Lifestyle

'ฮาวา'นศ.เลือดนักสู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโลกการศึกษามุสลิม ตอน 'ฮาวา'นศ.เลือดนักสู้

           หลายปีที่ผ่านมา คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม มีแต่จะนำเรื่องราวของนักศึกษาที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ฟังแล้วรู้สึกภาคภูมิใจ วันนี้ขอเป็นเรื่องแรกที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ถึงน้ำตาแห่งความเสียใจ แต่ไม่เคยคิดย่อท้อ ยังคงสู้กับความฝัน เพื่อคว้าความสำเร็จกลับไปหาครอบครัวให้ได้ ของน้องนักศึกษาผู้หญิงจนๆ คนหนึ่งที่มีความฝัน

           “พ่อแม่ให้กำเนิดมา วันคลอดแม่ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อลูกได้เกิดมาบนโลกใบนี้ ต้องทนเลี้ยงดูตั้งแต่อยู่ในท้องจนโต เมื่อเราโตขึ้นมาแล้วเราจะทำให้พ่อแม่เสียใจได้อย่างไร ความฝันของพ่อแม่ก็เช่นกัน แม้เราจะต้องทุกข์ ลำบากสักเพียงใด เราต้องคว้ามันเพื่อเอากลับไปให้พ่อแม่ชื่นใจให้ได้ นี่คือ สิ่งที่หนูสัญญากับหัวใจตัวเอง”

           น้องฮาวา หรือ น.ส.ธัญญามล โต๊ะนิ นักศึกษามหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร คณะนิติศาสตร์อิสลาม ปี 2 เป็นลูกของนายซอแหละ กับนางซอฟียะห์ ลามอ แม่มีอาชีพค้าขาย พ่อเป็นยาม พื้นเพเดิมจาก จ.ปทุมธานี มีพี่น้อง 4 คน น้องฮาวาเป็นพี่สาวคนโตของครอบครัว ฮาวาเริ่มต้นการศึกษาที่สถาบันการศึกษาบันอัร-รอบีตี้ จ.นนทบุรี จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายศาสนา พร้อมกับได้ทุนมาศึกษายังประเทศอียิปต์ เมื่อปี ค.ศ.2010

           “น้องฮาวา” มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน แต่มีความอบอุ่นตามประสาชีวิตที่พอเพียงของพ่อแม่ที่อยู่ในกรอบศาสนา ไม่ได้หวังอะไรมากมายขอแค่มีแรงเพื่อทำงาน ทำศาสนกิจในแต่ละวันก็พอ ชีวิตน้องฮาวาจึงถูกปลูกฝังให้อยู่ในเส้นทางศาสนาที่มีความพอเพียงเป็นหลัก ชีวิตจริงไม่ฟุ่มเฟือย ทุกวันตั้งแต่เริ่มโตมาน้องฮาวาจะช่วยพ่อแม่ในทุกเรื่องเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว นำพาตัวเองเข้าสู่รั้วโรงเรียนและสามารถคว้าทุนจากโรงเรียนเพื่อมาต่อยอดชีวิตในอียิปต์ ความจน ความลำบาก จึงไม่มีปัญหาสำหรับการอยู่ในอียิปต์ น้องฮาวาเล่าว่า เข้าเรียนปรับพื้นฐานภาษาอาหรับในปีแรกก็ลำบากใจมากมาย เพราะต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็โชคดีมีกำลังใจจากพี่ๆ ในชมรม เพื่อนๆ แต่ด้วยความฝันที่ยิ่งใหญ่ ความลำบากจึงเป็นได้แค่การทดสอบเท่านั้น ทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ได้รับก็ไม่มากนัก เงินจากทางบ้านส่งมาเดือนละ 2,000-2,500 บาท ก็พออยู่ได้ โชคดีที่หอพักฟรีทุกอย่าง ถ้ารู้จักประหยัดและเก็บออมก็อยู่ได้

           การศึกษาในมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร เป็นเรื่องที่พูดยาก ต้องยอมรับกับผลสอบอย่างเดียว แม้จะอ่านหนังสือเข้าใจ เขียนได้ แต่บางทีก็สอบไม่ผ่าน แต่เราก็ต้องยอมรับ ด้วยเหตุนี้หลังจากที่สอบไม่ผ่านก็รู้สึกท้อใจในบางช่วง คิดถึงครอบครัวที่รอคอยความสำเร็จ แต่เรายังทำไม่ได้ จึงตัดสินใจใช้เวลาว่างไปสมัครเรียนอัลกุรอานกับผู้อาวุโสที่มีความรู้ในเรื่องการอ่านอัลกุรอานที่ถูกวิธี และการออกเสียงที่ถูกต้องชัดเจน เพราะอัลกุรอานคือสิ่งจำเป็นที่สุดในชีวิตของมุสลิมเรา ความยากง่ายก็อยู่ที่การเรียนรู้ อาจารย์ที่สอนเป็นคนใจดี ท่านสอนเข้าใจง่าย เป็นเวลา 2 ปีกว่าที่ได้ศึกษา จนได้รับใบประกาศนียบัตรจบหลักสูตรการอ่านอัลกุรอาน รู้สึกภาคภูมิใจกับความสำเร็จที่ไม่ออกสื่ออย่างเป็นทางการ เหมือนจบจากมหาวิทยาลัยก็ตาม อย่างน้อยก็ได้มีใบยืนยันว่าเราสำเร็จแล้วหนึ่งภาควิชาที่สำคัญของศาสนาอิสลาม เพราะความฝันอยากเป็นครูสอนเด็กๆ ที่พอเปิดทางสว่างให้แก่น้องๆ และเยาวชนที่อยากเรียนรู้แต่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอ นี่คือความฝันที่อยากทำให้กับสังคม

           “น้องฮาวา” เล่าว่า ปีนี้เพื่อนๆ ที่มาปีเดียวกันจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ทุกคนมีความสุข ตนเองก็มีความสุขและตื่นเต้นกับเพื่อนๆไปด้วย แม้วันรับปริญญาตนเองเป็นได้แค่เพื่อนร่วมแสดงความดีใจในงาน แต่ไม่เคยอิจฉาหรือไม่พอใจ คิดอยู่เสมอว่า สักวันจะเป็นวันของเราบ้างคงไม่นานเกินรอ อยากให้พ่อแม่รู้ว่า วันนี้ไม่ใช่วันของลูก แต่พรุ่งนี้อาจจะเป็นวันของเรา และจะพยายามต่อไปเพื่อวันนี้จะมาถึง ปีนี้จะพยายามให้มากกว่าเดิม

           น้องฮาวา ทิ้งท้าย ฝากบอกน้องๆ ว่า การจะมาศึกษาในประเทศอียิปต์ ความเก่งไม่สามารถมาวัดกันที่นี่ได้ เพราะคนเก่ง หรือคนไม่เก่งเท่าเทียมกันหมด ที่นี่ต้องถูกทดสอบในหลายๆ อย่าง ขอแค่อย่าท้อถอยและต้องสู้เพื่อความฝันของตัวเอง เพื่อพ่อแม่ หากพลาดจุดยืนที่แน่นอน ก็ไม่สามารถคว้าความสำเร็จจากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรนี้ได้อย่างแน่นอน

           ทุกวันนี้ผมยังเห็นน้องฮาวาอยู่กับสังคมด้วยรอยยิ้ม เข้าร่วมกิจกรรมอยู่เสมอ เธอไม่เคยแสดงให้เห็นว่าเธอลำบาก หรือมาจากครอบครัวที่น่าสงสาร เพราะเธอเลือกทางเดินนี้แล้วอย่างมั่นใจ และสักวันจะต้องเป็นวันของเธอ เธอจะกลับบ้านไปพร้อมกับความสำเร็จให้แก่ตระกูลของเธอได้อย่างแน่นอน ...อามีน..ยาร๊อบ

         

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ