Lifestyle

รู้เท่าทัน!?!ไข้เลือดออกเดงกี(Dengue)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้เท่าทัน!?!ไข้เลือดออกเดงกี(Dengue) : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

             จากกรณีนักแสดงชื่อดัง "ปอ” ทฤษฎี สหวงษ์  ล้มป่วยด้วยภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคไข้เลือดออก ทำให้สังคมไทยเกิดการตื่นตัวมากขึ้นกับการระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก

             แม้ทีมแพทย์ที่ตรวจรักษาจะออกมายืนยันว่า อาการป่วยของนักแสดงหนุ่มเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออกทุกรายก็ตาม แต่เพื่อความไม่ประมาท เราควรจะรู้เท่าทันอันตรายของโรคไข้เลือดออกนี้กันอย่างถ่องแท้อีกครั้ง เพื่อระมัดระวังป้องกัน ไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้เลือดออกได้ในอนาคต

             “โรคไข้เลือดออก" เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสเดงกี มียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะยุงตัวเมีย ซึ่งกัดเวลากลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหาร จะกัดดูดเลือดผู้ป่วยเชื้อไวรัสเข้าสู่กระเพาะ สะสมในเซลล์ผนังกระเพาะจนเพิ่มจำนวนมากขึ้น เข้าสู่ต่อมน้ำลายและเข้าในร่างกายคนที่ถูกกัดเป็นรายต่อไป

             มีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนอื่นอีกก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนและผ่านระยะฟักตัวนาน 5-8 วัน หรือสั้นที่สุดจำนวน 3 วัน ยาวนานที่สุด 15 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้

             อาการของโรคจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล แต่โดยส่วนใหญ่ที่พบคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน เกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชัก

             มีเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก

             อาการตับโต กดเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำพบ ตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่มและกดเจ็บ ภาวะการไหลเวียนล้มเหลว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง โดยเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด ช่องท้อง เกิด hypovolemic shock

             ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับมีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง  สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด คือ อาการช็อก ที่ทำให้ภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลว นั่นเอง

             ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสาหรับเชื้อไข้เลือดออก การรักษาโรคนี้เป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง ซึ่งได้ผลดีถ้าให้การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลที่ดีตลอดระยะเวลาวิกฤตประมาณ 24-48 ชั่วโมงที่มีการรั่วของพลาสมา

             “นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินหายใจ รพ.วิชัยยุทธ บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงขณะนี้พบผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งคนสูงอายุ 90 ปีก็ยังเป็น นอนพักรักษาตัวนานหลายสัปดาห์ น่าเสียดายว่าประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ หากเมื่อไหร่ที่มีจะต้องแนะนำให้คนไทยฉีดควรฉีด เพราะโรคนี้ไม่มียารักษา ถ้าเป็นแล้วอาจเสียชีวิตได้

             “สำหรับกรณีของคนไข้รายนี้ (ปอ) เข้าขั้น severe dengue เดงกีขั้นรุนแรง มีทั้งการรั่วของพลาสมา ทำให้ความดันโลหิตต่ำ มีอาการช็อก (dengue shock syndrome) น่าจะมีน้ำรั่วออกมาในปอด และเยื่อหุ้มปอด ในช่องท้อง ทำให้ระบบหายใจล้มเหลว มีเลือดออกเนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำจากโรคเดงกีเอง และเลือดไม่แข็งตัว เนื่องจากการทำงานของตับล้มเหลว” นพ.มนูญ วิเคราะห์

             นพ.มนูญอธิบายว่า นอกจากนี้หัวใจและไตยังทำงานน้อยกว่าปกติ ซ้ำเติมทำให้ระบบหายใจยิ่งแย่ลง ไม่แน่ใจว่าสมองโดนด้วยหรือไม่ การรักษาต้องประคับประคอง ให้เครื่องช่วยหายใจ อาจต้องล้างไต ตับ ถึงแม้จะทำทุกอย่างก็อาจเสียชีวิตได้ เพราะไม่มียารักษาโดยตรง ปีนี้คนเป็นไข้เลือดออกกันเยอะมาก ต้องระวัง

             “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์ไข้เลือดออกในไทยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2558 พบผู้ป่วย 102,000 คน เสียชีวิต 102 คน เมื่อเทียบกับปี 2556 ซึ่งถือเป็นปีที่มีการระบาดของโรคไข้เลือกออกมากที่สุดในไทยมีผู้ป่วย 150,000 คน เสียชีวิต 150 คน นับว่าปีนี้ถือว่าระบาด แต่ไม่รุนแรง

             ขณะที่สถิติการเกิดโรคช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนปีนี้ มากกว่าปี 2557 ในช่วงเวลาเดียวกัน มีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 3,000-4,000 คนต่อสัปดาห์ จากช่วงที่มีการระบาดสูงสุดในเดือนสิงหาคม มีผู้ป่วยสูงถึง 7,000 คนต่อสัปดาห์

             “ที่น่าสังเกตคือ ปีนี้อากาศร้อนค่อนข้างมาก เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี บวกกับฝนตกๆ หยุดๆ ทำให้ลูกน้ำยุงลายมีปริมาณมาก และเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เมื่อมีฝนตกมากคนอยู่รวมกันหนาแน่น โอกาสที่จะแพร่ระบาดก็เพิ่มมากขึ้น” นพ.โอภาส อธิบาย

             โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ถ้าหากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย จาก 2 สาเหตุ คือ 1.ภาวะเลือดออกมาก 2.เลือดรั่วจากเส้นเลือดและเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิต โดยไวรัสเดงกีที่เป็นสาเหตุของไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งประเทศไทยมีการระบาดของ 4 สายพันธุ์วนเวียนกันไปแล้วแต่พื้นที่

             “นพ.โสภณ เมฆธน" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ไวรัสเดงกีในไทยยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ มีเพียง 4 สายพันธุ์เท่านั้น และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ไม่ให้ยุงกัด

             “นพ.อำนวย กาจีนะ” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด เบื่ออาหาร หน้าแดง มีจุดเลือดที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรง ซึ่งคนหนึ่งคนจะเป็นไข้เลือดออกได้ 4 ครั้ง แต่จะไม่ได้เกิดจากสายพันธุ์เดิม เนื่องจากร่างกายจะมีภูมิต้านทาน

             การป่วยไข้เลือดออกครั้งแรกจะไม่ค่อยรุนแรงมาก แต่หากเป็นครั้งที่ 2 จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เลือดออก และช็อกได้ ส่วนการวินิจฉัยโรค ในช่วงแรกจะแยกจากอาการไข้ทั่วไปค่อนข้างยาก ต้องเจาะเลือดตรวจ ซึ่งหากป่วยเพียง 1-2 วัน การเจาะเลือดตรวจอาจจะไม่พบเชื้อ ต้องใช้เวลา 3-4 วัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลด้วย

             การเจาะเลือดครั้งแรกจึงอาจไม่เจอเชื้อไข้เลือดออกก็ได้ ซึ่งการรักษายังไม่มียาเฉพาะ ต้องรักษาแบบประคับประคอง ส่วนวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนยา และจากการสำรวจคนไทยรู้จักไข้เลือดออกกว่า 80% แต่มีส่วนร่วมในการป้องกันโรค กำจัดลูกน้ำยุงลายเพียง 20% เท่านั้น

             ขณะเดียวกัน รพ.ศิริราชฯ ประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ถึงวิธีการป้องกันตนเองและระมัดระวังผู้ใกล้ชิดไม่ให้ถูกยุงลายกัด ด้วยการนอนในมุ้งหรือสถานที่ที่มีมุ้งลวดแน่นหนา สวมใส่เสื้อผ้าแขนยาว กางเกงขายาว  ใช้สารไล่ยุง (Mosquito Repellents) ที่ไม่เป็นอันตรายทาผิว หรือใช้ชุบเสื้อผ้า ใช้ชุบวัสดุปูพื้น

             ต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะแหล่งเพาะยุงลาย เช่น ปิดปากภาชนะเก็บน้ำด้วยผ้า ตาข่ายไนลอน อะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่นที่สามารถปิดปากภาชนะเก็บน้ำนั้นได้อย่างมิดชิด จนยุงไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปวางไข่ได้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ