Lifestyle

'แม่วางสคูลสเตย์'พึ่งพาตนเองสอนจิตอาสา-ทักษะชีวิตยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'แม่วางสคูลสเตย์'พึ่งพาตนเองสอนจิตอาสา-ทักษะชีวิตยั่งยืน

            “เราเชื่อว่าในหัวใจของใครหลายต่อหลายคนมีความปรารถนาจะทำงานเพื่อส่วนรวม แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอะไร เมื่อไร และอย่างไรดี หวังว่าเมื่อเกษียณจากงานเหล่านี้ค่อยใช้เวลาที่เหลือมาทำงานเพื่อสังคม” ภัทราทิพย์ พงษ์พานิช ผู้ก่อตั้งกลุ่มนิเทศฯ จุฬาฯ อาสา และโครงการแม่วางสคูลสเตย์เป็นคนหนึ่งที่เคยคิดเช่นนี้มาตลอด

            กระทั่งสองปีก่อน ภัทราทิพย์ได้รู้จักกับคุณครูพร  สรัญมูลธิ เมื่อครั้งที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยปู อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อร่วมพัฒนาโรงเรียน ด้วยการปรับปรุงห้องคอมพิวเตอร์ และห้องสมุด รวมทั้งออกค่ายอบรมการแยกขยะให้แก่เด็กนักเรียน การที่ได้ทำความรู้จักกับคุณครูและนักเรียนอย่างใกล้ชิดในครั้งนั้น ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนว่า การทำงานเพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

            “เมื่อคุณครูย้ายจากแม่อายมาที่ ร.ร.สโมสรไลอ้อนส์รัตนโกสินทร์  อ.แม่วาง ทางทีมงานกลุ่มนิเทศฯ จุฬาฯ จิตอาสาได้ขึ้นไปสำรวจและพบว่าโรงเรียนตั้งอยู่บนภูเขาระหว่างเส้นทางขึ้นดอยอินทนนท์ และเป็นเส้นทางเดินป่าที่นักท่องเที่ยวนิยมมาก ในระหว่างวันจะมีชาวต่างชาติเดินผ่านเส้นทางโรงเรียนตลอด และชอบแวะเข้ามาดูภายในโรงเรียน ทั้งในละแวกใกล้เคียงก็มีน้ำตกหลายแห่ง รวมทั้งที่พักไว้รองรับนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการสร้างที่พักภายใต้ชื่อ แม่วางสคูลสเตย์ โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว ที่เน้นหนักในการท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา”

            ภัทราทิพย์ เล่าว่า ร.ร.สโมสรไลอ้อนส์รัตนโกสินทร์แห่งนี้ มีนักเรียนราว 70 คน ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง และมีครูประจำชั้นเพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งไม่พอที่จะดูแลนักเรียน โรงเรียนจึงมีแนวคิดในการจ้างครูพิเศษเพื่อมาช่วยสอนให้ครบ และเงินค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาค การริเริ่มโครงการแม่วางสคูลสเตย์นี้น่าจะเป็นแนวทางในการพึ่งตนเองของโรงเรียนอย่างยั่งยืน

            ในช่วงเริ่มต้นโครงการ กลุ่มนิเทศฯ จุฬาฯ อาสาเสนอแนวคิดนี้ไปยังกลุ่ม GIST-Group Independent Study Travel โปรแกรมผู้นำเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Leadership Program) แห่งอีสเวสต์เซ็นเตอร์ ซึ่งสนใจงานด้านการพัฒนาในแถบเอเชีย ทำให้เรามีอาสาสมัครต่างชาติ ทั้งจาก ฮ่องกง อินเดีย ฟิลิปปินส์ เดินทางมาที่โรงเรียนเป็นเวลา 4 วัน เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ภัทราทิพย์ กล่าวว่า อาสาสมัครกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการเริ่มต้นโครงการเป็นอย่างดี ทั้งการรวบรวมข้อมูลของโรงเรียนและการท่องเที่ยวในพื้นที่โดยรอบอย่างละเอียด สร้างเว็บไซต์และลงเนื้อหาภาษาอังกฤษทั้งหมด

            หลังจากนั้นทีมงานคนไทยของกลุ่มนิเทศฯ จุฬาฯ อาสาก็รับช่วงงานทั้งหมดเพื่อสร้างให้โครงการแม่วางสคูลสเตย์ต่อไป ภัทราทิพย์เล่าให้ฟังว่าแม้จะเป็นงานจิตอาสา แต่ก็มีการวางแผนการทำงานและประชุมงานกันสม่ำเสมอ ใครที่มีประสบการณ์งานโรงแรมมาช่วยวางระบบงาน ใครที่เคยทำร้านกาแฟก็มาช่วยทำร้าน ใครที่ทำร้านอาหารก็มาช่วยวางแผนเรื่องครัว ทุกคนแบ่งหน้าที่กันอย่างดี เป็นทีมงานที่ดีมาก

            “เมื่อเตรียมการทุกอย่างพร้อม พวกเราก็เดินทางขึ้นไปวางระบบทั้งหมดในการทำงาน ทั้งการรับแขก การดูแลบ้านพัก การทำอาหาร การทำร้านกาแฟ เพื่อหารายได้ประจำโดยไม่ต้องรอแขกที่มาพัก เมื่อจัดระบบเสร็จแล้ว ก็ให้ครูและเด็กนักเรียนชั้นประถมปลายมาเรียนรู้กระบวนการทำงานเบื้องต้น เตรียมสคริปต์ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับชาวต่างชาติให้ครูและนักเรียนฝึกฝน“

            ภัทราทิพย์ กล่าวว่า วิธีการจัดการผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ทางทีมงานได้อบรมครูและนักเรียนให้รู้จักการแยกขยะ และการจัดการขยะอย่างถูกวิธี พร้อมจัดวางถังแยกขยะไว้ครบถ้วนภายในบริเวณโรงเรียน

            โชคดีที่ครูสนใจเรื่องการส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ภัทราทิพย์เล่าว่า ผู้ที่มาพักสามารถรับประทานผักและไข่ไก่สดๆ ที่ปลอดสารพิษ ที่นี่ยังมีการเปิดสหกรณ์เป็ด ไก่ หมู และไส้เดือนให้นักเรียนมีส่วนร่วมด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น เด็กนักเรียนนำไก่กลับบ้าน 3 ตัว เพื่อไปเพาะเลี้ยง อีก 5 เดือนต่อมา เด็กต้องนำลูกเจี๊ยบกลับมาคืนสหกรณ์ 5 ตัว เป็นการหมุนเวียน ได้สัตว์เพิ่มขึ้น ในโรงเรียนยังมีบ่อเลี้ยงกบ ที่จะแจกให้เด็กนักเรียนและชาวบ้านไปทำอาหารได้สม่ำเสมอตลอดปีอีกด้วย

            ที่ช่วงปีที่ผ่านมา ภัทราทิพย์ได้ทำงานร่วมกับคุณครูในทุกขั้นตอน และสองฝ่ายมองตรงกันว่า หากมีใครสนใจจะมาร่วมโครงการแม่วางสคูลสเตย์ ก็จะเป็นประโยชน์แก่โรงเรียนและเด็กนักเรียน โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ นักเดินทางที่มองหาที่พักเรียบง่าย ราคาประหยัด ท่ามกลางนาข้าวเขียวขจีและขุนเขาสลับซับซ้อน

            กลุ่มที่สองคือ อาสาสมัคร ซึ่งต้องการสละเวลาบางส่วนช่วยทำงานพัฒนาโรงเรียน งานเกษตร และกิจกรรมศิลปหัตถกรรมซึ่งนำรายได้เข้าช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มสุดท้ายคือ นักศึกษาที่ต้องการมาฝึกงานในระยะยาว โดยมาทำงานช่วยสอนหนังสือ พัฒนาโรงเรียน งานเกษตร และอื่นๆ ที่ช่วยพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งสร้างสมประสบการณ์ชีวิตของตนเอง โดยจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากโรงเรียนสโมสรไลออนส์รัตนโกสินทร์

            “เรามุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครมากกว่าคาดหวังในเชิงธุรกิจ สิ่งสำคัญคือ  ต้องการให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะวิชาชีพ รู้จักฝึกพูดภาษาอังกฤษ เข้าใจการบริหารจัดการบ้าง เชื่อว่าโครงการนี้จะเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการเรียนรู้แก่เด็ก ยิ่งหากมีคนมาพักหรือมาช่วยงานอาสาสมัคร รายได้จากตรงนี้ก็จะได้นำมาทำประโยชน์ให้แก่โรงเรียนต่อไปในระยะยาว"

            โครงการแม่วางสคูลสเตย์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 19 ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เส้นทางเข้าสู่โรงเรียนจะเป็นถนนลาดชันระยะทาง 8 กม. แยกจากถนนสาย 1013 อันเป็นถนนเส้นที่ตัดจาก อ.สันป่าตอง ผ่าน อ.แม่วาง ลัดเลาะเลียบผ่านโครงการหลวงแม่สะป๊อกสู่ยอดดอยอินทนนท์

            ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.maewangschoolstay.com หรือ www.facebook.com/maewangschoolstay

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ