (4) วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาบังคับใช้ ตั้งคณะกรรมการควบคุมเข้าไปดูแล ม.เอแบค ซึ่งขณะนี้ได้ยกร่างคำสั่งไว้แล้ว โดยได้ขอให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ สกอ.ไปทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเหมาะสมมาเป็นคณะกรรมการควบคุม รวมถึงต้องดูไม่ให้เกิดผลกระทบต่อนักศึกษา และอาจารย์ โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในคำสั่งตั้งกรรมการควบคุมได้ภายในสัปดาห์หน้า
 
                      "เมื่อตั้งคณะกรรมการควบคุม ก็ต้องลงไปดูว่าความไม่ลงรอยต่างๆ เกิดจากอะไรบ้าง รวมถึงโครงการห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง ที่มีปัญหาอยู่ ว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่ ส่วนจะให้ควบคุมเป็นเวลานานเท่าไรนั้น ผมคงไม่สามารถตอบได้ เดิมผมเคยพูดว่าให้เวลาควบคุม 3 เดือน แต่ถ้าการตรวจสอบยังไม่เรียบร้อย ก็ต้องขยายเวลาเพิ่มไปอีก ยอมรับว่าการตั้งคณะกรรมการควบคุม เข้าไปควบคุม ม.เอแบค เป็นเรื่องที่ผมไม่อยากทำเลย รู้สึกไม่สบายใจ ที่จะต้องใช้วิธีนี้ แต่เมื่อไม่มีทางอื่นก็จำเป็นต้องทำ เพราะพิจารณาแล้วว่าตอนนี้อาจจะไม่มีผลกระทบกับนักศึกษา แต่ถ้าปล่อยไว้นานก็อาจจะมีปัญหาได้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ก็เพื่อ ม.เอแบค และนักศึกษา โดยทั้งสองฝ่ายไม่ต้องกังวลใจว่าผมจะไปกลั่นแกล้งฝ่ายใด"
 
                      รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล รักษาการอธิการบดี ม.เอแบค ระบุว่า แม้จะตั้งคณะกรรมการควบคุมเข้าไปดูแล ม.เอแบค นายสุทธิพร ก็ยังมีตำแหน่งเป็นอธิการบดี ม.เอแบค เพราะมีคำสั่งศาลปกครองคุ้มครองอยู่นั้น การตั้งคณะกรรมการควบคุม จะไม่ไปก้าวล่วงคำสั่งศาลปกครอง แต่เมื่อใช้มาตรา 86 (4) วรรคสอง เพื่อตั้งคณะกรรมการควบคุมขึ้นมาเป็นสภามหาวิทยาลัยชุดใหม่ สภาก็มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ที่มีความเหมาะสมขึ้นมาเป็นอธิการบดี ซึ่งจะส่งผลให้ตำแหน่งของนายสุทธิพรหมดวาระตามลงไปด้วย
 
                      ด้าน รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้พิจารณาทุกเรื่องแล้ว คงต้องใช้มาตรการที่ กกอ.เสนอแนะต่อ รมว.ศึกษาธิการ ให้ใช้มาตรา 86 (4) วรรคสอง ให้อำนาจในการตั้งคณะกรรมการควบคุม แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้ปิดทาง 100% ยังเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายเสนอทางออก หากมีทางออกที่ดีกว่าการใช้มาตรา 86 รมว.ศึกษาธิการ ก็พร้อมพิจารณา ซึ่งอาจจะไม่ออกคำสั่งควบคุมก็ได้ แต่ต้องเป็นข้อเสนอที่มาจากสภาเดียว ที่ไม่มีกรรมการเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็ได้เตรียมร่างคำสั่งและเตรียมทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิไว้แล้ว 3 - 4 คน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจปัญหาของเอแบค แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ คาดว่าจะออกคำสั่งควบคุมได้ภายในวันที่ 19 มกราคมนี้ เพราะฉะนั้นทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังมีเวลาที่จะไกล่เกลี่ยกันก่อนออกคำสั่ง ซึ่งหวังว่าระหว่างนี้จะไม่เกิดการกระทบกระทั่งกัน ส่วนเรื่องการเรียนการสอนนั้น ขณะนี้เปิดเทอมแล้วก็ให้ดำเนินการต่อได้ไปตามปกติ
 
                      ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงไม่มีผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายของ ม.เอแบค เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เพราะตั้งใจไม่เชิญทั้ง 2 ฝ่ายมาประชุมอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ สกอ.สอบถามมาจึงแจ้งไปว่า ไม่ขัดข้อง หากจะมีผู้แทนมาประชุม แต่สุดท้ายได้รับแจ้งจาก สกอ.ว่า ได้แจ้งยกเลิกการเชิญประชุมทั้ง 2 ฝ่าย
 
                      ขณะที่ นายสุทธิพร ให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบคำตัดสินว่า ได้หารือกับกลุ่มผู้สนับสนุนและได้ข้อสรุปว่าจะยื่นอุทธรณ์การบังคับใช้มาตรา 86 (4) วรรคสอง กับ สกอ. ภายในระยะเวลา 30 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้ง เนื่องจากเมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายที่จะบังคับใช้มาตรา 86 (4) วรรคสอง เพราะ ม.เอแบคยังสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ
 
                      ด้านนายวีรศักดิ์ อนุสนธิวงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยเอแบค กล่าวว่า เคารพต่อคำตัดสินและการวินิจฉัยของ พล.อ.ดาว์พงษ์ เพราะเป็นการพิจารณาที่จะดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ทั้งนี้ ส่วนตัวยังมองว่าการมีคนกลางเข้ามาควบคุมมหาวิทยาลัยชั่วคราวนั้น ไม่ได้ทำให้ ม.เอแบค เสื่อมเสียชื่อเสียง แถมยังมีข้อดีในเรื่องของการมีคนนอกเข้ามาตรวจสอบ เหมือนมีคนมาช่วยล้างทำความสะอาดบ้านให้
 
                      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น รมว.ศึกษาธิการ มีคำสั่งควบคุมและแต่งตั้งกรรมการควบคุม ไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 15 คน จากนั้นประกาศคำสั่งควบคุมในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน นอกจากนั้น ห้ามอธิการบดี คณาจารย์ประจำ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากกรรมการควบคุม และส่งมอบทรัพย์สิน สมุดบัญชี เอกสาร และสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่คณะกรรมการควบคุมโดยไม่ชักช้า
 
                      ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาอาจอุทธรณ์คำสั่งควบคุมได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งและรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์คำสั่งควบคุม เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณา ซึ่งกรณีอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น คณะกรรมการควบคุมก็จะพิจารณาควบคุมต่อไป แต่หากอุทธรณ์ฟังขึ้น คณะกรรมการควบคุมก็จะพิจารณายกเลิกคำสั่งควบคุม
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ